“ฤดูฝนปีนี้ดีกว่าปี 62 แน่นอน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปี 2563
สัญญาณดี ตั้งแต่ 1 มีนาคม-26 เมษายน 2563 มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และมีปริมาณตกหนักช่วงวันสงกรานต์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศกว่า 767 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย ภาคเหนือ 175 ล้าน ลบ.ม. ภาคอีสาน 110 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง 14 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 118 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 326 ล้านลูกบาศก์เมตร
“ช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 คาดว่าจะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 4,269 ล้าน ลบ.ม. กอนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานรับผิดชอบแหล่งน้ำทุกแห่ง เร่งแผนเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อสำรองไว้สำหรับฤดูแล้งปี 2563/2564 และพยายามให้เกิดความมั่นคงน้ำให้ได้”
สำหรับฤดูฝนปี 2563 ดร.สมเกียรติกล่าวว่า จะอยู่ราวๆ กลางเดือนพฤษภาคม ใกล้เคียงหรือเร็วกว่าปี 2562 การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนมีความสำคัญ หมายถึงการสะสมปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำที่จะใช้สำหรับฤดูแล้งปี 2563/2564 เพราะปกติในฤดูฝนสามารถใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ใช้น้ำมาก โดยกำหนดให้น้ำชลประทานเป็นน้ำเสริม (Supplimentary Irrigation) ในเวลาฝนทิ้งช่วงเท่านั้น
“การบริหารจัดการน้ำฤดูฝนนี้เนื่องจากปัจจุบันอ่างฯ โดยส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความสำคัญและต้องละเอียดยืดหยุ่นกว่าที่ผ่านมา ปกติใช้ค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ย้อนหลัง 30 ปีเป็นเกณฑ์ ข้อมูลนี้อย่างเดียวคงไม่พอแล้ว ยังต้องใช้เกณฑ์การคาดการณ์ในฤดูฝนเป็นช่วงๆ เพิ่มเติมด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% และเขื่อนที่มีน้ำมากกว่า 80%” ดร.สมเกียรติกล่าว
รอง ผอ.กอนช.กล่าวอีกว่า ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ได้ระดมแก้ไขภัยแล้ง ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งหาแหล่งน้ำต้นทุนและแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม ทั้งโดยงบประมาณปกติและงบประมาณพิเศษ และคาดว่าจะดำเนินการได้ทันรองรับช่วงฝนตกหนักในเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในระบบได้ดีขึ้นด้วย
สำหรับนาปี 2563 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เป็นนาทีทองของชาวนาไทยที่จะปลูกข้าว และขายได้ในราคาดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะข้าวเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศมาก หลังเกิดวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ยุติ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเตือนล่วงหน้าว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร