กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือสถาบันพลาสติกรุกผลิตเฟซชิลด์ อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส-ละอองฝอย 3 รูปแบบ เพื่อ “แพทย์-อสม.-ประชาชนทั่วไป” รวม 3,500 ชิ้น ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมแนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ใช้กระบวนการฉีดขึ้นรูปเสริมศักยภาพการผลิต หลังพบกำลังผลิตสูง 1,200 ชิ้นต่อวัน
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.ได้ร่วมมือกับสถาบันพลาสติกออกแบบและผลิต “หน้ากากป้องกันใบหน้า” (Face Shield) อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสและละอองฝอย ใน 3 รูปแบบ เพื่อแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนทั่วไป จำนวน 3,500 ชิ้น และเตรียมส่งมอบผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการกระจายต่อไปเพื่อร่วมมือในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
สำหรับเฟซชิลด์เพื่อแพทย์ไทย (Medical Face Shield) หน้ากากที่ได้รับการออกแบบพิเศษที่มาพร้อมกลไกการปรับขึ้น-ลงของแผ่นใส สามารถปรับระยะการสวมใส่ให้พอดีกับศีรษะ และสวมใส่ได้อย่างรวดเร็วด้วยมือข้างเดียวเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ โดยผลิตจำนวน 1,500 ชิ้น
เฟซชิลด์เพื่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (Volunteer Face Shield) หน้ากากที่สามารถสวมใส่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มาพร้อมฟังก์ชันเปิดแผ่นใสขึ้นลง และเปลี่ยนแผ่นใส่ได้ง่าย ด้วยวิธี ‘กด-ดึง’ เพื่อรูดสายให้กระชับกับศีรษะ โดยผลิตจำนวนทั้งสิ้น 1,500 ชิ้น
เฟซชิลด์สำหรับประชาชนทั่วไป (People Face Shield) หน้ากากที่ได้รับการออกแบบพิเศษโดยประกอบเข้ากับแว่นตา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการพกพา ถอดประกอบ และสวมใส่ของประชาชน ที่รวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยผลิตจำนวน 500 ชิ้น โดย กสอ.ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างสถาบันพลาสติกและสถาบันไทย-เยอรมัน ในการพัฒนาต้นแบบแม่พิมพ์ด้วยกระบวนการฉีดขึ้นรูปพลาสติก ภายใต้โครงการ “ยกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0”
“ล่าสุดได้เตรียมจัดทำแม่พิมพ์ต้นแบบดังนี้ ‘กล่องวางหน้ากากอนามัย N95’ ด้วยกระบวนการฉีดขึ้นรูปพลาสติก ป้องกันการสัมผัสหน้ากากโดยตรง และ ‘ด้ามส่องหลอดลม’ อุปกรณ์ป้องกันการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งการฉีดขึ้นรูปพลาสติกในการทำหน้ากากป้องกันใบหน้า” (Face Shield) จะช่วยเพิ่มศักยภาพผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำลงเนื่องจากกระบวนการดังกล่าวสามารถผลิตได้สูงถึง 1,200 ชิ้นต่อวัน โดยมีต้นทุนเพียง 100 บาทต่อชิ้น ขณะที่ระบบ 3D Printing จะมีกำลังการผลิตที่ 30 ชิ้นต่อวัน และมีต้นทุนสูงถึง 250 บาทต่อชิ้น” อธิบดี กสอ.กล่าว
“นอกจากนี้ กสอ.ยังมีแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ดังกล่าวในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างถูกทางเพื่อปรับตัวสู่นิวนอร์มอล (New Normal) หรือความปกติแบบใหม่ การสนับสนุนการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และสร้างความยั่งยืนในอนาคต” นายณัฐพลกล่าวทิ้งท้าย