จุรินทร์แจงกระแสสมาคมร้านขายยาไม่ได้รับหน้ากากอนามัย ระบุข้อสรุปร่วมกันกระจายหน้ากากอนามัยโดยตรงจากโรงงานถึงร้านขายยาทั่ว ปท. พร้อมสั่งการกรมการค้าภายในเปิดชื่อร้านขายยาให้ประชาชนได้รับทราบ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยว่า การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (หน้ากากอนามัยสีเขียว) จำนวน 36 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวันนั้น ดำเนินการบริหารจัดการโดยการจัดตั้งศูนย์กระจายหน้ากากอนามัย โดยบริหารจัดการโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 5 แสนชิ้น เพื่อกระจายให้แก่ประชาชน ร้านขายยาทั่วประเทศ การบินไทย และกลุ่มอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ ขณะที่อีก 7 แสนชิ้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารจัดการ โดยเน้นกระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลทุกสังกัด เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
สำหรับในกรณีของสมาคมร้านขายยาที่แจ้งว่ายังไม่ได้รับหน้ากากอนามัยนั้น อาจจะเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด เนื่องจากในการประชุมของศูนย์ฯ มีตัวแทนจากร้านขายยาเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง ซึ่งได้มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดสรรหน้ากากอนามัยไปยังร้านขายยาต่างๆ จำนวนเท่าใด ในรูปแบบการกระจายสินค้าจากโรงงานไปยังร้านขายยาโดยตรงไม่ผ่านสมาคมร้านขายยา เนื่องด้วยเกรงว่าจะเกิดปัญหาคอขวด ทำให้หน้ากากอนามัยไปถึงผู้บริโภคล่าช้า การขนส่งโดยสมาคมร้านขายยามีข้อจำกัด และสมาคมไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะทำนิติกรรมทางธุรกิจกับโรงงานได้ ทั้งนี้ ข้อตกลงจะมีการจัดส่งในสัดส่วน 2.5 หมื่นชิ้นต่อวันโดยประมาณ ทั้งนี้ กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลร้านขายยาเพื่อเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบว่าร้านขายยาใดบ้างที่ทางโรงงานจัดส่ง
ในส่วนของราคาจำหน่ายได้ออกประกาศชัดเจนแล้วว่าให้จำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.5 บาท สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในส่วนของหน้ากากอนามัยทางเลือกชนิดอื่นๆ เช่น หน้ากากคาร์บอน ถือเป็นสินค้าควบคุมเช่นเดียวกัน โดยกำหนดให้จำหน่ายไม่เกินร้อยละ 60 ของราคาทุน ทั้งจากต้นทุนการผลิตในโรงงานและต้นทุนการนำเข้า เช่นหากต้นทุนการผลิตหรือนำเข้า 100 บาท ต้องจำหน่ายไม่เกิน 160 บาท ทั้งนี้ หากตัวแทนจำหน่ายรายใด ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากอนามัยทางเลือกชนิดต่างๆ จำหน่ายเกินราคาที่กำหนด จะต้องรับโทษอัตราจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกัน กรณีค้ากำไรเกินควร ต้องได้รับโทษอัตราจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับผู้ที่กักตุน ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีสินค้าไว้แล้วไม่จำหน่าย หรือครอบครองไว้ในลักษณะที่ทำผิดกฎหมาย จะต้องรับโทษอัตราจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นเดียวกัน ซึ่งได้มีคำสั่งตรวจสอบผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีกรณียกเว้นใดๆ
“ในกรณีการส่งออกนั้น ไม่อนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยที่ใช้ในประเทศไทยทุกชนิด เนื่องจากได้ประกาศเป็นสินค้าควบคุม นอกจากกรณีหน้ากากชนิดอื่นที่มีสัญญาการผลิตในไทยเพื่อใช้ในต่างประเทศ โดยเป็นสัญญาระยะยาวใช้ในงานเฉพาะประเภท เช่น หน้ากากป้องกันสารเคมีบ้างประเภท สามารถดำเนินการได้ปกติ นอกจากนี้ แนะนำประชาชนทั่วไปใช้หน้ากากทางเลือกแทน อาทิ หน้ากากผ้า โดยได้รับการรับรองการใช้งานจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 225 ล้านบาทเพื่อผลิตหน้ากากผ้าแจกจ่ายให้ประชาชน 50 ล้านชิ้นด้วยเช่นกัน” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กล่าว