"กุลิศ"-"กกพ." ส่งสัญญาณทบทวนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนหลังนำร่อง 100 เมกะวัตต์แรกสุดเหงาประชาชนไม่สนใจ เหตุหวังติดตั้งเพื่อขายไฟเป็นหลักทั้งที่รัฐมุ่งให้ใช้เองก่อน เล็งเกลี่ยโซลาร์ฯ ตามแผนพีดีพีหมื่นเมกะวัตต์ให้โรงไฟฟ้าชุมชน คาดไม่เกินสิ้นปีได้ข้อสรุป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเกณฑ์การส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งคาดว่าภายในไม่เกินสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุป โดยเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าชุมชนจะมุ่งเน้นระบบผสมผสาน (ไฮบริด) ระหว่างเชื้อเพลิงหลักจากชุมชน อาทิ เศษวัสดุทางการเกษตร หญ้าเนเปียร์ และจะรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ดังนั้นจึงต้องมาพิจารณาทบทวนในส่วนของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) พ.ศ. 2561-80 ไว้ทั้งสิ้น 10,000 เมกะวัตต์ที่จะเกลี่ยมาเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชน
"ขณะนี้โซลาร์ภาคประชาชนกำหนดไว้ 1,000 เมกะวัตต์สำหรับโซลาร์หลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์รูฟท็อปซึ่งกำหนดจะให้ทยอยเข้าปีละ 100 เมกะวัตต์ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดให้มีการยื่นติดตั้งและผลิตนำร่อง 100 เมกะวัตต์แล้ว แต่ยอมรับว่าขณะนี้มีการยื่นน้อยมากจึงต้องมาดูว่าจะทบทวนอย่างไร โดยส่วนหนึ่งคงจะต้องให้เป็นโรงไฟฟ้าชุมชน" นายกุลิศกล่าว
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ.กล่าวว่า ยอมรับว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ได้มีการเปิดรับซื้อไฟเข้าระบบนำร่อง 100 เมกะวัตต์ โดยให้เจ้าของบ้านและอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งเข้าร่วมโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้เข้าสู่ระบบได้ในราคารับซื้อไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ที่เปิดให้มีการลงทะเบียนรับข้อเสนอตั้งแต่ พ.ค. 2562 มีผู้สนใจค่อนข้างต่ำมาก ทำให้ กกพ.กำลังพิจารณาทบทวนเร็วๆ นี้ และได้นำเสนอรายงานไปยังกระทรวงพลังงานเบื้องต้นแล้ว
"ยอมรับว่าหลักการต้องการให้ผลิตเองใช้เองเป็นหลักที่เหลือจึงจะขายผ่านระบบได้ แต่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าเป็นการเน้นผลิตเพื่อขายไฟ ดังนั้นคงอยู่ที่นโยบายรัฐว่าจะปรับแนวทางอย่างไร ซึ่งรวมถึงจะมีการเพิ่มอัตรารับซื้อค่าไฟหรือไม่" นายเสมอใจกล่าว