ผู้จัดการรายวัน 360 - ลอรีอัลปรับแผนสู้ฝ่าโควิด-19 หวังดันตลาดความงามไทยกว่า 2.18 แสนล้านบาทไม่ให้ตกมาก คาดปีนี้ตลาดรวมทรงตัว ชี้เป็นปีที่ท้าทายวงการอย่างมาก พร้อมงัด 4 กลยุทธ์หลักทำตลาด เผยเทรนด์ตลาดครึ่งปีหลัง
นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปี 2563 นี้คาดว่าตลาดรวมความงามในประเทศไทยจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก รวมไปถึงกำลังซื้อที่ไม่ค่อยดีจากภาวะเศรษฐกิจ และที่สำคัญการก้าวเข้าสู่นิวนอร์มัลซึ่งพฤติกรรมคนขณะนี้จะต้องสวมหน้ากากอนามัยที่จะมีผลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ความงามด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังพบว่าตลาดรวมความงามในเอเชียแปซิฟิกยังเติบโตดีกว่าตลาดในภาคพื้นอื่นทั่วโลก
การทำตลาดในปีนี้ถือได้ว่ามีความท้าทายอย่างมาก เราไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะจบลงเมื่อไร เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยก็มีผลกระทบต่อเราเช่นกัน เพราะว่าเมื่อก่อนคนใช้เมกอัพมากโตเร็วมาก แต่พอเรามาใส่หน้ากากอนามัยบางคนก็จะแต่งหน้าน้อยลง แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าตลาดความงามยังมีโอกาสเหมือนเดิม โดยที่ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ลอรีอัลมีผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดในประเทศไทยมากกว่า 22 แบรนด์ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มเป้าหมาย ระดับราคา และช่องทางในการทำตลาดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสินค้า จึงทำให้เราสามารถยืดหยุ่นกับภาวการณ์ได้เป็นอย่างดี ช่วงที่เกิดโควิด เราก็ยังมีความเคลื่อนไหวด้านการตลาด กิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ และยังมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีกำลังซื้อสินค้าเมกอัพที่ดีมากกว่าในอาเซียน คือประมาณ 3,000 บาทต่อคน
“เหตุการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้การทำตลาดและการโฟกัสสินค้าก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย เช่น ช่วงก่อนเกิดโควิด การใช้สกินแคร์ของผู้บริโภคจะละเอียดมีความซับซ้อนมากและมีความเป็นลักชัวรีมาก เมกอัพก็ยังใช้ รองพื้นก็ใช้ แต่พอช่วงที่เกิดโควิด พบว่าสินค้าพวกดูแลเส้นผมจะเติบโตดี รวมทั้งสินค้าสุขอนามัยด้วย กลุ่มเติบโตดีอีกเช่นโฟมล้างหน้า คลีนเซอร์ทำความสะอาด เป็นต้น แต่ช่วงหลังโควิด สินค้าหลักคือพวกสินค้าสุขภาพสุขอนามัยดูแลตัวเอง รวมทั้งสกินแคร์ก็จะใช้แต่เบาบางลงเพราะยังใส่หน้ากากอนมัยอยู่ ส่วนเมกอัพฟาวเดชันก็ยังมีความโดดเด่นอยู่ ลิปสติกก็ยังใช้แต่ทาบางลง เป็นต้น” นางอินเนสกล่าว
นางอินเนสกล่าวว่า ลอรีอัลได้เร่งปรับการดำเนินธุรกิจอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 และเดินหน้าตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน Beauty Tech ในประเทศไทย ดังนี้
1. พัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ที่ปรึกษาด้านความงาม (BA) : จัดคอร์สการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเพิ่มทักษะให้แก่ที่ปรึกษาด้านความงาม สนับสนุนที่ปรึกษาด้านความงามให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าผ่านหน้าโซเชียลมีเดียและช่องทางออนไลน์ และให้รับบทบาท e-BA เพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ที่ปรึกษาด้านความงามในช่วงที่ห้างสรรพสินค้าปิดบริการชั่วคราว ช่องทางอื่นเช่น call&shop chat&shop Social Commerce E-Boutique
2. การทำ E-Learning โดยมีโปรแกรม Learning Never Stops สำหรับพนักงาน : เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะของพนักงานผ่านหลักสูตรออนไลน์ในช่วงทำงานที่บ้านกับโครงการ Learning Never Stops ผ่าน My Learning ศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ของพนักงานลอรีอัล และจัด Live Webinar โดยมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า ด้วยจำนวนชั่วโมงการเรียนรู้เพิ่มสูงถึงเกือบ 11 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา
