xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.จ่อประมูลสายสีแดงต่อขยาย”รังสิต-มธ.”ใน ธ.ค. 62 "ศักดิ์สยาม"สั่งวางฟีดเดอร์เชื่อมแก้รถติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟท.เตรียมประมูลรถไฟสายสีแดงเข้ม “รังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต” วงเงิน 6.5 พันล. ในธ.ค. 62 คาดเริ่มตอกเข็ม มิ.ย. 63 ตั้งเป้าเปิดให้บริการ เม.ย. ปี 66 ขณะที่ “ม.ธรรมศาสตร์”เสนอ ทำฟีดเดอร์ ระบบรอง เชื่อมเข้าสถานี แก้ปัญหาจราจรพื้นที

วันนี้ (27 ก.ย.) ผู้แทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ประชุม ร่วมกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต คณะ โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงฯ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง เข้าร่วม

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการจราจรโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (มธ. ศูนย์รังสิต) ติดขัดมากโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รับข้อเสนอของ มธ. ศูนย์รังสิตในแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ได้แก่ การสร้างสะพานข้ามทางรถไฟเพื่อใช้ถนนเลียบคลองเปรมประชากรเชื่อมเข้าสู่ทางพิเศษ เพิ่มจุดสัญญาณไฟจราจรบริเวณประตูเชียงราก 1 ขยายจุดกลับรถโดยเพิ่มช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 3214 ระหว่าง กม.3+630 และขยายสภาพทางหลวงหมายเลข 3214 ให้สมบูรณ์ในรูปแบบของ ULTIMATE DESIGN

ซึ่ง กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ ศึกษาเพิ่มจุดสัญญาณไฟจราจรบริเวณประตูเชียงราก 1 ร่วมกับ ทาง มธ.ศูนย์รังสิต เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต นั้น จากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA) โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต และคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท

ซึ่ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะประกวดราคา( E-Bidding) ในเดือนธันวาคม 2562 และจะเริ่มการก่อสร้างได้ในเดือนมิถุนายน 2563 และคาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2566 ซึ่ง โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต และการพัฒนาระบบขนส่งขนาดรอง (Feeder) ในพื้นที่โดยรอบพื้นที่ และภายใน มธ. ศูนย์รังสิต จะทำให้มีระบบการขนส่งที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟได้อย่างสะดวก และแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ มธ. ศูนย์รังสิตได้

สำหรับ รถไฟสายสีแดงช่วง บางซื่อ - รังสิต ซึ่งครม.อนุมัติ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 กรอบวงเงิน 59,888 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการ ก่อสร้างงานโยธา สัญญา 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ความคืบหน้างานก่อสร้าง 86.01% สัญญาที่ 2 งานโยธาทางรถไฟบางซื่อ - รังสิต ความคืบหน้างานก่อสร้าง 99.56% สัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกลและตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ - รังสิต ความคืบหน้างานก่อสร้าง 45.60% คาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น