xs
xsm
sm
md
lg

“กรมเจ้าท่า” ดันท่าเรือทำท่องเที่ยวชุมชน แก้ สวล.น้ำเน่าเจ้าพระยา ดึง “ฮาตาริ” ร่วม CSR

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


....
เปิดใจ "วิทยา ยาม่วง" อธิบดีกรมเจ้าท่า ลูกหม้อที่คลุกคลีในกรมเจ้าท่ามานาน เดินหน้าปลุกแผนท่าเรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ หวังกระตุ้นให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม และมีรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว ล่าสุดนำร่อง "ท่าเรือกรมเจ้าท่า" หวังเนรมิตเป็นท่าเรือท่องเที่ยวแห่งใหม่เป็นต้นแบบของท่าเรือที่มีความสวยงาม ปลอดภัย วาดฝันท่าเรือในอนาคตที่ใดมีศักยภาพผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้จะช่วยประสานกับชุมชนพื้นที่ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เผยเป้าหมายเดินหน้าโครงการ "รักษ์น้ำ รักเจ้าพระยา" ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม จับมือเอกชนทำโครงการตลอดปีหวังแก้ปัญหาน้ำในเจ้าพระยา


อธิบดีกรมเจ้าท่าเปิดเผยถึงแผนงานของกรมเจ้าท่าว่า จะเร่งพัฒนาและบำารุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ให้เพียงพอต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งระบบอื่นพัฒนา ปรับปรุง และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความปลอดภัย เพียงพอต่อเนื่อง ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงกับการขนส่งระบบอื่น กำหนดมาตรการในการกำกับ ควบคุม ดูแล จัดทำระบบรองรับการปฏิบัติการและการให้บริการด้านความปลอดภัยทางน้ำ สร้างข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับบังคับใช้กับเรือ คนประจำเรือ และโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ พัฒนามาตรฐานหลักสูตร บุคลากร และจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ เพื่อการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำและร่องน้ำตามธรรมชาติให้คงสภาพเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัย

...
สำหรับนโยบายของกรมเจ้าท่านั้น จะดำเนินโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถสนับสนุนระบบโลจิสติกส์อย่างบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่น สอดคล้องการพัฒนาอย่างบูรณาการ กำกับ ดูแล และให้บริการเพื่อให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย บุคลากรด้านการพาณิชยนาวีได้พัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัย


****“วิทยา” ปิ๊งไอเดียสร้างพื้นที่กรมเจ้าท่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว
นายวิทยา ยาม่วง กล่าวเปิดใจว่า เดินทางไปร่วมดำเนินโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และได้มีการขุดลอกร่องน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่หลักของกรมเจ้าท่า แต่ไม่ได้จบภารกิจเพียงแค่นั้น ได้ดำเนินการปล่อยปลาในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ทำมาหากิน และประชาชนในพื้นที่จะได้ช่วยกันดูแลผืนน้ำไม่ให้เน่าเสีย มีส่วนในการช่วยอนุรักษ์น้ำต่างๆ นอกจากนั้น พื้นที่ใดที่มีท่าเรือหรือสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้จะมีการประสานกับชุมชนต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือของกรมเจ้าท่า ได้มีการพัฒนาให้เกิดความสวยงาม มีการอนุรักษ์ของเก่าแก่ที่มีในกรมเจ้าท่าปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสวยงาม เป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อย และอีกหลายๆ ท่าเรือในบริเวณลำน้ำเจ้าพระยาและในพื้นที่ต่างจังหวัด

...
"ผมเป็นลูกหม้อของกรมเจ้าท่ามานาน รู้ปัญหาทุกหน่วยงานภายในกรม จึงเร่งรัดพัฒนากรมเจ้าท่าให้มีความทันสมัยและแก้ปัญหาให้กับองค์กรอย่างตรงเป้าหมาย กรมเจ้าท่าปัจจุบันจึงเป็นองค์กรที่ก้าวหน้าและมีความทันสมัย ปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ให้มีความสวยงามและปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเอื้อต่อชุมชนให้มีส่วนร่วมกับกรมเจ้าท่า และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อนาคตพยายามจะขยายนโยบายนี้ไปยังแหล่งชุมชนใหม่ๆ ที่มีพื้นที่ใกล้กับท่าเรือของกรมเจ้าท่า"

...
กรมเจ้าท่าเดินหน้าชวนคนไทย “รักษ์น้ำ รักเจ้าพระยา”
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำต่างๆ ว่า ขยะ ถือเป็นปัญหาใหญ่ ต้องรีบมีการจัดการและรณรงค์ให้ประชาชนได้มีส่วนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดได้ดำเนินโครงการลงเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 3 ชวนคนไทย “รักษ์น้ำ รักเจ้าพระยากับเจ้าท่า” ประจำเดือนกุมภาพันธ์2563 ซึ่งเป็นนโยบายจากยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้าง การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า ได้ตระหนักถึงการรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำ โดยเฉพาะปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศทางทะเล เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมเจ้าท่าทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะรวมทั้งมลพิษต่างๆ ในแม่น้ำลำคลองมาโดยตลอด

