xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์การค้า “งด-ลด” ค่าเช่า ช่วยเหลือร้านค้า-รายย่อยต่อชีวิตสู้ COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ค้าปลีกศูนย์การค้าใจป้ำ งัดมาตรการ “ทั้งงดทั้งลดค่าเช่า” ให้ร้านค้าลูกห้อง พร้อมเปิดพื้นที่ให้รายย่อยมาจำหน่ายสินค้าฟรี หลังเผชิญมรสุมโควิด-19 พ่นพิษใส่ หวังเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ว่าจะมีการปลดล็อกให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ เปิดบริการได้แล้วก็ตามอย่างน้อยเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม แต่ก็ยังคงต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการเปิดบริการเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 อีกรอบ หลังจากที่ปิดบริการไปเกือบ 2 เดือนส่งผลให้บรรดาร้านค้า ห้องเช่าต่างๆ ในศูนย์ได้รับผลกระทบ ต้องปิดธุรกิจ ไม่มีรายได้ ซึ่งทำให้ทางศูนย์การค้าในฐานะเจ้าของพื้นที่ต้องออกมาตรการมาช่วยเหลืออย่างเต็มที่

โดยเฉพาะมาตรการการยกเว้นค่าเช่า หรือการให้ส่วนลด หรือการหาทางช่วยในการหาพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าแบบไม่คิดค่าเช่าที่ ซึ่งหลายศูนย์การค้า หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ทำศูนย์การค้าโดยตรง ก็ยังนำเอาพื้นที่ของตัวเองมาเปิดเป็นตลาดนัดให้ผู้ประกอบการรายย่อยมาจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะรายย่อยก็ประสบปัญหาไม่แพ้รายใหญ่ อีกทั้งพนักงานบริษัทก็ถูกเลิกจ้างก็มี จึงต้องหาพื้นที่ขายสินค้าทดแทนชั่วคราว

ข้อมูลของกรมการจัดหางานระบุว่า ช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมามีผู้มาขอขึ้นทะเบียนใช้สิทธิว่างงานผ่านระบบออนไลน์มากถึง 267,351 ราย เพิ่มขึ้นถึง 84.56% จากช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวระบุด้วยว่าผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นผู้ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19


*** เอ็มบีเคเซ็นเตอร์
นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ได้มีความช่วยเหลือบรรดาร้านค้าอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดก็มีการออกมาตรการมาช่วยเหลืออีกครั้ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก และเราไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อขนาดไหน ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้

ล่าสุดออกมาตรการดังนี้
1. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะสั้น แบ่งเป็น ผู้ประกอบการร้านค้าที่ดำเนินธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มอบส่วนลดเป็นสัดส่วนเรียงตามลำดับ ดังนี้ ส่วนลด 70% ในเดือนมิถุนายน 60% ในเดือนกรกฎาคม และ 50% ในเดือนสิงหาคม ผู้ประกอบการร้านค้าประเภทอื่นๆ ให้ส่วนลดค่าเช่า 30% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2563

2. สำหรับผู้เช่าสัญญาระยะยาวมอบส่วนลดค่าเช่าและค่าบริการ 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม 2563)

3. ร้านค้าที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนประเภทสินค้าสามารถแจ้งเอ็ม บี เค เพื่อให้พิจารณาได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ของเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี (SME) และบริษัทยังคงให้ความสำคัญเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการคนไทยได้สร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองและมีช่องทางจำหน่ายสินค้า โดยเห็นใจและเข้าใจร้านค้าที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวและต้องการปรับตัวสามารถแจ้งความประสงค์ในการเปลี่ยนประเภทสินค้าได้

4. เปิดพื้นที่ลานโปรโมชันฟรี 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-1 สิงหาคม 2563 ให้ร้านค้าในศูนย์การค้าฯ สลับกันนำสินค้ามาจำหน่ายในราคาพิเศษ เพื่อสร้างบรรยากาศคึกคักในการจับจ่าย

“เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ก็มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าเช่า พนักงานที่ต้องดูแล แต่เราก็เห็นใจและเข้าใจความยากลำบากของร้านค้า เราต้องยืนอยู่ให้ได้ และถ้าร้านค้ารายใดไม่ไหวก็ยินดีให้เข้ามาคุยกัน ตอนนี้เราต้องปรับตัว ที่ผ่านมาเอ็มบีเคก็ปรับตัวมาตลอด มีการเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ และบริการที่เข้าถึงลูกค้าคนไทยมากขึ้น” นายสุเวทย์กล่าว


