xs
xsm
sm
md
lg

“ธนชาต” กลุ่มธุรกิจการเงินที่เก่งในการปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเอ่ยชื่อ "กลุ่มธนชาต" คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงธนาคารธนชาต ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ ที่อยู่ระหว่างการรวมกิจการกับธนาคารทหารไทยหรือทีเอ็มบี กลายเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสินทรัพย์รวมแตะ 2 ล้านล้านบาท และมีจำนวนลูกค้ากว่า 10 ล้านราย เบื้องลึกดีลการนำธนาคารธนชาตไปรวมกิจการกับทีเอ็มบีนั้น ถือเป็นกลยุทธ์เหนือชั้นของ บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP ซึ่งเป็น Financial Holding Company ชั้นนำของไทยที่ใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว หลังจาการรวมกิจการ โดย TCAP จะยังได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งในฐานะ 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารใหม่หลังรวมกิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีศักยภาพในการเติบโต และทำกำไรมากขึ้นในอนาคต

ผสานจุดแข็งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า

ย้อนสู่จุดเริ่มต้นการรวมกิจการครั้งนี้ มาจาก TCAP เล็งเห็นศักยภาพและจุดแข็งจากทั้งสองธนาคาร ซึ่งนอกจากเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวแล้ว ธนาคารทั้ง 2 แห่งยังมีโครงสร้างทางธุรกิจและความชำนาญซึ่งเสริมรับกันและกัน มีความทับซ้อนกันไม่ถึง 10% ถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น จากจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10 ล้านราย มีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากความเก่งของทั้ง 2 ธนาคารที่จะรวมกัน โดยเฉพาะธนาคารธนชาตที่เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ขณะที่ทีเอ็มบีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการระดมเงินฝาก ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุนในการทำธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผนวกกับโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ดังนั้น การรวมกิจการในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยกระดับการให้บริการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทุกกลุ่มลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์และการให้บริการที่ดีที่สุด รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกฐานลูกค้าทั่วประเทศ และในท้ายที่สุดก็จะทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงขึ้นของผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ธนาคารใหม่ภายหลังการรวมกิจการจะมีทุนธนชาต(TCAP) เป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 20.4% และมี ING ถือหุ้น 21.3% กระทรวงการคลัง 18.4% สโกเทียแบงก์ 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3% โดยมีนายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ผู้บริหารของ TCAP เข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของธนาคารใหม่ด้วย


ธนาคารใหม่ “ทหารไทยธนชาต -TMB Thanachart Bank ”

ส่วนชื่อธนาคารใหม่หลังจากรวมกิจการนั้น จะมาจากรากฐานและสะท้อนคุณค่า รวมถึงจุดแข็งของแบรนด์จากทั้งสองธนาคาร ซึ่งการตัดสินใจ จะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการธนาคาร โดยมีการระบุว่าธนาคารใหม่หลังรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ จะใช้ชื่อในภาษาไทยว่า "ทหารไทยธนชาต" และมีชื่อในภาษาว่า "TMB Thanachart Bank" แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนการรวมกิจการ ทั้งธนาคารธนชาต และธนาคารทีเอ็มบี จะยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่

กลุ่มธนชาตไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร

ในอนาคตนอกเหนือจากการเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิมแล้ว TCAP ยังมีบริษัทลูกอีกหลายแห่ง หลากหลายธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในด้านรายได้และกำไรให้กับ TCAP ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 TCAPและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมจํานวน 15,806 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

ล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2562 ผลประกอบการของกลุ่มธนชาต ก็สามารถโชว์ฟอร์มดีได้อีกครั้ง นำโดยธนาคารธนชาต และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 12.86% และเป็นกำไรสุทธิที่สูงเป็นสถิตินิวไฮ สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 11,296 ล้านบาท ในส่วนของ TCAP และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 4,616 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP 2,472 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 573 ล้านบาท หรือ 30.17% จากไตรมาสก่อน ส่วนงวด 9 เดือน กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP มีจำนวน 6,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากกลยุทธ์ของธนาคารธนชาต ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการเป็นธนาคารหลักของลูกค้านั่นเอง

