xs
xsm
sm
md
lg

สงครามการค้าพ่นพิษ! นายจ้างส่งสัญญาณรัดเข็มขัดไม่รับคนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จับตาตลาดแรงงานไทยเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวหลังสงครามการค้าพ่นพิษฉุดส่งออกไทยที่ส่อแววปีนี้จะติดลบ 1.5-2% ห่วงปี 2563 ตลาดแรงงงานเสี่ยงหนักมากขึ้นจากนักศึกษาจบใหม่เข้ามาเสริมอีกกว่า 5.2 แสนคน นายจ้างเริ่มรัดเข็มขัดไม่รับคนเพิ่ม หันพึ่งเทคโนโลยีรับยุคดิจิทัล ชี้มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐจำเป็นต้องมีเพื่อพยุงผลกระทบภายนอก

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ปัญหาสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวคาดว่าจะมีผลให้การส่งออกของไทยปี 2562 มีโอกาสติดลบ 1.5-2% ซึ่งจะสะท้อนไปยังการจ้างแรงงานของไทยที่เริ่มชะลอตัวลง สิ่งที่ต้องจับตาคือความเสี่ยงของตลาดแรงงานปี 2563 จะมีมากขึ้นเมื่อนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบอีก 5.24 แสนคนช่วง มี.ค.-เม.ย. 63 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 9.27% อาจต้องประสบกับภาวะการว่างงานที่สูงขึ้น

“ตลาดแรงงานในภาคส่วนต่างๆ เช่น ส่งออก การผลิต การบริการ โลจิสติกส์ ค้าปลีกและค้าส่งขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัวเมื่อเทียกับปีที่ผ่านมา โดยมีการลดรับแรงงานใหม่ ไม่รับคนเพิ่มแทนคนงานที่ออกไป การลดกะทำงาน และบางส่วนมีการปรับใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เอไอ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การจ้างงานลดลงจึงเป็นสิ่งที่ต้องมองความเสี่ยงเอาไว้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ จึงยอมรับว่ารัฐบาลเองก็คงต้องประคับประคองด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการบริโภคภายใน” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ ผลกระทบที่มีต่อภาคแรงงานเริ่มเห็นสัญญาณการปิดโรงงานและการเลิกจ้างที่ชัดเจน เดือนกันยายนทั้งโรงานในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสมุทรสาครที่ปิดกิจการและมีการเลิกจ้างคน แม้แต่ในภาคบริการก็มีกรณีการเลิกจ้างพนักงานจํานวนมากของบริษัทแห่งหนึ่งให้เห็นแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเห็นได้อีกโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงงานที่มุ่งเน้นการส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง เป็นต้น แต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องติดตามใกล้ชิด

ปัจจุบันแรงงานไทยมีอยู่ประมาณ 37.6 ล้านคน คิดเป็น 56.5% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทั้งการส่งออก การลงทุน การบริโภค ลดลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตในปี 2562 จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อการจ้างงานทั้งในปีนี้และจะต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยเฉพาะในไตรมาสแรก โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานในระยะต่อไปที่สำคัญ ได้แก่ 1. การเริ่มสู่ยุคทิจิทัลที่เน้นโทคโนโลยีแทนคนเพิ่มขึ้น 2. เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

3. เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในวัฏจักรชะลอตัวที่คาดว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งแม้แต่จีนยังมีเศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดรอบ 20 ปี ขณะที่ไทยพึ่งเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนที่สูงทำให้การส่งออกเชิงเหรียญสหรัฐและเงินบาทหดตัวลง และ 4. การว่างงานของไทยที่ต่ำเป็นอันดับ 7 จาก 181 ประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยมีอัตราว่างงานเฉลี่ย 1.1-1.2% แต่แรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบและมีการเข้าโครงการสมัครใจลาออก หรือเออร์ลีรีไทร์ แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่นับว่าว่างงานจึงทำให้ไทยมีการว่างงานในเกณฑ์ต่ำแต่ไม่ได้หมายถึงรายได้ของคนในประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูง
กำลังโหลดความคิดเห็น