xs
xsm
sm
md
lg

“อิมแพ็ค” เปิดโมเดลขยายพอร์ต ดันเอฟแอนด์บีทะลุ 3 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - เปิดโมเดลการรุกเอฟแอนด์บีของ “อิมแพ็ค” สู่เป้าหมายรายได้ 3,000 ล้านบาทใน 3 ปีจากนี้ รุกหนักทั้งซื้อแฟรนไชส์เพราะช็อตคัตธุรกิจได้เร็ว-พัฒนาแบรนด์เอง หวังต่อยอดกับธุรกิจเดิมที่ให้เช่าพื้นที่

“อิมแพ็คฯ วางเป้าหมายของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไว้ว่าจะต้องผลักดันรายได้รวมของกลุ่มนี้ให้ได้ 3,000 ล้านบาทภายในช่วง 3 ปีจากนี้ จากปัจจุบันที่รายได้รวมอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 (ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม2563) ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 10% ของรายได้รวม”

นี่คือเป้าหมายที่ประกาศไว้โดย นายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด สิ่งที่คนทั่วไปรู้จักอิมแพ็คฯ ดีก็คือ การบริการพื้นที่จัดงานแสดงสินค้า งานเทรดแฟร์ คอนซูเมอร์แฟร์ งานบันเทิงต่างๆ และอื่นๆ ที่เมืองทองธานี ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของอิมแพ็คมากกว่า 60-70%

ขณะที่รายได้อื่นสัดส่วนยังน้อยมาก โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) มีเพียง 10% ส่วนกลุ่มโรงแรมประมาณ 10% และอื่นๆ เช่น บันเทิง ประมาณ 20%

เมื่อมองในมุมของการให้เช่าพื้นที่ อิมแพ็คฯ มีลูกค้าในการเช่าพื้นที่เช่าจัดงานทุกปีปีละมากกว่า 1,000 งาน มีเป้าหมายให้ยอดจัดงานเติบโตถึง 15-20% ต่อปีต่อเนื่องกันในช่วง 3 ปี จากปัจจุบันการใช้พื้นที่จัดงานเฉลี่ยอยู่ที่ 57% ซึ่งมีเป้าหมายให้มีการใช้พื้นที่จัดงานสูงถึง 70% ในอนาคต โดยมุ่งเน้นการขายงานขนาดเล็ก อยากให้ใช้พื้นที่ฮอลล์พื้นที่ห้องประชุมเล็กๆ ให้เต็มที่ด้วย ปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกลุ่มเช่าพื้นที่ 3,200 ล้านบาท

ทั้งๆ ที่ธุรกิจกลุ่มเอฟแอนด์บีนี้ อิมแพ็คฯ เองก็มีการดำเนินธุรกิจกลุ่มนี้มานานเช่นกัน และมีเครือข่ายร้านอาหารในการบริหารจัดการจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ของอิมแพ็คฯ เองกับนอกพื้นที่อิมแพ็คฯ ด้วย

ด้วยเป้าหมายดังกล่าว ทำให้อิมแพ็คฯต้องมีแผนในการรองรับเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้

นโยบายหลักของการขยายธุรกิจกลุ่มเอฟแอนด์บีคือ 1. การพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง 2. การซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์เข้ามาดำเนินการ ซึ่งสองโมเดลนี้จะเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน

ที่ผ่านมาอิมแพ็คฯ ยึดตามโมเดลนี้มาตลอด แต่ค่อนข้างจะเน้นไปที่การพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาเอง เช่น ร้านฟลาน โอเบรียนส์ ไอริช ผับ, ร้านอาหารไทยมโนราห์, ฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน, ร้านอีสาน จิ้มจุ่ม หรือร้านฮ่องกง สุกี้ เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่าแบรนด์ที่ทำเองจะเป็นการเติบโตไปเรื่อยๆ ไม่ได้เน้นขยายสาขามากนัก

ขณะที่การซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศนั้น ในอดีตมีบ้าง เช่น การซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นมาเปิดเช่นร้านอิโต-คาโจ และร้านสึโบฮาจิ มี 5 สาขา ซึ่งจะเปิดนอกพื้นที่อิมแพ็คฯ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดีจะพบว่าการพัฒาแบรนด์ตัวเองของอิมแพ็คฯ นั้นส่วนใหญ่แล้วจะมีความหลากหลาย แต่ก็มีเพียงแบรนด์ละ 1-2 สาขาเท่านั้นเอง ไม่ได้มีเป็นเชนเหมือนแบรนด์อื่น และส่วนใหญ่จะเปิดอยู่ในเครือข่ายพื้นที่ของอิมแพ็คฯ เป็นหลัก และเพิ่งจะขยายไปพื้นที่อื่นนอกพื้นที่อิมแพ็คฯ ในช่วงหลังนี้มากขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับแบรนด์ที่ขยายสาขามากกว่า 1 สาขาก็คือแบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์มาทั้งสิ้น

