ผู้จัดการรายวัน 360 - LINE แนะนำแนวทางภาคธุรกิจปรับตัวรับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยแนวคิดแบบ Growth Mindset ที่ไม่มองว่าอุปสรรคคือปัญหาแต่คือโอกาสในการค้นหาและพัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า เพื่อสามารถปรับตัวให้ก้าวทันและรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ LINE ประเทศไทย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล กล่าวว่า ผลประกอบการของไลน์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 และที่กำลังจะจบไตรมาสที่ 2 นี้ถือว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งในแต่ละปีไลน์จะตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของรายได้ของไลน์ หลักๆ ยังคงมาจาก 1. การขายโฆษณา ซึ่งรวมถึงรายได้จากทาง LINE Official Account ด้วย รองลงมาคือ กลุ่มขายผลิตภัณฑ์ผ่านไลน์แอxพลิเคชัน เช่น ไลน์สติกเกอร์ ล่าสุดคือ เมโลดี
นอกจากนั้นแล้ว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทางไลน์เองก็มีแผนที่จะเปิดตัวโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันหรือบริการใหม่ๆ เข้ามาตอบสนองและรองรับกับวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัลอีกมากมาย
นายนรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับ LINE ได้ประยุกต์ใช้แนวคิด Growth Mindset ในการปรับเปลี่ยนองค์กรให้สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 รวมถึงทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่ตอบสนองทุกความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอฟีเจอร์และเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการออนไลน์
เช่น ฟีเจอร์ Watch Together สำหรับ LINE Group Call สามารถแชร์หน้าจอหรือดูวิดีโอพร้อมกันระหว่าง LINE Call การปรับปรุง LINE Desktop Version สำหรับผู้ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ MyShop เครื่องมือช่วยส่งเสริมการขายบน LINE Official Account ที่เพียบพร้อมด้วยฟีเจอร์สำหรับปิดการขาย จนสามารถเพิ่มยอดผู้ใช้ LINE OA ถึง 4 ล้านแอคเคาท์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
สำหรับ MyShop ได้เปิดตัวเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ปัจจุบันมีร้านค้าที่เปิดจำหน่ายบน MyShop แล้วมากกว่า 10,000 ราย ซึ่งเติบโตมากถึง 10 เท่า จากช่วงเปิดบริการมีประมาณ 1,000 กว่าราย โดยบริษัทยังคงเปิดให้ใช้งานฟรี แต่ในระยะยาวมีแผนที่จะหารายได้ในการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากขึ้น แต่อะไรที่เป็นบริการพื้นฐานก็จะให้ใช้ฟรี
ในส่วนของ LINE SHOPPING แพลตฟอร์มรวบรวมแหล่งชอปออนไลน์ ทั้งมาร์เกตเพลซชั้นนำและร้านค้าโซเชียลชื่อดังมาไว้ในที่เดียว โดยจะเป็นคนละบริการกับ LINE Official Account มียอดสถิติการใช้งานที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1) ช่วงเวลาที่คนเข้าใช้งานสูงสุดคือ 11.00-13.00 น., 2) สินค้าที่มีคนซื้อผ่าน LINE SHOPPING สูง 5 ประเภทในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ที่ผ่านมา คือ อันดับ 1: Household Products อันดับ 2: Health & Beauty อันดับ 3: Mobiles & Accessories อันดับ 4: Fashion และอันดับ 5: Sports, Pets, Out Door Activities, and Collectibles, 3) ค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่อบิล เฉลี่ย 1,500 บาทต่อบิล (ในช่วง มี.ค.-เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา)
4) ค่าใช้จ่ายในการใช้ช่องทาง LINE SHOPPING ของแบรนด์ ซึ่งแบรนด์สามารถเข้าร่วมการขายสินค้าผ่าน LINE SHOPPING ได้หลากหลายช่องทาง โดยมีรูปแบบค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป เช่น หากเป็นร้านค้าที่มี LINE OA และใช้ MyShop อย่างต่อเนื่อง และมีระบบการขาย รูปแบบสินค้าที่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทางทีมงาน LINE SHOPPING สามารถคัดเลือกแบรนด์มาขึ้น LINE SHOPPING ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหากแบรนด์มีเว็บไซด์ของตนเอง สามารถเชื่อมต่อ API เพื่อนำร้านค้าขึ้นใน LINE SHOPPING ได้ผ่าน Priceza (พาร์ทเนอร์ของ LINE SHOPPING) ได้โดยมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
นายนรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของจำนวนยอดขายหรือการเติบโตของร้านค้าที่เปิด LINE OA และใช้เครื่องมือ MyShop จะไม่สามารถเผยยอดขายของร้านค้าได้ แต่ในแง่ภาพรวมการเติบโตของร้านค้าที่ใช้เครื่องมือ MyShop มีดังนี้ ยอดการเติบโตของจำนวนร้านค้าที่ใช้ MyShop (No. of Shops Growth Rate) = 180% (ณ เดือน เม.ย. เติบโตจากต้นปีคือเดือน ม.ค. 2563) โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าบน LINE OA ที่ใช้เครื่องมือ MyShop นี้อยู่เป็นหลักหมื่น จากช่วงแรกๆ ที่มีเพียงหลักร้อย หลักพันเท่านั้น และอัตราการเติบโตของมูลค่าสินค้ารวม (GMV Growth Rate) = 250% (ณ เดือน เม.ย. เติบโตจากต้นปีคือเดือน ม.ค. 2563)
นายนรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า “โควิค-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในวงกว้าง และบังคับให้ทุกคนต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ทั้งหมด ตัวอย่างใกล้ตัวที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการที่ผู้คนต้องทำงานจากบ้านหรือ Work from Home ซึ่งเมื่อต้องทำงานโดยไม่เจอหน้าเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า พนักงานภายในองค์กรจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นจากที่บ้าน หรือการปิดตัวของหลายบริษัทและโรงงานตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจให้สอดรับกับ New Normal ที่เกิดขึ้นได้
