กมธ.พลังงานตบเท้าหารือกระทรวงพลังงานสอบถามยิบกรณีซื้อปาล์มน้ำมัน (CPO) กฟผ. "สนธิรัตน์" แจงดำเนินงานตามมติ ครม.และ กปน. ซึ่งขณะนี้เหลือรับซื้อเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงอีก 1.33 แสนตันจะทำให้เสร็จ จากนั้นจะไม่ใช้แผนนี้อีกเพราะรัฐดันบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน เริ่ม 1 ม.ค. 63 แล้ว
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (9 ต.ค.) นายกิติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะได้เข้าหารือกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการได้ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ไปเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งทาง รมว.พลังงานได้ยืนยันว่า กฟผ.ได้ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้ดำเนินการให้ครบ 2 แสนตัน จากนั้นจะไม่มีการนำไปผลิตไฟฟ้าอีกต่อไปเนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ผลักดันการใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ให้เป็นน้ำมันพื้นฐานเริ่ม 1 ม.ค. 2563 ซึ่งจะสามารถดูดซับ CPO ได้มากขึ้น
"กระทรวงพลังงานได้ยืนยันว่าการดำเนินงานของ กฟผ.ที่ผ่านมาทำตามมติคณะกรรมการนโยบายน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (กปน.) ที่ได้เสนอ ครม.อนุมัติเพื่อเร่งดูดซับ CPO ระยะเร่งด่วนซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก 1.6 แสนตันจัดซื้อครบแล้ว และช่วงที่ 2 จำนวน 2 แสนตันจัดซื้อไปเพียง 6.6 หมื่นตันยังเหลือ 1.33 แสนตัน ทาง ครม.ได้ให้เร่งรัดซื้อให้ครบ ซึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่างดำเนินการหากหมดล็อตนี้แล้วกระทรวงพลังงานยืนยันว่าจะไม่มีอีก" นายกุลิศกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการนำ CPO ไปผลิตไฟฟ้าจึงไม่ดำเนินการที่โรงไฟฟ้ากระบี่ทั้งที่ระยะทางใกล้กว่า ในเรื่องนี้ตัวแทนของ กฟผ.ได้ชี้แจงว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ต้องเดินเครื่องผสมด้วยน้ำมันเตาเมื่อนำ CPO ไปร่วมผลิตจะทำให้ต้นทุนค่าไฟแพงกว่าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงที่เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่ต้องการสนับสนุนให้มีการใช้ดีเซลบี 10 นั้นเป็นการถาวรไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนไปมาเช่นอดีตนั้น ทาง รมว.พลังงานได้ยืนยันว่าเป็นนโยบายที่จะควบคุมดูแลในประเด็นนี้อยู่แล้ว โดยเมื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานวันที่ 1 ม.ค. 2563 ภายในไตรมาส 2 คาดว่าจะทำให้การใช้บี 10 อยู่ที่ 57 ล้านลิตรต่อวัน ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 20 เป็นน้ำมันทางเลือกให้แก่กลุ่มรถบรรทุกอีกด้วย และนโยบายดังกล่าวยังช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งสอดรับกับความเห็นของคณะกรรมาธิการฯ ที่ต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหานี้
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ขอรับทราบนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งกระทรวงพลังงานยืนยันที่จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และคลังที่จะจัดทำแพกเกจเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้ในช่วงปลายปีนี้ โดยกระทรวงพลังงานมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดแบตเตอรี่เป็นหลัก เป็นต้น
"กรรมาธิการฯ มองว่าอีวีจะเป็น Disruptive ด้านพลังงานที่กำลังมาเร็ว จึงต้องการกระตุ้นเกิดการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ทั้งในรูปของการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารสาธารณะ เรือสาธารณะ ให้มีการใช้เชื้อเพลิงไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้พลังงานเองก็เห็นด้วยและพร้อมจะสนับสนุน และทาง รมว.พลังงานยังได้แจ้งถึงแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยจะพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน" นายกุลิศกล่าว