xs
xsm
sm
md
lg

เปิดทัศนะ-มุมมอง สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลประเทศไทยให้ทันโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นานาทัศนะและมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ตั้งเป้าหมายและบทบาทให้สภาดิจิทัลฯ เข้ามาเป็น "ตัวกลาง" สำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและอุตสาหกรรมดิจิทัลและธุรกิจ ไปจนถึงประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในระดับ "หลอมรวม" สร้างองคาพยพด้านดิจิทัลทั้งระบบให้ประเทศไทยก้าวทันนานาประเทศที่ล้ำหน้าในเรื่องดิจิทัล

ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า การที่สภาดิจิทัลฯ จัดตั้งขึ้นมาทำให้ภาคเอกชนมีโอกาสที่จะเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัลที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศมากยิ่งขึ้น โดยการรวมกลุ่มภาคเอกชนให้ได้ช่วยเสนอแนะนโยบายภาครัฐไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ามากำหนดนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาในเรื่องการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสภาดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการ ทำให้เกิดธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศได้

รองประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวต่อว่า องค์กรนี้เป็นที่รวมของสมาชิกที่ประกอบด้วยสมาคมที่ดำเนินการในภาคอุตสาหกรรมด้านต่างๆ และมีนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการ มีบุคคลที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการ แตกต่างจากสมาคมเดิมที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมเฉพาะด้านออกไป เช่น สมาคมซอฟต์แวร์จะเน้นแต่พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หรือถ้าภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็จะดูเฉพาะเครือข่ายการสื่อสาร การได้มารวมตัวกันในรูปแบบสภาดิจิทัล ที่มีสมาคม นิติบุคคลต่างๆ มาร่วมกันพัฒนา นำศักยภาพของแต่ละสมาคม แต่ละผู้ประกอบการมาร่วมกันหล่อหลอม พัฒนาให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ม.ร.ว.นงคราญกล่าวด้วยว่า ในสภาดิจิทัลฯ ยังประกอบด้วยผู้ประกอบการแต่ละสาขาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งในโลกเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องนำเทคโนโลยีหลายด้านมาพัฒนาหลอมรวมร่วมกันให้เห็นภาพการบริการทางด้านดิจิทัล เกี่ยวข้องไปยังสาขาต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ ทั้งด้านธุรกิจดิจิทัล ไปจนถึงการสาธารณสุข เกษตร สังคม และภาคการศึกษา ให้เกิดการพัฒนาในระดับเศรษฐกิจ-สังคมประเทศจริงๆ ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแต่ละด้านมาช่วยกัน การมีสภาดิจิทัลฯ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะวันนี้ต้องไม่มีต่างคนต่างทำ กระจัดกระจายกันไป การร่วมมือเฉพาะบางโครงการอาจมีภาพไม่ชัดเจน มีภาพที่ทำเป็นเรื่องๆไป ดังนั้นสภาดิจิทัลฯ จะช่วยพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและเซกเตอร์ต่างๆ ให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น มีการร่วมมือมากยิ่งขึ้น สร้างพลังที่สูงขึ้นมากกว่าต่างคนต่างทำ

"สภาดิจิทัลฯ จะเป็นตัวกลางของภาคเอกชน ที่จะเข้ามารวมตัวร่วมกันคิดและสร้างส่วนที่เป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์เข้ามาพัฒนา โดยเป็นกลไกหนึ่งให้ภาครัฐมีนโยบายที่สามารถดำเนินการได้ตามยุทธศาสตร์ตรงกับอุตสาหกรรมนั้นจริงๆ ได้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์การตั้งสภาดิจิทัลฯ ที่ไม่ได้ทำเพื่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง เพราะลักษณะหน้าที่ของเราต้องสร้างกลไกร่วมมือในการผลักดัน และดำเนินการไม่ใช่แค่สมาชิกในสภาเราเอง แต่ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ สภาหอการค้า และสมาคมธนาคาร สมาคมภาคส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมในการดำเนินงาน โดยใช้ศักยภาพของดิจิทัลให้มีประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้ในระยะยาว" รองประธานสภาดิจิทัลกล่าว และว่า การทำงานจะมีกลไกตรวจสอบการดำเนินการ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลให้เรามีการตรวจสอบกันเอง ว่าเราจะทำกันด้วยมาตรฐานอะไร กติกาในการดำเนินงานอย่างไร ที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศ

ขณะที่ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม สภาดิจิทัลฯ กล่าวถึงแนวคิดการทำงานและบทบาทของสภาดิจิทัลฯ ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีมาเร็วและแรงมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรแต่ละครั้งจากดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบทั้งดีและเสีย กรณีเช่นนี้ สภาดิจิทัลฯ จะมีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยสังคมได้ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและใช้ประโยชน์ ดังนั้นมนุษย์คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลเช่นกัน ฉะนั้น การรวมตัวกันของสมาคม ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกระดับในวงการดิจิทัลเพื่อตั้งเป็นสภาดิจิทัลจึงถือเป็นการไหวตัวเร็วที่จะปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงรวมตัวกันเป็นสภาดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มฟอรัมสำคัญที่จะให้ผู้คนที่เกี่ยวเนื่องกันได้หารือในการทำงาน และผนึกกำลังได้มากขึ้นมากกว่าจะที่ทำงานกันแบบสมาคม หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะยกระดับเป็นสภาระดับชาติ ประโยชน์ของสภาดิจิทัลฯ ที่มีต่อสังคมในความเห็นของ "ดร.เพิ่มศักดิ์" จึงเป็นสภาที่เชื่อมโยงการทำงานของสังคม 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในสนามแข่งขันหรือภาคธุรกิจเดียวกัน มีเวทีได้มาปรึกษาหารือ ทำให้เกิดพลังร่วม และความคาดหวังให้เทคโนโลยีดิจิทัลของไทยก้าวไปสู่บทบาทที่เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก ก็จะมีโอกาสเป็นได้จริง 2. กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย สภาดิจิทัลฯ คือเวทีที่จะทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้คนในสังคมด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านการศึกษาในสังคมไทย สภาดิจิทัลฯ มีส่วนสำคัญในกระบวนการที่จะกระตุ้นด้านการศึกษา ทั้งการให้ความรู้แก่สังคมให้เข้าใจ เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล เรียกว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างชาญฉลาดและคุ้มค่า รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิต ครอบครัว และสังคม และ 3. กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล สภาดิจิทัลฯ จะมีส่วนสร้างโอกาสให้ผู้คนเหล่านี้ได้ส่งเสียงพูดสิ่งที่เขาห่วงใยและต้องการผ่านมาที่สภาดิจิทัลฯ เชื่อมโยงให้เขาได้สื่อสารถึงรัฐบาล องค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"ผมจึงเชื่อว่าสภาดิจิทัลเมื่อตั้งขึ้นมาแล้ว เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แล้ว น่าจะทำให้เกิดการทำงานที่ขับเคลื่อนดิจิทัลเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้แท้จริง" เพิ่มศักดิ์ฉายภาพว่า บทบาทเหล่านี้ของสภาดิจิทัลฯ จะช่วยสอดประสานให้สังคมทั้ง 3 กลุ่มสื่อสารกับรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพ

โดยภาพรวมมองว่าการแบ่งกลุ่มประเภทเทคโนโลยี 6 กลุ่มในสภาดิจิทัลฯ มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในขณะนี้เพื่อการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายและแผนที่จะยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลและสังคมไทย และสิ่งสำคัญคือ การสร้างความรู้สึกให้สมาคม สมาชิก และนิติบุคคลที่ร่วมอยู่ในสภาดิจิทัลมีความรู้สึกว่าเป็น เจ้าของ และรู้สึกที่จะต้องร่วมมือกันผลักดันความคิดและวิธีการใหม่ๆ เพื่อทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า

เขากล่าวต่อว่า สภาดิจิทัลฯ จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันเป้าหมายพัฒนาคนด้านเทคโนโลยีในฐานะเป็นตัวกลางทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ เพื่อกำหนดทิศทางความต้องการบุคลากรด้านนี้ พัฒนาคนในสายนี้เพื่อสู้กับนานาประเทศได้ โดยสภาดิจิทัลฯ สามารถผลักดันให้เกิดนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติจากทุกฝ่ายได้ เพราะลำพังให้รัฐทำอย่างเดียวอาจไม่เกิดแรงจูงใจ หรือสถาบันวิชาการทำอย่างเดียวก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