*** ยูเนี่ยนมอลล์
ทางด้านศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ โดยบริษัท สยามจตุจักร จำกัด ก็ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการจัดทำ “โครงการต่อสัญญาล่วงหน้า” เพื่อมอบส่วนลดค่าเช่าให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมสูงสุดถึง 50% โดยมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 จนกระทั่งประสบภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563 ทางศูนย์การค้าฯ ยังมอบส่วนลดให้แก่ผู้ประกอบการทุกรายเพิ่มอีก 10% และระหว่างวันที่ 22 มีนาคม-16 พฤษภาคม 2563 ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ศูนย์การค้าฯ ปิดให้บริการ ศูนย์การค้าฯ ได้งดเก็บค่าเช่าค่าบริการแบบ 100% ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 และในเดือนมิถุนายนนี้ ศูนย์การค้าฯ ได้มอบส่วนลดเพิ่มเติมจากเดิมที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่แล้วอีก 30% รวมแล้วผู้ประกอบการได้รับส่วนลดสูงสุด 50%

นอกจากนั้นยังจัดตั้งโครงการ “UM CLINIC (ยูเอ็ม คลินิก)” ขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา และมีการพัฒนาต่อเนื่องในรูปแบบโครงการระยะยาว เพื่อเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรายย่อย

โดยแบ่งความช่วยเหลือออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ศูนย์รวมองค์ความรู้การทำธุรกิจและการตลาด, ศูนย์กลางด้านความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และต่างชาติ และศูนย์กลางด้านการช่วยเหลือปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการทางการเงิน เป็นต้น

รวมไปถึงการเปิดโครงการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่โซนต่างๆ โครงการ UM Live ที่ช่วยเพิ่มความสนุกในการชอปปิ้งทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเชื่อมโยงลูกค้านักชอปให้เข้าถึงผู้ประกอบการร้านค้า สินค้าและบริการของศูนย์การค้าฯ ได้ง่ายขึ้น และตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงบนมาตรฐานการชอปปิ้งและใช้ชีวิตของสังคมแบบ New Normal (ความปกติใหม่)

“การมอบส่วนลดค่าเช่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรายย่อยลงไปได้บ้าง แต่ก็มิใช่หนทางสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ผู้บริหารของศูนย์การค้าฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยในเชิงรุกให้ดีที่สุด” ศูนย์การค้ายูเนี่ยนมอลล์ระบุ และนี่คือที่มาของมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่เสริมขึ้นมาดังที่กล่าวไว้


*** สยามพิวรรธน์
นางสาวชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลสะเทือนต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบ ในส่วนของศูนย์การค้าเองก็เช่นกัน เพราะต้องปิดบริการนานเกือบ 2 เดือน ขณะที่ร้านค้าต่างๆ ก็ไม่มีรายได้ในช่วงดังกล่าว ทางบริษัทฯ จึงได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือร้านค้าห้องเช่าต่างๆ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีโอกาสในการค้าขายเพื่อลดภาระต่างๆ ด้วย

โดยได้จัดแคมเปญ “I Love Siam-Smile Together” เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงานและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 4 โครงการหลัก คือ

1. ตลาดนัดยิ้มสยาม โดยเปิดพื้นที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ และทรูไอคอน ฮอลล์ รวม 10,000 ตารางเมตร จัดกิจกรรม ‘ตลาดนัดยิ้มสยาม’ ร่วมกับพันธมิตร ให้พนักงานและผู้ประกอบการจากทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มาจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ วันที่ 24-28 มิถุนายน 2563 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ และวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2563 ณ ทรูไอคอน ฮอลล์ l (วันและเวลาอาจเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล)

2. Siam Smile Space : เปิดพื้นที่ทำงานให้ทุกคนในรูปแบบ co-working space บนพื้นที่ของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม ฟรีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย Wi-Fi และอุปกรณ์ไฟฟ้า พร้อมมาตรการดูแลสุขอนามัยขั้นสูงสุดเริ่มเดือนมิถุนายน 2563

