xs
xsm
sm
md
lg

“การบินไทย” ลุยขายตั๋ว “ไฮซีซัน” ช่วยลดขาดทุนปี 62-“ถาวร” สั่งทำแผนฟื้นฟูเสร็จใน 1 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้บอร์ดการบินไทยได้มีมติให้ทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปจากสมมติฐานเดิมที่ได้ศึกษาไว้ ทั้งตลาด การบริหารจัดการ โดยให้เวลา 6 เดือน ซึ่งบริษัทฯ จะต้องรายงานความคืบหน้าให้รับทราบทุกเดือนจนกว่าการทบทวนแผนจะแล้วเสร็จ ขณะที่ในระยะเร่งด่วน บริษัทฯ จะต้องทำแผนฟื้นฟูองค์กรและแผนบริหารธุรกิจฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

“ที่ผ่านมาการบินไทยต้องเผชิญปัญหาทั้งราคาน้ำมัน หรือการเปิดน่านฟ้าเสรีของประเทศไทย แต่ทั้งนี้ การเป็นจุดศูนย์กลางภูมิภาค จุดแข็งเรื่องวัฒนธรรมไทย ยังทำให้การบริการอยู่ในระดับที่ดี แม้ว่าจะมีการขาดทุน 2 หมื่นล้าน แต่เมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจของบริษัท เชื่อว่าหากทำจริงจังจะแก้ไขปัญหาได้”

ทั้งนี้ นายถาวรได้มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงและแนวทางบริหารจัดการ การบินไทย 6 ข้อ คือ 1. ให้ทำแผนฟื้นฟู และแผนธุรกิจฉบับใหม่ภายใน 30 วัน 2. ให้นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยรายงานความคืบหน้าการทบทวนแผนจัดหาเครื่องบินทุกเดือน 3. บริหารโครงสร้างองค์กร และพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายอย่างละเอียดรอบคอบ โดยใช้ KPI และระบบคุณธรรม โปร่งใส 4. รายงานสภาพปัญหาและการแก้ปัญหาภาวะกระแสเงินสดทุกเดือน 5. รายงานความก้าวหน้าศูนย์ซ่อม MRO อู่ตะเภาทุก 15 วัน 6. ขอทราบการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อ เช่น ค่าเสียหายจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ กรณีรออะไหล่ จนทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ, การจำหน่ายเครื่องปลดระวาง 19 ลำ


ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานบอร์ดการบินไทย กล่าวว่า สมมติฐานที่นำมาพิจารณาแผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำมีการเปลี่ยนแปลงการปรับปรุง ดังนั้นจะต้องทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้สอดคล้องกับธุรกิจการบินที่มีการแข่งขันสูงและสอดคล้องกับสถานะการเงินของบริษัท ซึ่ง รมช.คมนาคมได้กำชับให้บอร์ดกำกับ และกลั่นกรอง การปรับปรุงการจัดหาเครื่องบินและรายงานความคืบหน้าให้ทราบทุกเดือน โดยมีเวลาทำแผนภายใน 6 เดือน


“การตั้งสมมติฐานที่ไม่รอบคอบและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จะทำให้มีการตัดสินใจที่อาจกระทบต่อบริษัทในระยะยาว เครื่องบินเป็นเครื่องมือหลักในการหารายได้ สร้างความเข้มแข็งให้การบินไทยในระยะยาว และบอร์ดได้กำหนดเป้าหมายเป็น National Premium Airline สมมติฐานสำคัญ เช่น การเติบโตด้านท่องเที่ยว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไป ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัว จากสงครามการค้า ตอนที่ทำสมมติฐานแผน 38 ลำยังไม่มีเรื่อง Trade War เมื่อโลกเปลี่ยนแต่เรายังดึงดันใช้สมมติฐานเดิมก็อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้” นายเอกนิติกล่าว

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนท้ายของปี 62 จะมีแผนฟื้นฟูระยะสั้น ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะทำได้ตามแผน จะเน้นการขายตั๋วให้ได้มากที่สุดในช่วง High Season ที่จะถึงนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากที่สุด รวมถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Sale) มากขึ้น จากเดิมพึ่งเอเยนต์เป็นหลักแต่จะไม่ลดความสำคัญเอเยนต์ เพราะเป็นการสร้างสมดุล และปลายเดือน ต.ค.นี้จะเปิดตัวบริการชอปปิ้งออนไลน์ (e-Commerce) ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ 20-30 ล้านบาท/เดือน

ส่วนการควบคุมค่าใช้จ่ายจะมีการยกเลิกค่าใช้จ่ายบางตัวหรือเลื่อนออกไป รวมทั้งจะหารือกับพนักงานในการลดวันหยุด 1 วันเพื่อลดค่าแรงล่วงเวลา (โอที) ขณะที่ฝ่ายบริหารได้ลดค่าตอบแทนบางส่วนลงไปก่อนแล้ว

สำหรับการจัดหาเครื่องบิน จะต้องมีการวิเคราะห์ตลาดและพิจารณาเงินทุนอย่างละเอียด โดยสิ้นไตรมาส 2/62 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เกิน 8 เท่า จะต้องปรับลดหนี้และลดสินทรัพย์ (Asset) เพื่อให้แข่งขันได้ ซึ่งจะออกแบบโครงสร้างธุรกิจ และดูแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ จะวิเคราะห์การตลาดและเส้นทางการบิน โดยเฉพาะเส้นทางบินที่ขาดทุนว่าควรจะจัดการให้เหมาะสมอย่างไร นอกจากนี้ จะลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างลงอย่างน้อย 10% แต่ต้องไม่กระทบการให้บริการกับลูกค้า


ส่วนการทำแผนธุรกิจระยะยาว บริษัทจะเพิ่มเครื่องมือทางการตลาดมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจสนับสนุน เช่น ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุง คาร์โก้ และธุรกิจ e-commerce คาดว่าจะเพิ่มรายได้ในปี 2563 มากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการส่งต่อนักท่องเที่ยวให้

@ลุ้นปี 63 “ไทยสมายล์” เลิกขาดทุน

สำหรับสายการบินไทยสมายล์นั้น ในตารางการบินของฤดูหนาวนี้จะสามารถใช้งานเครื่องบินได้เฉลี่ยถึง 10 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน และช่วยลดการขาดทุนในปีนี้ ขณะที่คาดว่าปี 2563 อัตราการใช้งานเครื่องบินเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 10 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเชื่อว่าไทยสมายล์จะไม่ขาดทุน เป็นเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ของการบินไทยในภาพรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น