บอร์ด กฟผ.ถกนัดแรกเบรกประมูลนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน พร้อมติดตามคืบหน้าการนำเข้าแบบตลาดจรเพื่อทดสอบนำร่องใช้กับโรงไฟฟ้าวังน้อยและบางปะกง 1.4 แสนตัน คาดจะได้รายชื่อผู้ชนะประมูล พ.ย.นี้ หวังนำเข้าให้ทันปีนี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เปิดเผยผลการประชุมบอร์ด กฟผ.นัดแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ กฟผ.ยกเลิกการประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 1.5 ล้านตันที่ก่อนหน้านี้ได้ผู้ชนะประมูลไปแล้ว คือ บ.ปิโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย เพื่อให้ กฟผ.นำเข้าแบบตลาดจร (Spot) ไม่เกิน 2 แสนตันเพื่อทดลองกับโรงไฟฟ้าวังน้อย และบางปะกงของ กฟผ.ไปก่อน ซึ่งขณะนี้ กฟผ.ได้ประกาศเชิญชวนเสนอราคาจำนวน 2 ลำเรือ (ลำละ 7หมื่นตัน) รวม 1.4 แสนตัน ซึ่งมีเอกชนยื่นเสนอราคา 41 ราย คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายใน พ.ย.นี้
“ขณะนี้ กฟผ.ได้เชิญชวนผู้ค้าแอลเอ็นจีเสนอราคาตลาดจรเพื่อจัดหาให้ กฟผ.ทดลองจำนวน 140,000 ตัน หรือ 2 ลำเรือ ลำละ 70,000 ตัน มีเอกชนสนใจยื่นเสนอราคารวม 41 ราย หลังจากนี้จะพิจารณาผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว) และคัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ชื่อผู้ชนะภายใน พ.ย.นี้ และในวันที่ 21 ตุลาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วาระสำคัญที่จะพิจารณาคือ การกำหนดกรอบเวลานำเข้าแอลเอ็นจี spot ว่าผู้ชนะประมูลจะนำเข้ามาทดลองได้ช่วงใด เพื่อไม่เพิ่มต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจนเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน” นายกุลิศกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมบอร์ด กฟผ.ได้หารือร่วมกับตัวแทนสหภาพ กฟผ.ถึงแนวทางการทำงานหลังจากนี้ โดยสหภาพฯ ต้องการให้บอร์ดสนับสนุนองค์การ ในฐานะประธานบอร์ดจึงยืนยันว่าพร้อมขับเคลื่อนไม่ทิ้ง กฟผ.ไว้ข้างหลัง และได้ขอให้สหภาพฯ สนับสนุนการทำงานของกระทรวงพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้าชุมชน นโยบายต่างๆ โดยจะหารือกับสหภาพฯ ทุก 2 เดือนเพื่ออัปเดตการทำงานร่วมกัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเจรจากับปิโตรนาส ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการและต้องรอผลการทดลองแบบตลาดจรก่อน ซึ่งปิโตรนาสก็สนใจนำเข้าล็อตนี้เช่นกัน หากผลทดลองนำเข้าเป็นไปได้ผลดีก็มีความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้านำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อ ส่วนผู้นำเข้าจะเป็นปิโตรนาส หรือเปลี่ยนผู้นำเข้าต้องดูสถานการณ์ราคาแอลเอ็นจีในขณะนั้น รวมทั้งข้อกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรด้วย
ส่วนการนำเข้าแอลเอ็นจีแบบตลาดจร 1.4 แสนตันเพื่อทดลองกับโรงไฟฟ้า กฟผ. โดยตั้งเป้าหมายได้ผู้ชนะภายในเดือนพฤศิกายนเพื่อนำเข้าและผลิตไฟฟ้าให้ได้ภายในปีนี้ เพราะหากล่าช้าขยับเป็นเดือนต้นปี 2563 อาจทำให้ต้นทุนแอลเอ็นจีขยับสูงขึ้นจากความต้องการใช้สูงขึ้นช่วงฤดูหนาวของสหรัฐอเมริกา และยุโรป