3. ผลักดันตลาดอีคอมเมิร์ซ ( E-Commerce) โดยร่วมมือกับพันธมิตรคู่ค้าด้านอีคอมเมิร์ซ ทั้ง Shopee Lazada และ Central Online จัดแคมเปญต่างๆ ให้ผู้บริโภคในช่วงที่ต้องอยู่ที่บ้าน และผลักดันช่องทางอีคอมเมิร์ซอื่นทุกช่องทาง อีกทั้งเร่งเสริมนวัตกรรม Beauty Tech เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการซื้อออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมยอดขายตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมดของบริษัทฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคมมีอัตราเติบโตสูงสามหลัก โดยเรามีสินค้าที่ทำอีคอมเมิร์ซจำนวน 17 แบรนด์ รวม 17 แพลตฟอร์ม
4. E-Service & Experience ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการแก่ลูกค้า เช่น โมดิเฟซ เป็นการทดลองสินค้าโดยที่ไม่ต้องจับสินค้า ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนเกิดโควิด จึงมีความพร้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นบริการที่ไปซื้อกิจการมาจากสตาร์ทอัพ และมีแนวโน้มว่าจากนี้ไปจะมีการซื้อสตาร์ทอัพเพิ่มอีก
ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ลอรีอัลจะยังคงเน้นหนักในการนำบิวตี้เทคมาใช้ต่อเนื่อง รวมทั้งการเน้นตลาดช่องทางแบบ o2o มากขึ้น เพราะตลาดออนไลน์มีการเติบโตดี และพฤติกรรมผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์เครือลอรีอัลที่ทำตลาดในไทยประกอบด้วย 1. แผนกผลิตภัณฑ์อุปโภค : ลอรีอัล ปารีส, การ์นิเย่, เมย์เบลลีน นิวยอร์ก และนิกซ์ โปรเฟสชั่นแนล เมคอัพ, 2. แผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง : ลังโคม, ไบโอเธิร์ม, จิออร์จิโอ อาร์มานี , ราล์ฟ ลอเรน, คาชาเรล, กี ลาโรช, คีลส์, ชู อูเอมูระ, วิคเตอร์ แอนด์ รอล์ฟ, ดีเซล, อีฟ แซงต์ โลร็องต์, เออเบิน ดีเคย์ และ อิท คอสเมติกส์, 3. แผนกผลิตภัณฑ์ช่างผมมืออาชีพ : ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล และเคเรสตาส และ 4. แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง : ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี
สำหรับตลาดรวมความงามในไทยปีที่แล้ว (2562) มีมูลค่ารวมประมาณ 2.18 แสนล้านบาท เติบโตมากกว่าปี 2561 ประมาณ 6.7% สรุปตัวเลขอุตสาหกรรมความงามปี 2562 (อ้างอิงข้อมูลจาก : Euromonitor, 2019 (ปี พ.ศ. 2562) แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) 42%, ผลิตภัณฑ์ผม (hair) 15%, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (makeup) 12%, ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (hygiene) 14%, น้ำหอม (fragrance) 5% และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (oral cosmetics) 12% ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดถึง 42% จากมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด โดยมีผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวถึง 81%
ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นกลุ่มจะพบว่าตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) เมื่อปี 2562 เติบโต 7.4% มูลค่ารวม 9.19 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 81%, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 12%, ผลิตภัณฑ์กันแดด 6% และผลิตภัณฑ์สำหรับริมฝีปาก 1%
ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (makeup) เมื่อปี 2562 เติบโต 7.6% มูลค่ารวม 2.68 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า 57%, เครื่องสำอางสำหรับริมฝีปาก 25%, เครื่องสำอางสำหรับดวงตา 17% และเครื่องสำอางสำหรับเล็บ 1%
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม (hair) ปี 2562 เติบโต 5.9% มูลค่ารวม 3.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 82%, ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม 13%, ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม 4% และผลิตภัณฑ์ยืด/ดัดผม 1%
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์น้ำหอม (fragrance) ปี 2562 เติบโต 6% มูลค่ารวม 9.55 พันล้านบาท
