นับเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อได้ยินข่าว “บุคลากรทางการแพทย์” ติดเชื้อจากการตรวจผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้จะมีการป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ แต่การต้องใช้ระยะเวลานานในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อยิ่งสูงขึ้น
“ทำอย่างไรจึงจะรักษาชีวิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ให้รอดปลอดภัยจากการติดเชื้อ” โจทย์นี้จึงเป็นที่มาของ “ชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกล (Tele-Monitoring)” ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี Internet of things (IoT) นวัตกรรมจาก Living Solution ของ “เอสซีจี” ที่ “มูลนิธิเอสซีจี” ส่งมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ในขณะนี้ เพื่อเป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ที่ได้รับเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเก็บตัวทั้งในและนอกโรงพยาบาลผ่านระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกัน รวมทั้งช่วยลดการใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ ได้อีกด้วย
จากความเข้าใจปัญหา สู่การพัฒนาระบบป้องกันเพื่อตอบโจทย์
“วชิระชัย คูนำวัฒนา” Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า นวัตกรรมนี้เกิดจากการที่ทีมงานได้พูดคุยกับหมอและพยาบาลถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด โดยพบว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญคือ การที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเข้าไปดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และหอผู้ป่วยในแต่ละห้องจะมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ระยะเวลาในการอยู่ใกล้ชิดและสัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีโอกาสได้รับเชื้ออย่างมาก
“หากหมอหรือพยาบาลติดเชื้อ นอกจากจะทำให้ขาดบุคลากรในการดูแลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการสู้กับภัยโควิดด้วย จึงเป็นที่มาของการคิดค้นโซลูชันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยการนำระบบ Tele-Monitoring หรือการตรวจติดตามทางไกลของเอสซีจี ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของผู้สูงอายุ มาพัฒนาต่อยอดเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงและต้องเก็บตัวเพื่อดูอาการที่บ้าน รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้สามารถใช้ระบบ Tele-monitoring ในการติดตามข้อมูลสุขภาพแทนการเดินทางไปโรงพยาบาลได้”
โดยนวัตกรรมนี้ประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) เครื่องวัดความดัน (Blood Pressure) เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ที่เชื่อมต่อกับระบบบลูทูธ และมี Base Unit ที่สามารถใช้พูดคุยและส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Nurse Call) โดยข้อมูลสุขภาพเหล่านี้จะแสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต และแจ้งเตือนไปยังพยาบาลหรือผู้ดูแลเมื่อเกิดความผิดปกติผ่านทาง LINE Application เพื่อให้ทีมแพทย์เข้าไปดูแล ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่พวกเขาได้อีกทาง
Tele-Monitoring ช่วยหมอและพยาบาลปลอดภัย ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแล
ด้าน นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะเข้ามายังชุมชนและสถานพยาบาล โรงพยาบาลจึงมีมาตรการรองรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงให้ได้รับการดูแลและควบคุมโรคที่ดี ที่สำคัญคือ ต้องทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยสูงสุด
โรงพยาบาลจึงนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ที่มีความเสี่ยงจะติดต่อกันได้ง่าย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้โดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด อย่างชุดอุปกรณ์ติดตามสุขภาพทางไกลที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจีนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถประเมินอาการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัส
นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงและต้องเก็บตัวเพื่อเฝ้าดูอาการอยู่กับบ้าน ซึ่งจะทำให้ทีมแพทย์และพยาบาลสามารถติดตามดูแลจากระยะไกลได้ แทนการต้องเข้ามาอยู่ที่โรงพยาบาลซึ่งอาจไม่มีพื้นที่รองรับได้ทั้งหมด ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในอีกทางหนึ่งด้วย
“ผมต้องขอขอบคุณเอสซีจี ที่นำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดี พร้อมสร้างความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19”
นับเป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อมุ่งตอบโจทย์ความต้องการและเสริมเกราะป้องกันให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งพลังใจที่พวกเราคนไทยร่วมส่งมอบให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง