xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.หนุนรัฐเร่งหาแผนฟื้นฟูประเทศลดบทบาทพึ่งส่งออกรับมือโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.หนุนรัฐหารือ 20 มหาเศรษฐีวางแผนฟื้นฟู ศก.แต่ต้องระวังมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวม พร้อมผ่อนปรนมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบบค่อยเป็นค่อยไป จับตาหลังจบโควิด-19 โลกเปลี่ยน บทเรียนโควิด-19 จะทำให้ทุกประเทศเน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอาจดึงการย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่ ไทยต้องเร่งปรับตัวทบทวนการพึ่งส่งออกและท่องเที่ยวจากต่างชาติให้น้อยลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า แนวทางการฟื้นฟูประเทศในระยะต่อไปหลังผลกระทบไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งการฟื้นฟูภายในประเทศ เช่น การเน้นการใช้สินค้าของไทย การสร้างรายได้ทุกภาคส่วน การพัฒนานวัตกรรม ฯลฯ รวมทั้งการฟื้นฟูการส่งออกที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและการดึงดูดการลงทุน โดยการที่นายกรัฐมนตรีเตรียมเชิญกลุ่ม 20 มหาเศรษฐีไทยมาระดมความเห็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันก็เป็นแนวทางที่ดี แต่จำเป็นต้องเน้นกลุ่มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนร่วมเป็นหลักไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องระวัง

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มลดลง ถือเป็นการบ่งชี้ถึงศักยภาพที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งหากรัฐจะผ่อนปรนมาตรการภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายหลังประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.0 น. ก็เป็นเรื่องที่ดีภายใต้เงื่อนไขที่ทุกฝ่ายจะต้องมีแผนและมาตรการคุมเข้มในการป้องกันการระบาดโควิด-19 อย่างรัดกุมและผ่อนปรนแบบค่อยเป็นค่อยไป

“การปลดล็อกดาวน์ที่องค์การอนามัยโลก (WTO) กำหนดไว้ 6 ข้อเป็นเรื่องที่รัฐได้ดูอยู่แล้ว ซึ่งตัวอย่างประเทศที่เคยจัดการดีตอนแรกพอไม่คุมเข้มตัวเลขติดเชื้อพุ่งขึ้นมากไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ต้องนำบทเรียนนี้มาดูด้วยการผ่อนปรนแบบค่อยเป็นค่อยไปที่จะให้ภาคผลิตเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงจำเป็นแต่ต้องมีมาตรการคุมเข้ม ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตดำเนินการอยู่แล้วเพราะหากพนักงานติดเชื้อเพียงรายเดียวมีผลให้ต้องหยุดไลน์ผลิต ดังนั้นส่วนอื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการเช่นกัน” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ หลังโควิด-19 ดีขึ้นและจบลงทุกภาคส่วนของไทยจะต้องเตรียมแผนรับนโยบายด้านการค้าและการลงทุนทั่วโลกที่จะเปลี่ยนไป ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างชาติต่างเริ่มออกมาส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าโควิด-19 ได้ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้วขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างหนักเพราะฐานการผลิตเหล่านี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ มาอยู่ในแถบเอเชียเช่นจีนแทน ดังนั้น อนาคตอันใกล้อาจมีการโยกย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของโลกได้เพื่อให้ประเทศได้มีการพึ่งพาตนเองมากขึ้นยามเหตุฉุกเฉิน

“สงครามการค้าได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนไปแล้วบางส่วน แต่โควิด-19 คาดว่าจะเกิดการย้ายฐานการผลิตกลับครั้งใหญ่สุดเพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอาจต้องทบทวนการผลิตที่ยามฉุกเฉินต้องพึ่งพาตนเองได้เพราะหลายประเทศได้รับบทเรียนมาก เช่น สหรัฐฯ ที่ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ใหญ่ๆ ได้ย้ายฐานไปอยู่จีนจึงขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ และต่อไปนโยบายการค้าและการลงทุนจะเปลี่ยนไปทำให้หลายประเทศต้องทบทวนความมั่นคงการผลิตด้านสาธารณสุข อาหาร สาธารณูปโภคและพลังงานมากขึ้น เช่นเดียวกับกติกาการค้าโลก เช่น องค์การการค้าเสรี (WTO) และเขตการค้าเสรีต่างๆ อาจมีการทบทวน” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ไทยเองมีการพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างชาติรวมสัดส่วนสูงถึงกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินกรณีโควิด-19 นี้ทำให้ไทยจำเป็นจะต้องเร่งทบทวนบทบาทดังกล่าวให้มากขึ้น เช่นเดียวกับภาคการผลิตและธุรกิจที่จะต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะธุรกิจในอนาคตที่จะมีบทบาทมากขึ้น คือ ไอที และดิจิทัล การค้าขายที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจการเงินที่จะก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น