ด้านตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก (oral cosmetics) ปี 2562 เติบโต 8.7% มูลค่ารวม 2.56 หมื่นล้านบาท
ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย (hygiene) ปี 2562 เติบโต 3% มูลค่ารวม 3.1 หมื่นล้านบาท
นางอินเนสกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับทุกภาคธุรกิจ แต่การล็อกดาวน์ภายใต้สถานการณ์นี้ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะดำเนินธุรกิจช้าลง เพราะต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ในขณะที่การดูแลตัวเองด้วยผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและการดำเนินชีวิตประจำวันยังคงเป็นสองสิ่งจำเป็นที่มาคู่กันเสมอ ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมพร้อมความมุ่งมั่นกับพันธสัญญาด้านความยั่งยืนและการช่วยเหลือสังคม ลอรีอัล ประเทศไทยจึงดำเนินโครงการ L’Oréal Thailand COVID-19 Solidarity ขึ้น เพื่อปันน้ำใจช่วยเหลือในหลากหลายภาคส่วน ทั้งเพื่อให้การสนับสนุนและแสดงความขอบคุณในการอุทิศตนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในสถานการณ์ที่ผ่านมา
โครงการ L’Oréal Thailand COVID-19 Solidarity มีเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือหลายภาคส่วนในประเทศไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ดังนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์ : มอบชุดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและดูแลเส้นผมให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าจำนวน 130,000 คน ในโรงพยาบาล 28 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 24 แห่ง และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 4 แห่ง เพื่อแทนคำขอบคุณในความทุ่มเทและเสียสละในการช่วยเหลือประเทศชาติช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั้งหมดรวมมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท
2. ทุนพิเศษ โครงการลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ เพื่องานวิจัยโควิด-19 : มอบทุนวิจัยจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นักวิจัยสตรีที่ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับโควิด-19 ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ หรือสาขาเทคโนโลยี จำนวน 5 ทุน ทุนละ 200,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจในการค้นคว้างานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในการยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ของโครงการฯ ร่วมคัดเลือกและตัดสินในด้านขอบเขตของงานวิจัย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงโครงการทุนวิจัยฯ ประจำปี 2563 อยู่เช่นเคย
3. โครงการสนับสนุนเคียงข้างร้านเสริมสวย L’Oréal Thailand Salon Solidarity : เพื่อช่วยเหลือร้านตัดผม-เสริมสวย ทั้งร้านคู่ค้าและร้านเสริมสวยอื่นทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการห้ามเปิดกิจการ ด้วยการแนะแนวทางช่วยเหลือและให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเร่งปรับตัวและฟื้นธุรกิจหลังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้
4. กลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคม : มอบผลิตภัณฑ์ในเครือของลอรีอัล ประเทศไทย ให้แก่บุคคลที่ขาดโอกาสทางสังคมกว่า 100,000 คนในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดและดูแลผิวและเส้นผมเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในระดับโลก ลอรีอัล กรุ๊ปก็ได้จัดทำโครงการ L’Oréal for the Future เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนจำนวนกว่า 50 ล้านยูโรให้แก่องค์กรไม่แสวงผลกำไรและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการให้ทุนเพื่อพัฒนาโครงการที่มุ่งปฏิรูประบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายและป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยเงินทุน 100 ล้านยูโร สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจ ตอบโจทย์พันธสัญญาด้านความยั่งยืนในการส่งมอบ “ความงามสำหรับทุกสรรพสิ่ง” หรือ “Sharing Beauty For All”