xs
xsm
sm
md
lg

นัดใหม่! เที่ยงตรง 25 ต.ค. เซ็นไฮสปีด 3 สนามบิน “ศักดิ์สยาม” เชื่อทุกฝ่ายจะทำตามกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศักดิ์สยาม” เผย กก.คัดเลือกฯ ส่งหนังสือแจ้ง CPH นัดลงนามสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินใหม่เป็น 25 ต.ค. เวลา 12.00 น. ยันรัฐทำตามกฎหมายและขั้นตอนประมูล ไม่บีบเอกชน ทำตรงไปตรงมายึดผลประโยชน์ประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ว่าเมื่อวันที่ 8 ต.ค. คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประชุมและมีมติในการเลื่อนลงนามสัญญาออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. 2562 เวลา 12.00 น. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เนื่องจากต้องรอการเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ก่อน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) แล้ว

ส่วนการแต่งตั้งบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่นั้น ทาง สคร. กระทรวงคลัง ได้พิจารณารายชื่อบอร์ด ร.ฟ.ท. และส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว จะสามารถเสนอครม.ในวันที่ 15 ต.ค.เพื่อแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ได้ เพื่อให้เริ่มประชุมทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกำหนดวันที่ดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการบีบบังคับให้กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาหรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่เข้าใจคำว่าบีบบังคับ เพราะในขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้นจะมีเงื่อนไขเวลา วันที่ 7 พ.ย. 2562 เป็นวันสิ้นสุดการยืนราคา ดังนั้นจึงไม่ใช่การบีบบังคับ เพราะหากบังคับคงทำไปนานแล้ว เราดูในรายละเอียดของกฎหมาย และเงื่อนไขใน RFP โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการเจรจากับเอกชนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรื่องที่ทำมากกว่า หรือน้อยกว่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องความเข้าใจร่วมกันมากกว่า

ส่วนหลังลงนามสัญญาไปแล้ว สิ่งใดที่อยู่ในกฎหมาย อยู่ใน RFP ที่รัฐควรดำเนินการให้จะต้องเร่งดำเนินการ เช่น เรื่องการส่งมอบพื้นที่ ขณะนี้มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 72% โดยคณะอนุกรรมการฯ เร่งรัดโครงการที่บอร์ดอีอีซีตั้งขึ้น โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะประชุมในวันที่ 10 ต.ค.นี้ เพื่อดูรายละเอียดการส่งมอบพื้นที่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าพร้อม 72% อยู่ตรงไหนบ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถวางแผนในการก่อสร้าง ในจุดที่พร้อมส่งมอบได้ก่อน

ส่วนพื้นที่ที่ยังติดการรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้นจะให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ได้มาชี้แจงแผนการรื้อย้าย และงบประมาณที่ต้องใช้ ระยะเวลาในการรื้อย้าย ทั้งนี้เพื่อทำแผนการส่งมอบให้ผู้รับจ้างให้ชัดเจนได้ หลังจากมีการลงนามสัญญาต่อไป

“เรื่องเหล่านี้ต้องทำกันอย่างตรงไปตรงมา อยู่ในกรอบของกฎหมาย ผมย้ำมาตลอด ผู้ชนะการประมูลขอให้ทำตามกรอบกฎหมาย และอย่าทำในสิ่งที่ไม่เข้าใจ หากสงสัยให้ถามมา อย่าคิดเอง มีต้นแบบการประมูลโครงการรัฐ มีดำเนินการตามระเบียบราชการอย่างไรที่ไม่มีปัญหา”

อย่างไรก็ตาม ใน RFP เขียนไว้ชัดเจนว่า หากวันที่ 25 ต.ค. ทางผู้ได้รับคัดเลือกไม่มาลงนามสัญญาจะมีเงื่อนไขและต้องดำเนินการอย่างไร แต่ยังเชื่อว่าหากทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ ยึดตามกฎหมาย ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาก็สามารถเดินหน้าไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น