“ศักดิ์สยาม” ผนึก “ถาวร-อธิรัฐ” ฟื้นท่าเรือปากบารา เดินหน้าท่าเรือสงขลา 2 ดันสร้างในรัฐบาลนี้ ยันประเทศได้ประโยชน์ สร้างแลนด์บริดจ์ ลดต้นทุนขนส่ง ยัน 3 รมต.พรรคร่วมจับมือแน่น “ถาวร” ลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชน
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายกรมเจ้าท่า (จท.) ซึ่งนายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนและ รมช.คมนาคมทั้ง 2 คนได้ให้นโยบายกรมเจ้าท่าในการผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 และท่าเรือปากบารา จ.สตูล เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเป็นประตูของประเทศ โดยในส่วนของท่าเรือสงขลา 2 นั้นจะต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม จะช่วยในเรื่องนี้ และหากสามารถผลักดันท่าเรือสงขลา 2 ได้ ในส่วนของฝั่งอันดามันควรจะมีท่าเรือปากบาราเพื่อเชื่อมระบบการขนส่งทางน้ำที่สมบูรณ์ และทำให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ
“เรามี รมต.3 คนที่จะช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ จะให้กรมเจ้าท่ารื้อแผนโครงการขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน อย่างน้อย ท่าเรือสงขลา 2 ควรจะเกิดให้ได้ รัฐบาลนี้จะลองผลักดันอีกครั้ง ส่วนข้อกังวลของประชาชนสำหรับท่าเรือปากบาราเชื่อว่าจะทำความเข้าใจกันได้ และยืนยันว่า รมต.กระทรวงคมนาคมที่มาจาก 3 พรรคร่วมรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี” นายศักดิ์สยามกล่าว
การเชื่อมโยงท่าเรือปากบาราและท่าเรือสงขลา 2 ด้วยระบบรางจะเกิดประโยชน์ต่อการขนส่งอย่างมาก ดังนั้นต้องลองผลักดันทำความเข้าใจกันอีกครั้งเพราะถือว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก หากไม่ทำจะเป็นการเสียโอกาสได้ อย่างไรก็ตาม ในการลงทนด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอย่างเดียว มีหลายรูปแบบ กองทุนฯ หรือการร่วมลงทุน (PPP) เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศ
ด้านนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของท่าเรือสงขลา 2 นั้นมีความจำเป็น เพราะสินค้าที่ขนส่งจากภาคกลาง ภาคใต้ผ่านไปด่านประกอบด้วย อ.นาทวี ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ มูลค่าปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการต้องแบกภาระขนส่ง โดยจะส่งต่อภาระไปที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะเกษตกร เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง ทั้งไม้ ยางแผ่น แม้แต่ตู้เย็น หรือรถจักรยานยนต์ ต้องส่งไปทางนี้ หมด เพราะว่าเรือแม่ไม่ได้เข้าที่ท่าเรือระยอง หรือท่าเรือมาบตาพุด นี่คือเหตุผลที่ต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2
ส่วนจะผลักดันโครงการนั้น การศึกษาเดิมที่ อ.จะนะ จ.สงขลา การประชาพิจารณ์ไม่เรียบร้อย ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการทำความเข้าใจกับประชาชน และเกษตรกร ในพื้นที่ในการลดภาระต้นทุน และประโยชน์จะได้รับ ขณะที่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทางกระทรวงทรัพย์ฯ จะดูแลอย่างเข้มข้น ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนท่าเรือปากบารา นายถาวรเชื่อว่าจะมีเหตุผลที่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ ซึ่ง รมต.ทั้ง 3 พรรคอยู่ในพื้นที่ พร้อมจะร่วมมือกับผลักดัน
@เตรียมพร้อมรับการตรวจมาตรฐานของ IMO
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนและ รมช.คมนาคม 2 ท่านได้ร่วมกันมอบแนวทางในการบริหารจัดการงานต่างๆ ของกรมเจ้าท่าที่จะเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและอำนวยความสะดวก ทั้งด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ซึ่งกรมเจ้าท่ามีภารกิจสำคัญในการพัฒนาหลายเรื่อง รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจอีกด้วย
โดยได้กำชับให้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในการรับการตรวจสอบด้านความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำ ประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในปี 2563 หากมีความจำเป็นต้องยกระดับคณะกรรมการเป็นระดับชาติก็ต้องเร่งดำเนินการ
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการจัดทำระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ (VTS) ซึ่งยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านอันดามันและฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง โดยให้ดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จในปี 2563 โดยเสนอวงเงินดำเนินการในงบประมาณปี 2563 จำนวน 800 กว่าล้านบาท ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ให้กรมเจ้าท่าปรับบทบาทตัวเองเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) คืองานใดที่ไม่มีบุคลากรเพียงพอให้ Outsource เช่น การตรวจสิ่งรุกล้ำลำน้ำ การตรวจเรือ การตรวจแพ เป็นต้น หากจ้างแรงงานภายนอกมาช่วยทำได้ให้ดำเนินการ โดยให้อยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าให้เกิดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์