xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม”บินถกพม่ามะรืนนี้ ปัดฝุ่นเขต ศก.พิเศษ“ทวาย” หวังลงตัวต้นปี 63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศักดิ์สยาม”เตรียมบินพม่า ถก 3 ฝ่าย 2-3 ต.ค.ขับเคลื่อนแผนพัฒนา”เขตเศรฐกิจพิเศษ ทวาย” เล็งหาข้อยุติให้ได้ในต้นปี 63 พร้อมเผยหารือ “เอดีบี” ขอพิจารณาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนหนุนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ในไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ประเทศพม่า ว่า กระทรวงคมนาคม และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้หารือร่วมกันเตรียมการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC) ครั้งที่ 9 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายไทยยังคงต้องการผลักดันให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นรูปธรรม และมีความสำเร็จตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ยุติ ทั้งแผนการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, แผนแม่บท, ระยะเวลาสิทธิพิเศษ เดิม 50 ปี บวกอีก 25 ปี เพียงพอหรือไม่ เพราะการลงทุนและการก่อสร้างนั้นใช้เวลามาก ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เริ่มการหารือในความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย พม่า และญี่ปุ่น จะได้ข้อยุติและทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฯ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ไม่เกินภายในต้นปี 2563 ซึ่งรัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมที่ประเทศไทยต่อไป

“ไทยนั้นมีความชัดเจนคือ ไม่เอาเปรียบ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องได้รับความเป็นธรรม มีความเข้มแข็ง และได้ใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การสร้างศักยภาพในการดำเนินการร่วมกัน ทั้งด้านการลงทุน และโลจิสติกส์ต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางประเทศญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดให้ปรับแผนแม่บทเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จากการเน้นอุตสาหกรรมหนักเป็นอุตสาหกรรมเบา และอุตสาหกรรมสนับสนุน แต่ยังไม่มีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปใดๆ ซึ่งเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นเพื่อเปิดเส้นทางการค้าและประตูเชื่อมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ (GMS)

@ ถกเอดีบีพิจารณาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เอกชนหนุนลงทุนเมกะโปรเจกต์

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ได้หารือกับผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank : เอดีบี) ถึงความคืบหน้าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของไทย ซึ่งรัฐบาลมีการดำเนินงาน 3 รูปแบบ คือ 1. รัฐบาลลงทุนเอง ซึ่งมีข้อดีที่มีต้นทุนต่ำ เพราะสามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยที่ต่ำได้ 2. รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ข้อดี ลดภาระงบประมาณ แต่มีข้อเสียที่มีต้นทุนสูง เพราะเอกชนจะกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ารัฐ และ 3. ตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (TFF)

ทั้งนี้ ตนหารือเอดีบีให้ช่วยพิจารณาดอกเบี้ยเงินกู้ให้เอกชนในการลงทุนในโครงการของรัฐบาล (PPP) ใน อัตราที่มีช่องว่างไม่แตกต่างจากที่รัฐบาลลงทุนเองมากนัก ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้นทุนโครงการลดลงแล้ว จะส่งผลให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น เมื่อโครงการเสร็จเร็วจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และหลายโครงการของไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียนอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น