“สนธิรัตน์” รมว.พลังงาน ขอคุมสต๊อก B100 เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า CPO จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีมาตรการเติมสีตั้งแต่โรงงานสกัด CPO ที่จะนำมาผลิต B100 พร้อมให้ “พาณิชย์” เร่งตรวจสต๊อก CPO เพื่อให้รู้ปริมาณ CPO ชัดเจน ไม่ให้เกิดการปรับลดการผสมเป็นดีเซล B10 ในช่วง CPO ขาดแคลน ด้าน ปตท.พร้อมนำสเปก B100 มาตรฐานจามามาผสมเป็นดีเซล B7 และ B10 เริ่ม พ.ย.นี้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา B10 ปฏิรูปน้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วันนี้ (21 ต.ค.) ว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) คิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิต หรือคิดเป็นประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี ขณะที่ CPO เพื่อใช้การบริโภคจะอยู่ที่ 1 ล้านตัน/ปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย แต่ขณะเดียวกันได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางป้องกันการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ และการป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลน CPO ในอนาคตจนนำไปสู่การปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (B100) ในน้ำมันดีเซล B10 เป็นดีเซล B5 หรือ B7
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานขอเป็นผู้ดูแลสต๊อกไบโอดีเซล (B100) โดยจะมีการเติมสี (Marker) ในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า CPO จากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาผสมในน้ำมันดีเซล B10 เชื่อว่าถ้าควบคุมได้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดีขึ้น โดยจะเริ่มเติมสีใน CPO อย่างช้าวันที่ 1 ม.ค. 2563 ขณะเดียวกันก็ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งตรวจสต๊อก CPO เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า CPO และสามารถบริหาร CPO ให้เพียงพอต่อการผลิตดีเซล B10
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้เปิดสถานีบริการน้ำมันที่มีจำหน่ายดีเซล B10 แล้ว 60 แห่ง และต้นปีหน้าจะจำหน่ายทั่วประเทศ ทำให้มั่นใจว่าจะจำหน่ายน้ำมันดีเซล B10 ครบทุกปั๊มในเดือน มี.ค. 2563
ขณะเดียวกัน ได้ให้สถาบันวิจัย ปตท.ทดสอบประสิทธิภาพของ B10 ใช้กับรถยนต์ในการขับเคลื่อนบนถนนในประเทศไทยจริง โดยพบว่าน้ำมันดีเซล B10 ช่วยลดการเกิดปัญหาควันดำได้ 40% และเทียบเท่าการลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ 300 ตันต่อปี รวมทั้งไม่ส่งผลต่อสมรรถนะเครื่องยนต์เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล B7 อีกทั้งการปรับสเปก B7 ไปสู่ B10 ที่กำหนดให้ลดปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ หรือไขให้ต่ำลง จากเดิมไม่เกิน 0.7% ปรับเป็นไม่เกิน 0.4% ไปตามมาตรฐานสมาคมยานยนต์ญี่ปุ่น (จามา) แม้ว่าจะมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ ปตท.ก็พร้อมที่จะนำ B100 ที่มีปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ไม่เกิน 0.4% มาผลิตน้ำมันดีเซล B7 และ B10 ที่คลังน้ำมันพระโขนงตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไป ช่วยสร้างความมั่นใจให้แกาผู้บริโภค แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม
“รู้สึกสบายใจจากการบูรณาการครบวงจรของภาครัฐที่ส่งสัญญาณนโยบายดีเซล บี10 ที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการ ทำให้เห็นการเติบโตของการใช้ที่ชัดเจนในอนาคต แต่ก็ควรประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อดูแลเรื่องของการปลูกปาล์มไม่ให้มีผลผลิตมากเกินไป พร้อมนำเรื่องของดิจิทัลเข้ามาช่วย” นายอรรถพลกล่าว