xs
xsm
sm
md
lg

“สังคมสูงวัย แต่หัวใจ 14” : เปิดคัมภีร์เจาะตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - ผู้สูงวัยในวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ ไม่ได้นั่งเหงาเฝ้าบ้าน แต่พร้อมมีชีวิตใหม่ มองหาความรักครั้งใหม่ เพราะหัวใจยังมีไฟอยู่ เรื่องไอทีไม่ใช่ปัญหา ชอปปิ้งผ่านออนไลน์คล่องปื๊ดๆ ขาดแค่เรื่องเงินเรื่องใหญ่ รัฐต้องรู้ปัญหาตั้งรับให้ทัน สินค้าและบริการต้องคิดใหม่เพื่อรับมือ เพราะอีก 10 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

ความเป็นจริงในวันนี้ ผู้สูงวัยมีไลฟ์สไตล์ ความคิด และทัศนคติห่างไกลจากสิ่งที่เราเข้าใจมาโดยตลอด ภาพจำที่เราคุ้นเคยกับภาพคนเฒ่าคนแก่จะต้องนั่งเหงาอยู่ที่บ้าน ไม่เข้าใจในเทคโนโลยี รอให้ลูกหลานมาเลี้ยงมาดูแล นั่นมันเป็นอดีตไปแล้ว เพราะในวันนี้ผู้สูงวัยทั้งในไทยและทั้งโลกมีเทรนด์ไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เป็นผู้สูงวัยที่คิดว่าตัวเองยังไม่แก่ และชีวิตกำลังจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

ข้อมูลเหล่านี้มาจากผลสำรวจของทาง "อิปซอสส์" ในหัวข้อ “GettingOlder–Our Aging world” ที่ได้เผยถึงพฤติกรรม ทัศนคติ และอิทธิพลของกลุ่มผู้สูงวัยในวันนี้ และคาดการณ์ไปถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นด้วย ส่วนสำคัญก็เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจ และอธิบายผลกระทบของสังคมผู้สูงวัยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะนักการตลาดที่จะต้องตั้งรับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหญ่กลุ่มนี้ให้ถูกต้อง เพราะในวันข้างหน้าผู้สูงวัยจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกในหลายๆ ด้าน

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล หัวหน้าฝ่ายองค์กรลูกค้า บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โลกของเราจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นับจากปี 2000 ถึงปี 2050 หรือช่วงเวลานั้นจำนวนผู้สูงวัยทั่วโลกจะมีกว่า 2.1 พันล้านคน มากกว่ากลุ่มอายุ 10-24 ปี ที่มีอยู่ 2 พันล้านคน และคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2030 โลกของเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการ ด้วยจำนวนผู้สูงวัยกว่า 1.4 พันล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่มเด็กอายุ 0-9 ขวบที่คาดว่าจะมีเพียง 1.3 พันล้านคน กล่าวได้ว่าหลังจากนี้จำนวนการเกิดจะน้อยลง ทำให้อัตรากลุ่มคนวัยทำงานลดลงตามในอนาคต แต่จำนวนผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันคาดการณ์ว่าผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนที่ 16-18% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือน่าจะมีจำนวนกว่า 11 ล้านคน หากเกิน 20% ถือว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่น่าจะเกิน 10 ปีหลังจากนี้ ทั้งนี้พบว่าไทยถือเป็นประเทศที่มีแนวโน้มทางด้านประชากรแบบเดียวกันกับประเทศที่เจริญแล้ว กล่าวคือ อัตราการเกิดน้อยลงอย่างญี่ปุ่น แต่ในแง่ฐานะทางการเงินแล้ว ของไทยเราอยู่ในขั้นยากจนหรือเทียบเท่าประเทศที่กำลังพัฒนา

มีหลายเรื่องที่ทำให้เราต้องร้อง โอ้ มายก็อด! อย่างในฝรั่งเศส ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 70% ชื่นชอบในการลองสิ่งใหม่ๆ 60% รู้สึกเด็กกว่าอายุจริง หรือมองว่าตัวเองยังไม่แก่ ที่สำคัญ จำนวน 1 ใน 3 ต้องการเริ่มต้น "ชีวิตใหม่" เช่น เปิดโลกใหม่ด้วยการออกไปท่องเที่ยว ลงทุนทำธุรกิจใหม่ของตัวเองอีกครั้ง ที่สำคัญ ต้องการมีความรักครั้งใหม่ สร้างครอบครัวใหม่อีกสักรอบ

นอกจากนี้ยังพบว่า คนสูงวัยจำนวนมากได้เข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน หาข้อมูล พูดคุย และสั่งซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ เช่นในอังกฤษ 43% ของผู้สูงวัยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำ ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ถือเป็นกิจกรรมหลักไปแล้ว ส่วนในแคนาดา 84% ของผู้สูงวัยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ

สำหรับประเทศไทยเองมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพบว่า 75% มีความสนใจและต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และกว่า 1.2 ล้านคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญ 64% มองว่าตัวเองยังไม่แก่ 46% มองว่าเป็นช่วงเวลาดีที่สุดในชีวิต และกว่า 1 ใน 2 ของกลุ่มผู้สูงวัยมองว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยเกษียณ

ส่วนกิจกรรมยอดฮิตติดอันดับที่ผู้สูงวัยชาวไทยชื่นชอบคือ 1. การออกกำลังกาย 56% 2. เดินทางท่องเที่ยว 49% 3. ปลูกต้นไม้/ปลูกผัก 34% 4. ชอบสังคมเยี่ยมญาติ / เพื่อนสนิทมิตรสหาย 27% 5. การเดินออกกำลังกาย 27% และ 6. ร่วมกิจกรรมชุมชน 22% ตามลำดับ

ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุชาวไทยนั้น ผลสำรวจพบว่า 1. การใช้จ่ายเพื่ออาหาร 95% 2. การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ 78% 3. ใช้เงินซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 78% 4. ใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้า 73% 5. ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย 73% และ 6. การท่องเที่ยว 71% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังพบด้วยว่าสิ่งที่ผู้สูงวัยทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ เรื่องเงินและสุขภาพ โดยสามารถเรียงลำดับตามความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยของโลก ได้ดังนี้ 1. กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต 30% 2. กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย 25% 3. กลัวเสียความทรงจำ 24% 4. ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ 22% 5. กลัวการจากไปของคนในครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง 20% 6. กลัวความเจ็บป่วย 20% 7. กลัวถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว เหงา เศร้า 19% 8. กลัวไม่มีอิสระ 18% 9. กลัวตาย 16% และ 10. กลัวหูตึง / ตามองไม่เห็น 13%

ส่วนความกังวลใจของผู้สูงวัยในประเทศไทย พบว่ามีความกังวลใจใกล้เคียงกัน เรียงตามลำดับได้ดังนี้ 1. กลัวจะไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ 54 % 2. กลัวเจ็บป่วย 41% 3. กลัวเคลื่อนไหวทางร่างกายไม่ได้ 34% 4. กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต 32% 5. กลัวเสียความทรงจำ 27% 6. กลัวญาติและเพื่อนฝูงค่อยๆ จากไป 20% 7. กลัวสูญเสียสายตาและการได้ยิน 15% 8. กลัวถูกทิ้งให้ล้าหลังทางเทคโนโลยี 10% 9. กลัวผมหงอกและศีรษะล้าน 10% 10. กลัวถูกเบื่อหน่าย 10% 11. กลัวถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว 7% และ 12. กลัวไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ 7%

** การตลาด ฉบับ "ผู้บริโภครุ่นใหญ่" **
"ปัจจุบันนักการตลาดกว่า 79% ยังใช้ ‘อายุ’ เป็นตัวชี้วัดในการกำหนดตัวตนของผู้สูงวัย แทนที่จะศึกษาจากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง ความเข้าใจผิดเหล่านี้ทำให้เราไม่รู้จักผู้สูงวัยได้อย่างแท้จริง ไม่เข้าใจและยังเข้าไม่ถึงความรู้สึกนึกคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัย ทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและวางแผนต่างๆ ไม่ถูกทิศทาง" คำกล่าวส่วนหนึ่งจาก นายอิษณาติ

ดังนั้น การทำตลาดสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยจึงต้องมีหลายองค์ประกอบรวมกัน เพื่อให้สามารถตั้งรับและวางแผนการทำการตลาดได้ตรงตามความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทรงอิทธิพลกลุ่มนี้ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ได้แก่ 1. ตัวเลขอายุ กับคำว่า “แก่” ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ ผู้สูงวัยในไทยมองว่า “60” ไม่ได้แปลว่าแก่ แต่เป็น 65 ปีขึ้นไปจึงเรียกว่าแก่ 2. ผู้สูงวัยจะมีอำนาจทางการเงินและโอกาสแห่งอนาคต เช่น ในอังกฤษเม็ดเงิน 3.2 แสนล้านปอนด์ หรือกว่า 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนในไทยเองผู้สูงอายุถึง 95% พร้อมใช้จ่ายสำหรับอาหาร และ 73% พร้อมใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้าสำหรับตัวเอง เป็นต้น

3. อิทธิพลของผู้สูงวัยในโลกการเมือง ปัจจุบัน 3 ใน 10 ของประชากรโลกมองว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากเกินควร ในขณะที่ 1 ใน 3 ของคนไทยซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกเห็นด้วยว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากไปแล้ว 4. มุมมองทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนบุคคล ผู้สูงวัยมีความกังวลเป็นพิเศษใน 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องการเงิน และสุขภาพ ทำให้ในไทยกว่า 79% วางแผนทำงานต่อหลังอายุเกษียณเพราะกลัวว่าจะมีเงินไม่พอในช่วงวัยชรา

องค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยกำหนดทิศทางการตลาดในอนาคตให้กับสินค้าและบริการเกี่ยวกับผู้สูงวัยในอนาคตได้ เช่น โรงแรมสำหรับกลุ่มวัยเกษียณ, ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงวัย, ประกันสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย, เมดิคัลเพื่อผู้สูงวัย, บริการสปา, เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อผู้สูงวัย รวมถึงภาครัฐเองที่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้มากำหนดกลยุทธ์และวางแผนรับมือกับจำนวนประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้

ท้ายที่สุด ผลวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงหัวใจสำคัญว่า สังคมผู้สูงวัยจะนำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับคลื่นความเสี่ยงที่จะถาโถมมาอย่างไม่หยุดยั้ง ความเข้าใจอย่างสุดซึ้งและการเตรียมพร้อมอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และอุปถัมภ์การปรองดองของสังคมและคนในแต่ละช่วงอายุได้
กำลังโหลดความคิดเห็น