แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 มีมติให้ทบทวนโครงการ และให้กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จัดทำรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นสาระสำคัญของโครงการให้ครบถ้วนนั้น คาดว่าจะสรุปรายละเอียดตามที่ ครม.มีมติเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายในสัปดาห์นี้เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป
ทั้งนี้ ตามมติ ครม.ดังกล่าวได้ให้กลับมาพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ให้มีการศึกษาข้อมูลตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่ เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ และให้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ สศช. รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการไปพิจารณาประกอบการดำเนินการก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประมวลข้อมูลตามที่ ครม.ได้ตั้งข้อสังเกต พร้อมเอกสารประกอบ โดยเฉพาะในประเด็นว่าได้ดำเนินการคัดเลือกตามหลักการที่ ครม.อนุมัติหรือไม่ กรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนเพียง 1 ราย เป็นต้น โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
สำหรับผลการประมูลไอซีดี ลาดกระบังนั้น กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการ สัญญา 20 ปี มีมูลค่าลงทุนรวม 4,052 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้รับผลตอบแทนจากพื้นที่ 607,344 ตร.ม. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ยังไม่มีการยกเลิกการประมูลใดๆ เนื่องจากมติ ครม.ให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมชี้แจงกระบวนการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการยืนราคาของเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ส่วนจะต้องการยกเลิกประมูลที่ผ่านมาหรือไม่ ต้องรอหลังจากเสนอ ครม.พิจารณาก่อน
ส่วนการบริหารไอซีดีลาดกระบัง ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.มีสัญญากับเอกชน 6 รายในการบริหาร 6 สถานี ซึ่งสัญญาได้สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2554 โดยมีการต่อสัญญามาตลอด และเนื่องจากผู้รับสัมปทานรายใหม่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ ดังนั้นจึงให้เอกชน 6 รายเดิมให้บริการต่อไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการเดิมจะต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ซึ่งจะใช้แทนเป็นค่าปรับตามระเบียบเพื่อไม่ให้มีปัญหา