โดยโครงสร้างการลงทุนของ TCAP จะมีการปรับเปลี่ยนภายหลังการรวมกิจการของธนาคารใหม่ สัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP ในบริษัทต่างๆ จะประกอบด้วย ธนชาตประกันภัย 51% บล.ธนชาต 51 % ราชธานีลิสซิ่ง 65.2% (ถือผ่านนิติบุคคล-SPV) บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็นเอฟเอส 100% บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม็กซ์ 83.4% บริษัทบริหารสินทรัพย์ ทีเอส 100% เอ็มบีเคไลฟ์ประกันชีวิต 51% อีกทั้งยังมีเงินลงทุนในบริษัทร่วม อย่าง เอ็ม บี เค และ ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ในสัดส่วน 19.9% และ 19.6% ตามลำดับ

ดังนั้น เชื่อมั่นได้ว่าในอนาคตผลการดำเนินงานของ TCAP ยังจะคงมีรายได้ที่ดีจากธุรกิจที่หลากหลาย แม้ธนาคารธนชาตไปรวมกิจการกับทีเอ็มบีแล้ว สะท้อนจากผลการดำเนินงานที่ดีในปี 2561 ของบริษัทลูกๆ อาทิ ธนชาต ประกันภัย มีกำไรสุทธิ 1,042 ล้านบาท ราชธานีลิสซิ่ง มีกำไรสุทธิ 1,641 ล้านบาท บล.ธนชาต มีกำไรสุทธิ 593 ล้านบาท บบส.ทีเอส มีกำไรสุทธิ 237 ล้านบาท บบส.แม๊กซ์ มีกำไรสุทธิ 201 ล้านบาท


MBK หนึ่งในการลงทุนของTCAP

ในบรรดาธุรกิจที่นอกเหนือจากการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการเงินแล้ว เจาะลึกลงไปจะพบว่า TCAP ยังมีการลงทุนในธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น บมจ.เอ็ม บี เค ที่ถือหุ้นอยู่เกือบ 20% ซึ่ง MBK ถือเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายทั้ง ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ ในด้านผลประกอบการของ MBK ปี 2561 ที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 4.9 หมื่นล้านบาท มีกำไร 2,881 ล้านบาท และที่น่าสนใจ MBK ยังถือหุ้นอยู่ใน บริษัทสยามพิวรรธน์ 47.98 % ผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็นระดับแลนด์มาร์คของประเทศไม่ว่าจะเป็นไอคอนสยาม สยามพารากอน รวมถึง ศูนย์การค้าที่อยู่ในทำเลทอง เช่น สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์

เปิดปูมขุนพลการเงิน TCAP

หากจะกล่าวถึงความสำเร็จของ TCAP อีกจุดหนึ่งที่ไม่สามารถผ่านเลยไปได้ ก็ต้องเป็นผู้บริหารที่มากไปด้วยความสามารถและประสบการณ์ในวงการการเงินการธนาคารมาอย่างยาวนาน นำโดย นายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่นำพาธนชาตสู่การเติบโตอย่างมั่นคงมาตลอดกว่า 40 ปี เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2523 ที่นายบันเทิงและนายศุภเดชได้เข้าไปฟื้นฟู แคปปิตอลทรัสต์ซึ่งพัฒนามาจากลี กวง มิ้ง บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีพนักงานไม่กี่คนเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ โบรกเกอร์หมายเลข 16 ที่ประสบผลสำเร็จในอันดับต้นๆของประเทศ และสามารถนำพาธุรกิจผ่านพ้นหลายสภาวะวิกฤติการเงินของประเทศมาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จากนั้นยังประสบความสำเร็จ โดยเป็นกลุ่มการเงินแรกที่ตั้งธนาคารขึ้นใหม่ได้ หลังวิกฤติปี 2540 ด้วยการเปิดธนาคารธนชาต ในปี 2545 โดยการนำจุดเด่นด้านเช่าซื้อรถยนต์มาเป็นธุรกิจหลักของธนาคาร และเป็นผู้นำในด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จนถึงปัจจุบัน ไปพร้อมๆกับการขยายอาณาจักรทางการเงินครบวงจร มีทั้ง ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ประกันภัย ประกันชีวิต บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมถึงเข้าไปลงทุนในบริษัทจดทะเบียนอื่นๆด้วย

ดังนั้น จากประสบการณ์และแนวคิดที่สร้างแต้มต่อในวงการมาได้ดีตลอด จึงไม่น่าแปลกใจที่ดีลการรวมกิจการที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ตั้งแต่การเลือกที่จะเข้าไปลงทุนในธนาคารที่จะทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังมีการลงทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงอีกหลายประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมในโอกาสใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์แบบเหนือชั้นของผู้บริหารกลุ่มธนชาตนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น