แต่ก็มีหลายบริษัทที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาสินค้าหรือบริการรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนหรือองค์กรที่อยู่รอดต่างประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ Growth Mindset”
โดย LINE ได้เสนอกลยุทธ์สำคัญ 3 ประการภายใต้แนวคิด Growth Mindset ได้แก่
1)การตั้งเป้าหมายแบบก้าวกระโดด (Leapfrog Goal Set) ทำงานภายใต้เวลาเท่าเดิมด้วยความท้าทายที่มากขึ้น ตั้งเป้าหมายสูงขึ้นเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้พนักงานสามารถคิดนอกกรอบ สร้างการเติบโตและกระตุ้นให้เกิดการ “คิดใหม่ ทำใหม่”
2)สนับสนุนให้กำลังใจและมอบความเชื่อใจ (Empower & Trust) การตั้ง KPI เพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานระหว่างช่วง WFH เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรสนับสนุนให้กำลังและมอบความเชื่อใจแก่พนักงาน ให้เกิดสมดุลในการทำงานหรือ Work-life Balance เพื่อป้องกันความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน อาจจัดให้มีกิจกรรมให้คำปรึกษาความเครียด หรือกิจกรรมออกกำลังกายออนไลน์จากบ้าน นำไปสู่การทำงานที่สร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3)สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง (Extreme Ownership) สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรแก่พนักงาน โดยความรู้สึกนี้จะผลักดันให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายอย่างยิ่งยวด ตลอดจนพนักงานทุกคนจะคอยช่วยเหลือและทำงานร่วมกัน เพื่อนำองค์กรก้าวไปข้างหน้าภายใต้เป้าหมายเดียวกัน
นอกจากนี้ การใช้แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีให้เหมาะสมเพื่อต่อยอดแนวคิด Growth Mindset ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ จะเห็นได้ว่าหลากหลายองค์กร ได้มีการปรับตัวโดยใช้ LINE เป็นช่องทาง New Normal ในการทำธุรกิจออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Growth Mindset ได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างกลุ่มธุรกิจที่เห็นได้ชัด เช่น กลุ่มแบรนด์สินค้าหรูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงรถยนต์อย่างเปอโยต์ ประเทศไทยที่เปิดบริการซื้อขายรถ ทำการนัดหมายนำรถทดลองขับถึงบ้านด้วยการใช้ LINE OA ร่วมกับเครื่องมือใหม่อย่าง MyShop รวมไปถึงแวดวงการค้าปลีก แวดวงแฟชั่น และเครื่องสำอางค์อีกมากมายที่ต่างทยอยตบเท้าเข้าสู่โลกออนไลน์ด้วยการเปิด LINE OA และใช้เครื่องมือ MyShop เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับในภาคการเกษตรกับแพลตฟอร์มอย่าง ‘Find Food’ ที่ช่วยให้เกษตรไทยสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการขยายช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัลแบบเต็มตัว ผ่านการใช้ LINE Official Account ร่วมกับ MyShop มาช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในท้องที่ต่างๆ ให้เกษตรกรสามารถขายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตัวจริงได้โดยตรง
ล่าสุดกับโครงการ FINDFOOD ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรไทย ทำงานร่วมกับชุมชนในการช่วยกระจายสินค้า ขยายช่องทางธุรกิจสู่การเกษตรดิจิทัลแบบเต็มตัว โดยเลือกใช้ LINE OA พร้อมเครื่องมือ MyShop มาช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและชุมชนในท้องที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาการกระจายสินค้าจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเคสที่น่าสนใจ เช่น ตงศิริฟาร์ม (@tongsirifarm) ที่เป็นฟาร์มเกษตรผสมผสานตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อ.สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี โดยเปิดให้บริการ Farm to Door คือบริการจัดส่งผลผลิตปลอดสารพิษสดจากฟาร์มถึงหน้าบ้านคุณ ที่ได้มีการใช้ LINE OA พร้อมเครื่องมือ MyShop เป็นช่องทางการขายออนไลน์ ในการกระจายผลผลิตดีๆ ปลอดสารพิษ ไม่ว่าจะเป็น ไข่ไก่สด, ข้าวขาว, ข้าวกล้องหอมมะลิ, มูลไส้เดือน ฯลฯ จากฟาร์มถึงหน้าบ้านลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกสินค้าและวิธีจัดส่งได้ด้วยตนเอง จนแบรนด์กลายเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลของ RAKUTEN INSIGHT ระบุว่า คนไทยเชื่อถือข้อมูลจากการสื่อสารผ่านแชทมากกว่าโซเชียลมีเดีย โดยผ่านทางมือถือ 77% ผ่านทางเมสเซนเจอร์แอพพลิเคชั่น 65% และผ่านทางโซเชียลมีเดีย 45%
“วิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาคธุรกิจไทยต้องกลับมาคิดวางแผนโครงสร้างธุรกิจกันใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจจะไม่มีความหมาย หากคุณไม่เริ่มต้นด้วยการมี Mindset ที่ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งการนำแนวคิดแบบ Growth Mindset มาประยุกต์ใช้บนแพลตฟอร์มที่เหมาะสมด้วยเครื่องมือที่ถูกต้องคือกุญแจสู่การปรับตัวสู่ยุค New Normal หรือความปกติใหม่ได้อย่างแท้จริง” นายนรสิทธิ์ กล่าวสรุป