xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ลงนามกัลฟ์ เอ็มทีพีฯ ลุยท่าเรือฯ มาบตาพุดเฟส 3 “สมคิด” แย้มไฮสปีดเทรนอาจลงนามก่อน 15 ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สมคิด” “สุริยะ” สุดปลื้มท่าเรือฯ มาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) ลงทุน 4.79 หมื่นล้านบาทบิ๊กโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน “อีอีซี” แรกได้ฤกษ์ “กนอ.” ประเดิมลงนามร่วมทุน บ.กัลฟ์ เอ็มทีพีฯ เดินหน้าแล้ว “สมคิด” ลั่นดึงเชื่อมั่นนักลงทุนดันไทยฮับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการนำเข้าแอลเอ็นจีในภูมิภาค "สมคิด" แย้มไฮสปีดเทรนอาจลงนามร่วมซีพีก่อน 15 ต.ค. ลั่นไม่ได้กดดัน


วันนี้ (1 ตุลาคม) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (ร่วมทุนระหว่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด 70% กับ บ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด 30%) เพื่อพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ EEC Project List ที่ได้มีการลงนามร่วมลงทุนกับเอกชนที่ชนะประมูล เป็นโครงการแรกที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูงและการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในอนาคตที่จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและประคองเศรษฐกิจไทยให้อยู่ได้ ส่วนอีก 4 โครงการจะทยอยลงนามกับเอกชนต่อไป โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคาดว่าจะมีการลงนามได้ก่อน 15 ต.ค.นี้ และยืนยันว่าตนไม่ได้กดดันกลุ่มกิจการร่วมค้า บ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตรหรือกลุ่มซีพีให้ลงนามแต่อย่างใด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 (ช่วงที่ 1) มีมูลค่าลงทุนประมาณ 47,900 ล้านบาท การลงนามครั้งนี้ได้เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการและขยายพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุดส่วนถมทะเลเมื่อ 1 ต.ค. ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงานของไทยเพื่อรองรับการขนถ่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและแอลเอ็นจีซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จะต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ



น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าฯ กนอ. กล่าวว่า หลังลงนามแล้วขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตดำเนินการที่สำคัญ 4 ใบ ได้แก่ ใบอนุญาตถมทะเลกับกรมเจ้าท่า ขอโดย กนอ. ที่เหลือขอโดยเอกชน ได้แก่ ใบอนุญาตสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำ (ท่าเรือก๊าซฯ) จากกรมเจ้าท่า ใบอนุญาตนำเข้า และใบอนุญาตแปรรสภาพก๊าซแอลเอ็นจี จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นต้น

“ระยะแรกจะเป็นเรื่องของการถมทะเลที่จะใช้เวลา 3 ปีและสร้างท่าเทียบเรืออีก 2 ปี ซึ่งการลงนามครั้งนี้เป็นรูปแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน หรือ PPP NET Cost มีระยะเวลาสัญญาดำเนินการ 30 ปี ซึ่งการลงทุนจะแบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ ท่าเรือแห่งนี้จะรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568” ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว

นายสารัช รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า กัลฟ์ฯ จะทำการกู้เงินกับสถาบันการเงินในประเทศเป็นหลักเพื่อลงทุนในโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการทยอยนำเข้าแอลเอ็นจีระยะ 5 ปีข้างหน้า 5 ล้านตันต่อปี และตลอดสัญญา 30 ปีจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีรวม 20 ล้านตัน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.มีท่าเรือและคลังเพื่อรองรับนำเข้าแอลเอ็นจีของ ปตท. 2 แห่งอยู่แล้วทั้งที่มาบตาพุดและหนองแฟบ รวม 19 ล้านตันต่อปี ซึ่งอาจไม่เพียงพอ จึงต้องลงทุนในมาบตาพุดในการรองรับนำเข้าเพิ่มอีก 5 ล้านตันต่อปีในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น