เดิมทีจุดเริ่มต้นของเอฟปแอนด์บี อิมแพ็คฯ เปิดให้บริการร้านอาหารภายในศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีร้านอาหารไทย ร้านอาหารจีน ร้านอาหารตะวันตก ร้านอาหารฟิวชัน และไอริช เรสเตอรองต์ กระทั่งปี 2555 ได้ขยายไลน์เปิดร้านนอกศูนย์ฯ ครั้งแรกเป็นร้านฟลาน โอเบรียนส์ ไอริช ผับ เอเชียทีค ต่อด้วยปี 2556 ได้ขยายไลน์เปิดร้านอาหารนอกศูนย์เพิ่ม “ฮ่องกง สุกี้” ตั้งอยู่ ณ โครงการสุโขทัย อเวนิว 99 เมืองทองธานี และในปีเดียวกันได้เพิ่มกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น 2 ร้าน ได้แก่ “สึโบฮาจิ” จากเมืองฮอกไกโด “อิโต-คาโจ” จากกรุงโตเกียว ร้านสไตล์ปิ้งย่างในย่านทองหล่อ ปัจจุบันกลุ่มร้านอาหารอิมแพ็คมีร้านอาหารรวมมากกว่า 22 ร้าน ทั้งในและนอกพื้นที่ศูนย์ฯ โดยแบ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารจีน, ร้านอาหารญี่ปุ่น, ร้านอาหารไทย, ร้านอาหารฟิวชัน, บาร์ แอนด์ คาเฟ่ เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่า จากนี้ไปอิมแพ็คฯ จะเพิ่มอัตราเร่งหรือโฟกัสในการซื้อแฟรนไชส์มากขึ้นแล้ว

ล่าสุดก็คือการขยายพอร์ตโฟลิโอในส่วนเครื่องดื่มคาเฟ่ คือการซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านกาแฟเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ จากฮ่องกงเข้ามาเปิดในไทย

“การซื้อแฟรนไชส์เข้ามาทำธุรกิจแทนที่จะลงทุนเองนั้นก็มีข้อดีเหมือนกัน เหมือนกับเป็นการที่เราซื้อเวลาหรือช็อตคัตธุรกิจได้เร็วขึ้นไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ อย่างน้อยก็เร็วขึ้น 7 ปี ถ้าต้องลงทุนเอง ต้องใช้เวลาเรียนผิดเรียนถูก แก้ไขไปเรื่อย แต่การทำเองก็มีข้อดีก็คือไม่ต้องเสียค่าการลงทุนมากโดยเฉพาะในเรื่องของแฟรนไชส์ ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ แต่โดยรวมแล้วก็มีข้อดีที่แตกต่างกันไป” นายพอลล์กล่าวให้ความเห็น

เขาเทียบให้ดูว่า ในอดีตการซื้อแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามา สิ่งที่ได้ก็คือ การได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการรักษาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การรักษามาตรฐานต่างๆ แต่ล่าสุดกับการซื้อแฟรนไชส์ร้านกาแฟเดอะคอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ จากฮ่องกงนี้ ก็หวังว่าจะได้รับโนว์ฮาวเรื่องการตลาด เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการ และการทำโซเชียลมีเดียต่างๆ

แต่การพัฒนาแบรนด์เองก็ยังมีอยู่เพื่อรักษาความสมดุลในเรื่องของการลงทุน ซึ่งล่าสุดในเดือนหน้า (พฤศจิกายน 2562 ) อิมแพ็คฯ เตรียมที่จะเปิดร้านอาหารไทยแบรนด์ใหม่อีกแบรนด์ที่พัฒนาขึ้นมาเอง ไม่ใช่แบรนด์เดิมที่มีอยู่แล้ว

งบลงทุนที่อิมแพ็คฯ ใช้ไปในแต่ละปี หรือในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท

การต่อยอดจากแฟรนไชส์ที่ซื้อมา เช่น ร้านกาแฟ มีความเป็นไปได้ที่จะนำกาแฟมาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งมาบริการลูกค้าที่เช่าพื้นที่ในการจัดงานได้ จากเดิมที่เรามีอยู่แล้วในส่วนของแคเทอริ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารที่ทำอยู่เดิมก็ล้วนแต่เป็นการเติมเต็มให้กับธุรกิจหลัก คือ การให้เช่าพื้นที่ทั้งสิ้น แต่จากนี้ไปจะกลายเป็นอีกธุรกิจหลักด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์ในการรุกเอฟแอนด์บีของอิมแพ็คฯ จึงน่าจับตามอง กับเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงของเอฟแอนด์บี





กำลังโหลดความคิดเห็น