3. โครงการฟื้นใจไทย โดยการเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เปิดเมืองสุขสยาม ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563 รองรับ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบุคคลทั่วไปหรือนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน อัตลักษณ์ไทยจาก 77 จังหวัด และกลุ่มเกษตรกรผลไม้คุณภาพจากสวนดัง และเกษตรกรไทยดีเด่น แบ่งจำหน่ายรอบละ 7-10 วัน หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันใน 3 พื้นที่ คือ บริเวณธนบุรีดีไลท์, ลานเมือง 1 และลานเมือง 2 จัดตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ชั้น G

4. ไทยช่วยไทย ยิ้มไปด้วยกัน สยามพิวรรธน์ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรม ‘ไทยช่วยไทย ยิ้มไปด้วยกัน’ รวบรวมมหกรรมผลไม้ 5 ภาค และของใช้อุปโภคบริโภคซึ่งเป็นของดีประจำจังหวัด ส่งตรงจากชาวสวน และผู้ผลิตจากทั่วประเทศไทย มาจำหน่ายบนพื้นที่ของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ณ ลานพาร์คพารากอน สยามพารากอน


*** เทสโก้โลตัส
นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด กล่าวว่า เทสโก้โลตัสมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความยากลำบากจากปัญหาโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องค่าเช่า

“ประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม เทสโก้ โลตัส จะเดินหน้าช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ ให้สามารถฟื้นตัวได้พร้อมๆ กัน ทั้งเพื่อนพนักงาน ลูกค้า และประชาชน คู่ค้าและผู้เช่าพื้นที่ เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบ”

ทั้งนี้ สรุปมาตรการที่ช่วยเหลือ คือ 1. การยกเว้นหรือลดค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐให้ปิดบริการชั่วคราว, 2. การเปิดพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าฟรีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้

3. การรับพนักงานร้านค้าเช่าที่ปิดให้บริการเข้าเป็นพนักงานชั่วคราว, 4. การเพิ่มปริมาณการรับซื้อสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ตามฤดูกาลเพิ่ม 50% จากปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรกร

นายสมพงษ์เปิดเผยด้วยว่า จากผลการสำรวจความกังวลของประชาชนโดย Mintel ในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า 3 ปัจจัยที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด คือ 1. ค่าครองชีพที่สูง (57%) 2. สุขภาพ (55%) และ 3. อาชีพ (42%) ซึ่งมั่นใจว่าการออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งการให้ใช้พื้นที่ฟรีจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้


*** เมกาบางนา
นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เมกาบางนา กล่าวว่า เมกาบางนาเห็นความเดือดร้อนของลูกห้อง จึงต้องช่วยเหลือหลายส่วน เช่น ในส่วนของค่าเช่าร้านค้า นอกเหนือจากการร่วมกันทำตลาด การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเมกาบางนา การทำกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือด้านค่าเช่านั้นจะเป็นการลดอัตราค่าเช่าให้ร้านค้าซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเท่าใด เพราะจะมีความแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี โดยเราพิจารณาจากยอดขายของร้านค้าเช่าเป็นหลัก ซึ่งหากร้านใดเริ่มขายดีแล้วก็จะลดให้อัตราหนึ่ง ถ้าขายยังไม่ค่อยดีก็จะลดให้อีกอัตราหนึ่ง


*** เซ็นทรัลพัฒนา
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการช่วยผลักดัน ‘เศรษฐกิจชุมชน’ และสร้างรายได้ให้เกษตรกร และธุรกิจ SMEs รวมถึงพนักงานต่างๆ เซ็นทรัลพัฒนาจะเปิดพื้นที่ให้แก่เกษตรกร หรือธุรกิจ SMEs นำสินค้ามาค้าขายได้ฟรี โดยมีพื้นที่ 30,000-40,000 ตร.ม.ในศูนย์การค้าทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ ในระยะเวลา 3-6 เดือน และช่วยเหลือในการโปรโมตจำหน่ายสินค้าทาง online platform ต่างๆ

อีกทั้งยังมีมาตรการสำหรับคู่ค้าร้านค้าที่เรามีกว่า 15,000 ราย และมีการจ้างงานกว่า 100,000 คน โดยเราก็พยายามช่วยธุรกิจต่างๆ อย่างเต็มที่ ด้วยการขยายโอกาสในการขายช่องทางต่างๆ และช่วยยกเว้นหรือลดค่าเช่ามาตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตมาในเดือนกุมภาพันธ์ และจะให้ส่วนลดต่อเนื่องหลังจากศูนย์ฯ เปิดให้บริการใหม่ไปอีกประมาณ 3-6 เดือน โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือให้ฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้อีกด้วย


ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่ดีขึ้นตามลำดับ และภาครัฐได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ในหลายธุรกิจ ขณะนี้เพื่อช่วยให้ประเทศและเศรษฐกิจเดินหน้าอีกครั้ง กลุ่มเซ็นทรัล นำโดยเซ็นทรัลพัฒนา จึงได้แสดงพลัง Synergy ของธุรกิจในเครือ และร่วมกับพาร์ตเนอร์เชิญชวนคนไทยให้มา ‘ช้อปด้วยใจ ไทยช่วยกัน’ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังให้กระเตื้องขึ้น เน้นชูพลัง ‘ไทยอุดหนุนไทย’ แสดงศักยภาพของผู้ประกอบการ และภาคการผลิตของไทยที่มีคุณภาพ และพลังของผู้บริโภคที่เชื่อว่ายังมีกำลังซื้ออยู่มาก ซึ่งถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันวงล้อเศรษฐกิจไทยจะสามารถเคลื่อนตัวไปได้อีกครั้ง ผ่านกลยุทธ์และกิจกรรมการตลาดหลากหลาย

หนึ่งในนั้นคือ Strengthen Localized Economy : นำจุดแข็งของศูนย์การค้าเซ็นทรัลที่มีอยู่ 33 สาขาทั่วประเทศ และเป็นศูนย์กลางของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่าย และระบายสินค้าให้แก่เกษตรกร, SMEs และประชาชนที่ว่างงาน ภายใต้ 'งานตลาดรวมใจ คนไทยช่วยชาติ' ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 มิ.ย. 63 นำผลไม้เกรดพรีเมียมส่งออกและสินค้าแปรรูปมาจำหน่ายในราคาย่อมเยา โดยได้เปิดพื้นที่ให้ฟรี ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ และเซ็นทรัลเวิลด์

นอกจากนี้ยังส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่กับงาน ‘U Market Place’ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ก.ค. 63 ที่รวบรวมสินค้าและบริการหลากหลายของคอมมูนิตีศิษย์เก่าและนักศึกษาสถาบันต่างๆ จาก Online สู่ On-Ground Market ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2, เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3, เซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า และเซ็นทรัลพลาซา ศาลายา


*** “ตัน ภาสกรนที” จัด ศอช.๒
นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้จัดงานศูนย์อำนวยพื้นที่ในการชอปปิ้ง ครั้งที่ 2 หรือ ศอช.๒ ขึ้น ในรูปแบบ New Normal ของการเดินตลาดนัด ชอปปิ้งให้อิ่มใจได้บุญอีกครั้ง หลังจากที่เคยจัด ศอช. ครั้งแรกในปี 2553 ร่วมกับ อุดม แต้พานิช โดยครั้งนี้เปิด 3 พื้นที่ตลาดนัดให้ผู้ประสบภัยทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ได้ขายของกันฟรีๆ บนพื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ จาก 3 ตลาดนัด ใน 3 จังหวัด

ประกอบด้วย 1. ตลาดนัด ศอช.๒ ทองหล่อ (อารีน่า 10) กรุงเทพฯ จำนวน 400 บูท บนพื้นที่ 8 ไร่, 2. ตลาดนัด ศอช.๒ วันนิมมาน เชียงใหม่ จำนวน 600 บูท บนพื้นที่ 10 ไร่ และ 3. ตลาดนัด ศอช.๒ นินจาอมตะ ชลบุรี จำนวน 2,000 บูท บนพื้นที่ 80 ไร่ รวมกว่า 3,000 บูท โดยงาน ศอช.๒ จะเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 5-28 มิ.ย.นี้ ทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น.

“งาน ศอช.๒ ครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมออกบูทไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย ซึ่งมาจากทุกอาชีพที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะถูกนำมาขายในงานมากสุด ได้แก่ จักรยาน, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์ และคอนโดมิเนียม เป็นต้น หรือตลอดการจัดงานครั้งนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท” นายตันกล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น