นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต จัดจำหน่ายและทำการตลาดสาหร่ายแปรรูปภายใต้แบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” เผยถึงการปรับทิศทางธุรกิจและการขยายกลุ่มสินค้าเพิ่มเติมว่า จากเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทยแต่เป็นเมกะเทรนด์ของผู้บริโภคทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ
โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีสินค้าใหม่ที่เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงตลาดขนมขบเคี้ยวด้วย โดยสาหร่ายถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในซูเปอร์ฟูด เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่คัดสรรมาจากธรรมชาติ อุดมไปด้วยไขมันโอเมกา 3 มีแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด รวมทั้งเป็นหนึ่งในเทรนด์ซูเปอร์ฟูดยอดนิยมที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ซึ่งเถ้าแก่น้อยในฐานะเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่าย จึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนาสินค้า โดยปรับพอร์ตกลุ่มสินค้าใหม่พร้อมสร้างตลาด “Super Snacks” รายแรกของประเทศไทย เพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ โดยภายใต้กลุ่มสินค้า “ซูเปอร์สแน็ก” ของเถ้าแก่น้อย จะมีสินค้าหลัก 3 segments ดังนี้
1. Premium Snack สินค้าหลักที่สำคัญ อาทิ เทมปูระไข่เค็ม ทินเท็นไข่เค็ม 2. Plant Base Snack ชูธงรบด้วย สาหร่ายที่ถูกนำไปแปรรูปในรูปแบบต่างๆ อาทิ สาหร่ายทอด อบ ย่าง สาหร่ายเทมปูระ และในอนาคตกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอีกหลากหลายประเภทตามต่อมา เป็นต้น 3. Protein Snack สินค้าที่เปิดตัวสู่ตลาดและได้รับความนิยม ได้แก่ ปลาแผ่นปรุงรสทินเท็น ปลาม้วนปรุงรสทินเท็น โรล์
การปรับพอร์ตสินค้าในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดพันธกิจของบริษัทฯ ที่จะก้าวสู่บริษัทนวัตกรรม สร้างความสุขให้ผู้บริโภคทั่วโลก ตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ เมื่อทุกคนเริ่มมองหาอาหารที่มาจากธรรมชาติ เพื่อสุขภาพของตัวเอง และเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดของโลก โดยวัตถุดิบหลักพื้นฐานของบริษัทฯ คือ สาหร่าย ซึ่งถือเป็น Super Foods
“กู้ดเดย์” (Good Day) ขนมขบเคี้ยวใหม่ล่าสุด จากเถ้าแก่น้อย
สินค้ากลุ่มแรกที่ออกมาสร้างตลาดในกลุ่มซูเปอร์สแน็ก (Super Snacks) ในปี 2563 คือ เถ้าแก่น้อยกู้ดเดย์ (Good Day) มี 2 รสชาติ รสคลาสสิก ซี ซอลท์ และรสเผ็ด ซีซอลท์ สูตรลดเกลือ 50% จากสูตรปกติ ใช้น้ำมันรำข้าวและไม่ใส่ผงชูรส ตามสโลแกน “โซเดียมต่ำ ทุกคำอร่อย” ซึ่งแม้จะออกมาเป็นสูตรสุขภาพ แต่เถ้าแก่น้อยยังคงรักษามาตรฐาน ความอร่อยและความสนุกในการกินได้เป็นอย่างดี โดยเน้นจับกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนวัยทำงานที่รักสุขภาพ อายุตั้งแต่ 21-35 ปี
สำหรับการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ New Categories สินค้ากู้ดเดย์ (Good Day) ทางบริษัทฯ ได้เตรียมจัดกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจรเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค พร้อมกับแคมเปญสื่อสารทางการตลาดทั้ง Online และ Offline โดยนำเสนอผ่าน Music Marketing โดยสามารถเข้าไปรับชมเอ็มวีเพลง “Good Day-สิ่งดีดีทุกวัน” กันได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=GaCwV3DaTvs
เถ้าแก่น้อยรุกคืบ ขยายตลาดสู่ขนมขบเคี้ยว Non-Seaweed
นอกจากกลุ่มสินค้า ซูเปอร์สแน็ก (Super Snack) ที่เถ้าแก่น้อยเตรียมสร้างความคึกคักให้ตลาดในช่วงต้นปีแล้ว ยังมีสินค้ากลุ่ม “Non Seaweed” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายหลักปี 2563 อีกด้วย โดยนายอิทธิพัทธ์กล่าวว่า “ตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทยยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2562 รายได้รวมในตลาดสูงถึง 38,000 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของการชิงส่วนแบ่งการตลาด คือ ตลาดมันฝรั่งที่ 32.2% และ ตลาดขนมขึ้นรูปที่ 27.4%
เถ้าแก่น้อย จึงวางทิศทางการดำเนินงานในการขยายฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็น Non Seaweed มาก และปีนี้เรามีแผนลุยตลาดขนมขึ้นรูป (Extruded Snacks) อย่างจริงจัง โดยจับมือร่วมกับเจ้าแห่งขนมขบเคี้ยวอันดับ 1 ในประเทศเกาหลี โอริออน กรุ๊ป (Orion Group) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว มานานกว่า 70 ปี อิมพอร์ตขนมข้าวโพดกรอบยอดนิยม ตราโคบุค (Kobuk) ส่งตรงถึงเมืองไทย โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโคบุคคือ เป็นขนมข้าวโพดกรอบ 4 ชั้น ให้ความกรอบเต็มคำ ที่มาในรสชาติซุปข้าวโพด สูตรต้นตำรับเกาหลี โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนทั่วไปอายุ 15-30 ปี ที่ชอบทานแสน็ค และลองสิ่งใหม่
“เทรนด์ของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องคอยตื่นตัวและหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทัน เถ้าแก่น้อยมองว่า ทั้งเทรนด์รักสุขภาพ และการได้ทานขนมขบเคี้ยวที่อร่อยถูกใจ จัดเป็นหนึ่งในนิยามของคำว่า “Healthy Living” เป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ต้องการมีสุขภาพที่ดีและมีความสมดุลทั้งกายและใจ ช่วยลดความเครียด ซึ่งผู้บริโภคมักมองหาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นั้น เราในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยวก็จะมุ่งมั่นทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค” นายอิทธิพัทธ์กล่าว
ทั้งนี้ จากภาพรวมตลาดสาหร่าย ปี 2562 ซึ่งมียอดรวมอยู่ที่ 2,929 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกกลุ่มสินค้าทอด และอบมีสัดส่วนยอดขายที่ลดลง และมาตีตื้นในกลุ่มสินค้าใหม่ประเภทสาหร่ายย่าง อาทิ BigRoll และเทมปูระ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตถึง 18.7% และ 82.7% ตามลำดับ จึงเป็นการจุดประกายให้มีการปรับโครงสร้างกลุ่มสินค้าภายใต้แบรนด์เถ้าแก่น้อย ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ที่ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นจนกลายเป็นเมกะเทรนด์