...
ล่าสุด บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ชุมชนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ที่เห็นถึงปัญหาขยะ การจัดการไขมันด้วยบ่อดักไขมัน และให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการสร้างความตะหนักรู้ ร่วมมือร่วมใจกันดูแล รักษาสภาพแม่น้ำลำคลอง ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี การมีจิตสาธารณะ ช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริม สนับสนุน ต่อยอด ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


****เจ้าพระยาเต็มไปด้วยขยะ
จากสถิติการดำเนินกิจกรรมของกรมเจ้าท่าที่ได้ทำมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนเรือจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ ร่วมกับเรือตรวจการณ์กรมเจ้าท่า ครั้งที่ 1 เก็บขยะรวมกว่า 500 กิโลกรัม ครั้งที่ 2 เก็บขยะได้ประมาณ 350 กิโลกรัม (ไม่รวมขยะในเรือของกรุงเทพฯ) ซึ่งขยะที่เก็บได้ เจ้าหน้าที่ได้นำมาคัดแยก โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของขยะที่เก็บได้ ประกอบด้วย 1. ขยะอินทรีย์ 69% 2. ขยะทั่วไป 20% 3. ขยะรีไซเคิล 10% เช่น ขวดเครื่องดื่มทั้งขวดแก้ว และขวดพลาสติก และ 4. ขยะอันตราย 1% เป็นขยะพิษจำพวกกระป๋องสี สารเคมี กระป๋องยาฆ่าแมลง กล่องโฟม วัสดุบรรจุอาหาร ที่นอนหมดสภาพ จากขยะที่พบเป็นจำนวนมากในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจถึงการรักษาคุณค่าของแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันรณรงค์ สร้างจิตสำนึกในการรู้คุณค่าของแม่น้ำอย่างเร่งด่วน เพราะด้วยปริมาณขยะมากเท่าไหร่ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อวงจรชีวิตมากเท่านั้น ซี่งจะตามมาด้วยผลกระทบในด้านต่างๆ หากยังไม่หยุดยั้งการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง

...
”ฮาตาริ” พัดลมที่ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม
นายวิทยา พานิชตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการ “ฮาตาริรักษ์น้ำ รักเจ้าพระยากับเจ้าท่า” ภายใต้โครงการ “รักษ์น้ำ รักเจ้าพระยากับเจ้าท่า” ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการดำเนินการภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับที่ดี ควบคู่ไปกับการใส่ใจดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงได้จัดให้มีการล่องเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งฮาตาริได้เห็นถึงความสำคัญในฐานะผู้ประกอบการภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับภาครัฐ ชุมชน และผู้อยู่อาศัยใกล้เเม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้ ใช้โอกาสนี้เพื่อมีส่วนร่วมในการคืนความสะอาด และช่วยกันปลุกจิตสำนึกในการดูแล รักษาแม่น้ำเจ้าพระยา


“กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโครงการนี้ และยังเอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดงาน พร้อมสนับสนุนเรือกำจัดผักชวา จำนวน 2 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 5 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำเรือ อีกทั้งให้การสนับสนุนวิทยากรให้ความรู้และดูแลรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่สนับสนุนเรือที่ใช้เก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 23 ลำ และเรืออำนวยความสะดวก จำนวน 7 ลำ รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำเรือและภาชนะรวบรวมขยะในเรือ”

...
นอกจากนี้ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ที่สนับสนุนวิทยากร พร้อมชุดนิทรรศการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการไขมันในน้ำทิ้งจากครัวเรือนด้วยบ่อดักไขมันแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ รถเก็บขยะมูลฝอย จำนวน 1 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บขยะมูลฝอยหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมฯ พร้อมทั้งประสานชุมชนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ในการจัดส่งผู้แทนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมฯ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่สนับสนุนรถพยาบาลจำนวน 1 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีเหตุฉุกเฉิน และผู้บริหาร รวมถึงพนักงานบริษัทฮาตาริฯ จำนวน 120 คน


นายวิทยากล่าวว่า บริษัทฮาตาริได้มีความตระหนักในการอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องสร้างความตระหนักให้แก่พนักงานและทีมงาน รวมถึงประชาชนได้มีความตระหนักเรื่องการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการคืนความสะอาดและคืนความสุขให้สายน้ำ ช่วยกันดำเนินกิจกรรมดีๆ เพื่อปลุกจิตสำนึก ลด ละ เลิก ทิ้งขยะ และช่วยกันรักษาดูแลแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่เป็นสายน้ำแห่งชีวิต ที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันให้คงอยู่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น