xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นไฮสปีด 3 สนามบิน “ซีพี” เร่งตอกเข็มภายใน 1 ปี เปิดกว้างเจรจาพันธมิตรเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เซ็นแล้วไฮสปีด 3 สนามบิน “ซีพี” ลงทุน 1.4 แสนล้าน “มักกะสัน” ผุดมิกซ์ยูส ศูนย์กลางระบบรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ลั่นเริ่มก่อสร้างใน 1 ปี และเสร็จใน 5 ปี พร้อมเปิดกว้างเจรจาพันธมิตรใหม่ร่วมทุน เล็งดันเข้าตลาดหุ้นหรือออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน


วันนี้ (24 ต.ค.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ทางซีพีได้ร่วมกับพันธมิตรไทยและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญงานครอบคลุมกับงานในสัญญา ซึ่งในส่วนของรัฐต้องดำเนินการในการส่งมอบพื้นที่เพื่อก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน ส่วนเงินที่รัฐต้องจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนจำนวน 117,227 ล้านบาทให้แก่ซีพีภายในระยะเวลา 10 ปีนั้นจะเริ่มจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จ ซึ่งเมื่อแบ่งงานออกเป็น 3 ท่อน เช่น หากการก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เสร็จตรวจสอบและเปิดให้บริการรัฐจะจ่ายให้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้เสร็จทั้ง 3 ส่วนก่อนค่อยจ่าย เป็นระบบปกติที่ทำ


ส่วนพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่ ที่ปรึกษามืออาชีพได้ประเมินราคาค่าเช่าที่เอกชนควรจ่าย ร.ฟ.ท.เป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าอื่นด้วย จะต้องมีการบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร ขณะที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก แต่รถน้อยความถี่ทำได้แค่ 15 นาทีต่อขบวน แต่ต้องการอยู่ที่ 2-3 นาทีต่อขบวน หวังว่าเอกชนจะสามารถเข้ามาบริหารเพิ่มความถี่ในการบริการได้


สำหรับการนำบริษัทร่วมทุนฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นนโยบายของ EEC ซึ่งเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่จะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการหารือกับทางตลาดหลักทรัพย์ส่งทีมซึ่งมีรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เข้ามาช่วยดูแลแล้วว่าจะสามารถนำเข้าตลาดฯ ได้เมื่อใด ซึ่งโครงการจะต้องมีรายได้ที่เห็นชัดเจนก่อนเพื่อประเมินด้านราคา และประเมินการจ่ายผลตอบแทนได้

@ ร.ฟ.ท.คาดชง พ.ร.ฎ.เวนคืนเข้า ครม.
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในสัญญากำหนดการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างภายใน 2 ปีหลังลงนาม โดยพื้นที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน 850 ไร่ ที่ยังอยู่ระหว่างรอ พ.ร.ฎ.เวนคืน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะมีประชุมร่วมกับซีพี ซึ่งจะมีการออกแบบ และเตรียมพื้นที่ย้ายสาธารณูปโภค


การส่งมอบพื้นที่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) เช่น ที่ดินมักกะสัน 140 ไร่นั้น ร.ฟ.ท.จะออกมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) พร้อมกับ NTP ในส่วนของการก่อสร้าง ซึ่งในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้นเป็นหน้าที่ ร.ฟ.ท. โดยการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดินเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของ โดยซีพีจะต้องออกแบบการก่อสร้างภายใน 3 เดือนหลังจากนี้เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนในการย้ายสาธารณูปโภค เป็นการทำงานร่วมกัน


โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทาน โดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งซีพีฯ เสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

@“ซีพี” ลั่น ต้องได้เริ่มก่อสร้างใน 1 ปี และเสร็จใน 5 ปี
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เตรียมการก่อนการประมูลไม่น้อยกว่า 2 ปี และหลังยื่นประมูลมาถึงวันนี้ 11 เดือนกว่า การเจรจาทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไข ในสัญญาและแนบท้ายได้กำหนดขั้นตอนกรอบเวลาในการดำเนินงานไว้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ซึ่งทางกลุ่มฯ ต้องการเริ่มก่อสร้างโดยเร็วภายใน 12 เดือนหรืออย่างช้าไม่เกิน 24 เดือน (2 ปี) โดยส่วนที่เริ่มต้นได้เร็วที่สุดคือ 1. โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ซึ่งจะทำแผนการรับโอนและการปรับปรุงเพื่อรองรับระบบรถไฟความเร็วสูง 2. ส่วนที่ยากที่สุด คือ การก่อสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และ 3. ส่วนที่ต้องตกลงในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่มีระยะทางยาวที่สุด คือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา


ซึ่งทั้ง 3 ส่วนเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยจะทำอย่างเต็มที่เพื่อให้เริ่มต้นการก่อสร้างภายใน 12 เดือน และเสร็จภายใน 5 ปี โดยหลังการลงนาม บริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที


@ลงทุน 1.4 แสนล้าน “มักกะสัน” ผุดมิกซ์ยูส ศูนย์กลางไฮสปีด
นายศุภชัยกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่ว่า ตามแผนจะลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 2 ล้าน ตร.ม. โดยแนวทางในการพัฒนาเพื่อสนับสนุนผู้ใช้บริการที่เดินทางผ่าน 3 สนามบิน ได้แก่ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักธุรกิจที่ลงทุนในอีอีซี ดังนั้น มักกะสันจะเป็นศูนย์กลางมีกิจกรรมรองรับนักเดินทางดังกล่าว เช่น โรงแรม รีเทล เป็นต้น นอกจากนี้จะมีศูนย์วิจัยพัฒนาระบบรางให้ ร.ฟ.ท.ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์

สำหรับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.) ประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) บมจ.ช.การช่าง (CK)


ในการก่อสร้างงานโยธานั้น มีอิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ ส่วน CRCC เชี่ยวชาญด้านระบบรางของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการบริหารจัดการ


นอกจากนี้ยังมีบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) หรือ FS ที่เข้ามาร่วมมือในการให้บริการรถไฟ ซึ่งพาร์ตเนอร์ทุกรายมีความเข้มแข็งที่ต่างกันเพื่อผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จ รวมถึงยังมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) อีกด้วย
ในด้านเงินลงทุนระหว่างเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ งานที่ใช้วัสดุภายในประเทศจะใช้เงินกู้ในประเทศเป็นเงินบาท ส่วนใหญ่เป็นงานโยธา สัดส่วนลงทุน 65-70% ส่วนการลงทุนด้านระบบและเทคโนโลยีที่นำเข้าจากต่างประเทศ ประมาณ 30-35% จะใช้เป็นเงินสกุลดอลลาร์


ส่วนจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาในส่วนของ CDB และ JBIC ซึ่งเป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทเข้าใจในการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงมากขึ้น
ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นของซีพีจะไม่ต่ำกว่า 51% ในช่วงระหว่างก่อสร้าง หรือภายใน 6 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด และเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทีโออาร์กำหนดให้ถือหุ้นใหญ่นั้นไม่ต่ำกว่า 40%


อนึ่ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ที่เหลือเป็น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือ 10% CK ถือ 5% ITD ถือ 5% และ CRCC ถือ 10% ขณะที่ในส่วนทุนมีแนวโน้มจะมีผู้ร่วมทุนเข้ามาเพิ่มเติมอีก ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มผู้ถือหุ้นจะต้องแจ้ง ร.ฟ.ท.รับทราบ







กำลังโหลดความคิดเห็น