xs
xsm
sm
md
lg

หั่นต้นทุนสายสีส้ม! “ศักดิ์สยาม” สั่งกรมราง-รฟม.ถกเคลียร์ส่วนต่างดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ประชุมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 35.9 กม. มูลค่ารวม 122,041 ล้านบาท ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ตรวจสอบข้อมูลตัวเลขต้นทุนโครงการพบว่า ตัวเลขของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไม่ตรงกัน ซึ่งมาจากตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่นำมาใช้สำหรับการก่อสร้างงานโยธา โดยกรมรางยึดตัวเลขเดียวกับโครงการก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีนที่อัตรา 1.5%-1.6% ส่วน รฟม.อ้างอิงมาจากสำนักบริหารหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่อัตราประมาณ 2.5%

ดังนั้น ให้ไปดูว่าตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและถูกต้องเป็นเท่าไร รวมถึงต้นทุนอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประธาน โดยเรียกกรมราง, สนข. และ รฟม.มาร่วมประชุมในช่วงเช้าวันที่ 10 ต.ค. พิจารณาข้อมูลตัวเลขอีกครั้ง จากนั้นช่วงบ่ายตนจะนำข้อมูลเพิ่มเติมไปประชุมร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 11 ต.ค.ต่อไป

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตกนั้นเริ่มต้นใช้รูปแบบรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธาเองและให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) งานระบบและบริหารการเดินรถ ต่อมาปรับรูปแบบเป็น PPP 100% เนื่องจากรัฐมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนเพดานหนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งในปี 2563 เรื่องเพดานหนี้ไม่มีปัญหา โดยยังเหลืออยู่ที่ 11.5% ของงบประมาณประจำปี ทำให้เงื่อนไขข้อจำกัดในการลงทุนภาครัฐไม่มีปัญหา เพียงแต่ต้องการลดต้นทุนในการดำเนินโครงการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง

โดยการเปรียบเทียบต้นทุนจะต้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าการทำข้อมูลตัวเลขเพิ่มเติม และเป็นปัจจุบันมากขึ้นจะทำให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาเลือกรูปแบบการลงทุนที่ดีที่สุด ซึ่งได้ให้ข้อสังเกตถึงการทำโครงการที่เป็นบริการสาธารณะ หลักการคิดและพิจารณาให้ยึดผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นลำดับแรก และค่าโดยสารที่ถูกที่สุด


สำหรับกรณีรัฐแยกงานโยธาลงทุนเองนั้นจะทำได้รวดเร็ว เพราะสามารถเร่งรัดการก่อสร้างได้ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการนำไปผูกไว้กับงานเดินรถ เป็นสัญญาใหญ่ โดยกรมรางได้ทำตารางเวลา คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างได้ในปี 2563 และก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดเดินรถพร้อมกันทั้งสายสีส้มตะวันตก และตะวันออกในปี 2569

@ยืนยันไม่เอื้อ “ซิโน-ไทย” ยึดประโยชน์ประชาชนอันดับแรก

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแยกงานโยธาออกมาอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับเหมา โดยเฉพาะบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ไม่อยากให้มองไกลไปขนาดนั้น ยืนยันว่าในการพิจารณาโครงการนี้ดูว่าประชาชนได้ประโยชน์เป็นอันดับแรก ถึงจะมองที่รัฐและเอกชน ประเทศไทยเป็นหลักธรรมาภิบาล ดังนั้นจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

ซึ่งกรอบการพิจารณาและการเลือกรูปแบบนั้นต้องดูตัวเลขเป็นหลัก ซึ่งตนและรองนายกฯ อนุทินเห็นว่าตัวเลขที่เสนอไม่อัปเดต และเป็นคนละสถานการณ์ วันนี้เป็นปี 2563 ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องเพดานงบประมาณ หากใช้ข้อมูลและตัวเลขที่ไม่อัปเดตก็จะถูกร้องเรียนได้ และขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการพิจารณา

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กรณีที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองใช้รูปแบบเอกชนลงทุน ( PPP) 100% นั้นเนื่องจากเป็นระบบโมโนเรล ซึ่งระบบรถต้องสอดคล้องกับระบบราง ดังนั้นงานโยธาและระบบจึงต้องไปด้วยกัน ส่วนสายสีส้มเป็นระบบขนส่งมวลชนหนัก (Heavy Rail Transit System) ซึ่งงานโยธาและรางมีมาตรฐาน ซึ่งรถไฟฟ้าวิ่งได้ทุกยี่ห้อ ดังนั้นการก่อสร้างระหว่างงานโยธากับรางแยกกันได้

โดยหลักการเลือกระบบนั้นใช้เกณฑ์จำนวนผู้โดยสาร ซึ่งโมโนเรลผู้โดยสารเริ่มต้นที่ 5,000-40,000 คนต่อวัน ส่วนระบบ Heavy Rail จะเริ่มจาก 20,000 คนต่อวันขึ้นไป ซึ่งสายสีส้มด้านตะวันออกและตะวันตก ประเมินแล้วว่าจะมีผู้โดยสารมากกว่า 4 แสนคนต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้โดยสารเป็นล้านคนต่อวันในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น