วันนี้ (25 พ.ย. 62) นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) หรือ CAAT เป็นประธานเปิดการสัมมนาและกิจกรรมให้ความรู้ด้านการบิน “CAAT 1st Aviation Forum” เพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านวิชาการในอุตสาหกรรมการบิน และเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของนิสิต นักศึกษา นักวิจัยและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน ตลอดจนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในอนาคต โดยมีนิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 150 คน
ซึ่งเป็นการสัมมนาและกิจกรรมให้ความรู้ด้านการบิน “CAAT 1st Aviation Forum” ถือเป็นครั้งแรกที่ CAAT จัดโครงการที่เน้นด้านการศึกษาและวิชาการ และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบิน โดย CAAT ได้เปิดรับสมัครผลงานทางวิชาการจากผู้ที่สนใจตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่ามีผลงานได้รับการเผยแพร่จำนวน 24 ผลงาน และผลงานที่ได้นำเสนอในวันนี้จำนวน 8 ผลงาน
โดยภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เส้นทางสู่อาชีพในอุตสาหกรรมการบิน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนะนำเส้นทางอาชีพต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบินให้เยาวชนและผู้ที่สนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมการบิน โดยผู้ประกอบอาชีพด้านการบิน ได้แก่ คุณวิรุณ ปิติสิริกุล นักบินผู้ช่วย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) คุณทิพย์อาภา ประกอบสุข ลูกเรือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ คุณเจษฎา กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บริษัท ซีเนียร์แอโรสเปซ (ไทยแลนด์) คุณบันเทิง เมฆฉาย ผู้จัดการฝ่ายพิธีการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และคุณอธิจิต คันธารัตน์ หัวหน้ากองตรวจสอบอากาศยาน ฝ่ายสมควรเดินอากาศและวิศวกรรมการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
นอกจากการเสวนาและนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว CAAT ยังเปิดให้หน่วยงานที่สนใจร่วมออกบูทเพื่อนำเสนอข้อมูลด้านอุตสาหกรรมการบินในแง่มุมต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการบินพลเรือน บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจฟอกซ์ แอร์คราฟท์ จำกัด ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็นำข้อมูล ภารกิจ บทบาทของตนเองมานำเสนอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการขนส่งทางอากาศในประเทศไทยที่ผ่านมาส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการบิน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการให้ความรู้ด้านการบินแก่เยาวชนแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถนำบทความวิชาการเหล่านี้มาต่อยอดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานของผู้ประกอบการด้านการบินในประเทศไทยอีกด้วย