“สุริยะ” ตะลุยเมืองรองโทยามะ ดึงลงทุนญี่ปุ่นมาไทย เน้นเอสเอ็มอีเทคโนโลยีสูง เปิดให้เจรจาออกแบบสิทธิประโยชน์เฉพาะราย (Taylormade) แก้ทุกอุปสรรคการลงทุน ด้านนักลงทุนญี่ปุ่นยังห่วงไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการหารือกับนักลงทุนญี่ปุ่นและผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามะ ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่มาลงทุนในไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมุ่งเป้าที่จะเดินสายเมืองรองเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา และได้ยืนยันนโยบายที่พร้อมจะเปิดให้มีการเจรจาเป็นรายบริษัทเพื่อแก้ไขอุปสรรคและสิทธิประโยชน์การลงทุน (Taylormade) เพื่อดึงการย้ายฐานการลงทุนของญี่ปุ่นมาไทยมากขึ้น
“ผมพร้อมที่จะให้นักลงทุนเข้ามาหาที่กระทรวงอุตสาหกรรมหากมีอุปสรรคลงทุนอะไรพร้อมคุยกันได้ ซึ่งนี่เป็นนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยู่แล้วที่ต้องการดึงการลงทุนเข้ามา” นายสุริยะกล่าว
ปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งมากกว่า 6,000 บริษัท และจากการหารือนักลงทุนญี่ปุ่นยังมั่นใจการลงทุนในไทยเนื่องจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีแผนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ที่จะเชื่อมไทยกับประเทศเทศกลุ่ม CLMV
ในส่วนของจังหวัดโทยามะนั้น ก่อนหน้าได้มีการลงนามกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกัน และปีนี้ดำเนินกิจกรรมเป็นปีที่ 3 ซึ่งมีบริษัทในจังหวัดโทยามะเข้าไปลงทุนในไทยแล้วทั้งสิ้น 65 บริษัท และตั้งเป้าหมายที่จะให้การลงทุนเพิ่มเป็น 100 บริษัทในปี 64
ส่วนการหารือกับผู้บริหารบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์สนั้น ฝ่ายมิตซูบิชิฯ ยังยืนยันขยายการลงทุนในไทยต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ยื่นขอบีโอไอลงทุนเรื่องรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว ขณะที่การหารือกับมิตซูบิชิ อิเล็คทริค เองก็ยืนยันที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตธุรกิจใหม่เพิ่มเติมซึ่งเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการในโรงงานด้วยเทคโนโลยีจากที่ปัจจุบันได้ใช้ไทยเป็นฐานผลิตเครื่องปรับอากาศและลิฟต์โดยสาร
สำหรับการหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งมีบริษัทชั้นนำจำนวน 33 บริษัท 46 รายเข้าร่วมหารือ โดยผู้บริหารบริษัทไอบีเอ็มได้เสนอแนะให้ไทยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบุคลากรเทคโนโลยีไอที ซึ่งกระทรวงฯ เตรียมประสานงานกับทุกส่วนโดยเฉพาะกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพบปะกับไคดันเรนทางนักลงทุนญี่ปุ่นได้ชื่นชมนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่ได้ชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีการเมืองที่เข้มแข็ง ต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงไทยต้องเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับเพื่อให้แรงงานตอบสนองยุค 4.0 ได้