น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – สิงหาคม 2562 (รวม 11 เดือน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 111 สายการบิน โดยมีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวมทั้งสิ้น 348,439 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 1,040 เที่ยวบิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 4.06 % มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 60 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ179,042 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.88 % และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 12.35 ล้านตัน ลดลง 9.93 %
ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และขนาดของเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่าเดิม สำหรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่ลดลงนั้น มีสาเหตุมาจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจการค้าของโลก
จากตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ทำให้ปัจจุบัน ต้องให้บริการผู้โดยสารเกินศักยภาพของ สนามบินที่ได้ถูกออกแบบการรองรับไว้ที่ 45 ล้านคนต่อปี ดังนั้นเพื่อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานการให้บริการ ทอท.จึงได้นำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการมาช่วยแก้ปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร โดยมีแผนที่จะดำเนินการในด้านต่างๆ
เข่น การปรับปรุงการให้บริการของเจ้าหน้าที่จุดตรวจค้น การปรับเปลี่ยนระบบตรวจค้นผู้โดยสารขาออกภายในประเทศจากแบบ Centralized Screening เป็น Concourse Screening และมีการเพิ่มจำนวนช่องตรวจค้น (Security Screening Lane) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหนังสือเดินทาง (Passport Control) โดยการใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Auto Emigration Service) รวมถึงมีแผนที่จะติดตั้งเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางเพิ่มเติม เป็นต้น
นอกจากนี้.มีแผนที่จะปรับปรุง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการผู้โดยสารในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจอดรถ โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารจอดรถโซน 1 พร้อมอาคารสำนักงาน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 400 คัน
การปรับปรุงอาคารจอดรถโซน 2-3 โดยได้ทำการติดสติ๊กเกอร์ล้อมเสาในบริเวณอาคารเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ ให้สวยงาม โดดเด่น ง่ายต่อการจดจำ การขยายพื้นที่ลานจอดรถโซน 6, 7, 8 และการปรับปรุงลานจอดรถระยะยาวโซน A โดยการติดตั้งหลังคาคลุมทุกช่องจอด
การก่อสร้างและปรับปรุงห้องสุขาภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินทั้งสิ้น 124 จุด ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วไปจำนวน 15 จุด การจัดหาเก้าอี้มาสำหรับบริการผู้โดยสารนั่งพักคอยเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น การเพิ่มเก้าอี้แบบ 3 ที่นั่ง จำนวน 362 ชุด ( 1,086 ที่นั่ง ) บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน ชั้น 4 การติดตั้งเก้าอี้ชนิดกึ่งเอนนอนเพิ่มเติม จำนวน 72 ตัว ติดตั้งให้บริการผู้โดยสาร บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน ชั้น 3 เพื่อบริการผู้โดยสารผ่าน ผู้โดยสารรอเปลี่ยนเครื่อง (Transit/Transfer)
และทอท.จะให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานนำร่องในการนำเอา AOT AIRPORT APPLICATION มาใช้ในการให้บริการ เพื่อบริหารจัดการท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการ โดยในเบื้องต้นแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะมีฟังก์ชันสำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้งานในหลายๆ ด้าน เช่น การตรวจสอบตารางเที่ยวบิน การให้ข้อมูลเส้นทางภายในอาคารผู้โดยสาร พร้อมนำทางไปยังจุดต่างๆ การให้ข้อมูลด้านบริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน การบริการข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยาน เป็นต้น
รวมถึง พัฒนาด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนิน “โครงการศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก” (Certify Hub) เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าภาคเกษตรโดยเพิ่มมูลค่าไปสู่ตลาดต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมกิจการการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ภาพรวมของประเทศอีกด้วย
ในระยะแรก มีโครงการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียผ่านช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane (PPL)) ก่อนการดำเนินโครงการศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก เปรียบเสมือนการให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ซึ่งสินค้าที่ใช้บริการโครงการ PPL จะได้รับการดูแลและจัดเตรียมขึ้นเครื่องโดยผู้ชำนาญโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าการเกษตรของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของอาเซียนต่อไป
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการครบรอบ 13 ปีในวันที่ 28 กันยายน 2562 โดยมีผู้โดยสารใช้บริการแล้วทั้งสิ้นกว่า 650 ล้านคน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งหมด 16.5 ล้านตัน ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งหมด 3.93 ล้านเที่ยวบิน
โดยปัจจุบัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Midfield Satellite) หรือ SAT 1 ก่อสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 216,000 ตารางเมตร ลานจอดอากาศยาน (Aircraft Parking Area) มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด โดยโครงการดังกล่าวมีก่อสร้างอุโมงค์พร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ให้บริการเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก กับอาคาร SAT 1 คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี