นางวิไล มณีประสพโชค รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปรวมไปถึงผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ทั้งการว่างงาน การขาดรายได้ การเคหะแห่งชาติจึงจัดทำโครงการพัฒนาสินค้าชุมชนการเคหะแห่งชาติ “สร้างรายได้ สร้างชุมชน” ขึ้นมา เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาสินค้าชุมชนให้สามารถแข่งขัน เพิ่มช่องทางจำหน่าย เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมาย
“น่าสนใจ ซื้อซ้ำ บอกต่อ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สมาชิกชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์และพัฒนาสินค้า เกิดความสามัคคีไปในตัวด้วย โดยได้ดำเนินการอบรมนำร่องใน 11 ชุมชนแรก ประกอบด้วย โครงการเคหะชุมชนร่มเกล้า โซน 1, โครงการเคหะชุมชนรังสิต (คลอง 8), บ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม, บ้านเอื้ออาทรรัฐเอื้อราษฎร์ (กองทัพเรือ), บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (วัดกู้), บ้านเอื้ออาทรนนทบุรี (บางบัวทอง 2), บ้านเอื้ออาทรปทุมธานี (ลาดหลุมแก้ว 2), บ้านเอื้ออาทรสมุทรปราการ 1, บ้านเอื้ออาทรขอนแก่น (บ้านเป็ด), บ้านเอื้ออาทรราชบุรี (เจดีย์หัก) และบ้านเอื้ออาทรพิษณุโลก (วัดพริก) โดยกำหนดระยะดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 นี้”
ในแต่ละชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีการผลิตสินค้าอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาให้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางจำหน่ายมากขึ้น สินค้าบางชุมชนสามารถจำหน่ายในระดับจังหวัดได้แล้ว เราอยากขยายให้จำหน่ายได้ทั่วประเทศ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒจัดอบรม ทั้งวางแผนปรับปรุง พัฒนาสินค้า ตลอดจนจัดทำแผนธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สินค้าชุมชนสามารถสร้างรายได้ในขณะที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด”
ผศ.ดร.จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า หัวหน้าคณะวิทยากรอบรมจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในชั้นเริ่มต้นการอบรมจะเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับวิทยากรจากมหาวิทยาลัย เพื่อให้เข้าใจสภาพร่วมกัน เพื่อวางแผนร่วมต่อไปในการพัฒนาสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนช่องทางจำหน่าย เพื่อให้สินค้าตรงต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
“ชุมชนก็มีภูมิปัญญาในการผลิตสินค้า มีสินค้ามีคุณภาพที่มีศักยภาพจะพัฒนา เขาเองกระตือรือร้นตอบรับที่จะหารือปัญหาและวางแผนพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขี้น เป็นแนวโน้มที่ดีมาก”