"ถ้าเราดูโครงสร้างสมาคม ตัวแทนไม่ได้มีมากน้อยไปกว่ากัน จะเห็นว่าเครือไหนยิ่งสมัครมามากยิ่งดี แสดงว่าตัวเองให้ความสนใจ ใส่ใจอยากจะมีส่วนร่วม ถ้าเราไม่สมัครเข้ามา ไม่มาช่วยบริหาร แต่คาดหวังว่าอยากจะได้ในสิ่งที่เราไม่ได้ลงมือลงแรง มันก็ยากที่จะทำให้เป็นไปได้อย่างนั้น วันนี้สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าความคิดดีๆ ที่ออกมา สุดท้ายจะเกิดประโยชน์ร่วม และเชื่อว่าการบริหารรูปแบบสภาดิจิทัลเป็น Open forum เพราะสภาดิจิทัลไม่ใช่องค์กรปิด เป็นองค์กรเปิด รับฟัง และตรวจสอบได้ ฉะนั้นเชื่อว่าผู้บริหารที่เข้ามาทำงานให้สภา ไม่ได้มาบริหารเพื่อหวังประโยชน์ แต่ต้องบริหารให้กิจการด้านดิจิทัลของไทยไปได้ หลอมหลวมให้เกิดพลังอย่างไร ผมเชื่อว่าสภาดิจิทัลยุคแรกสำคัญมากและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญได้ค่อนข้างมาก" ดร.เพิ่มศักดิ์ให้มุมมองปิดท้าย

ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านส่งเสริมสิทธิประชาชนอย่างทั่วถึง สภาดิจิทัลฯ เห็นสอดคล้องว่า โลกเรากำลังก้าวสู่โลกดิจิทัล ดังนั้นสภาดิจิทัลฯ จึงสำคัญต่อประเทศไทยและเป็นตัวขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ การเข้ามาเป็นกรรมการสภาดิจิทัลฯ เพื่อเป็นปากเสียงตัวแทนให้กลุ่มผู้บกพร่องทางร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะต้องการเข้ามาผลักดันให้เกิดเรื่องดิจิทัลเท่าเทียม หรือ Digital For All ให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนในสังคม ทั้งผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

“การทำงานที่ผ่านมาผมคิดว่าสภาดิจิทัลฯ เปิดกว้างที่จะให้ทุกส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม และสิ่งเดียวที่จะมีบทบาทช่วยขับเคลื่อน และเปลี่ยนประเทศไทยไปได้อย่างรวดเร็ว คือ ดิจิทัล ถ้าทำช้าก็ล้าหลังเขา เหลือสองทางเลือกไม่ไปข้างหน้าก็ถอยหลัง ดังนั้นสภาดิจิทัลฯ จึงดึงทุกฝ่ายเพื่อรวมพลังขับเคลื่อน เพราะเราหวังภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ ซึ่งถ้าทำงานสอดประสานได้ดีจะเปลี่ยนประเทศไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างรวดเร็ว ถ้าชักช้า เราจะเห็นประเทศอื่นแซงหน้าเราได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน" ศ.วิริยะกล่าว

ด้าน "รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา" หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาดิจิทัลฯ ให้มุมมองว่า สภาดิจิทัลฯ เป็นองค์กรสำคัญเฉกเช่นเดียวกับองค์กรด้านวิชาชีพอื่นๆ ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร เป็นต้น ซึ่งสมาคมเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพื่อดูแลพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นๆ ดังนั้นสภาดิจิทัลฯ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาอุสาหกรรมดิจิทัล และเพื่อเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่างภาครัฐ โดยกระทรวงดีอี กสทช. กับภาคเอกชน ที่มีผู้ประกอบการด้านดิจิทัล ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล โดยเมื่ออุตสาหกรรมด้านดิจิทัลได้พัฒนาขึ้นมาจนส่งผลให้แก่ผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์คือประชาชน สภาดิจิทัลฯ นี้จึงมีบทบาทเข้ามาทำหน้าที่ทั้งการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ พัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาสังคม ซึ่งหมายถึงประชาชนด้วย ถ้าประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้มากขึ้นจะยิ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเรื่องสาธารณสุข สามารถใช้การรักษาแบบดิจิทัลทางไกลได้ ไปจนถึงการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ที่สามารถทำได้ง่ายดายขึ้นผ่านออนไลน์ เหล่านี้คือการได้เห็นประชาชนใช้เทคโนโลยีเพื่อชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิต

รศ.ดร.เสรีกล่าวว่า ในระยะเริ่มต้นของการขับเคลื่อนสภาดิจิทัลฯ นั้น หากห่วงคำว่าสภาดิจิทัลฯ นี้จะถูกครอบงำ แปลว่าเรากำลังดูถูกประชาชน เพราะในโครงการมีคณะกรรมการจำนวนมากไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง จึงไม่สามารถฮั้วได้ เพราะแต่ละคนไม่ได้มาจากสาขาวิชาชีพเดียวกัน หากคิดว่าครอบตรงนี้ ตรงนั้นก็อาจจะไม่ยอม ในที่สุดการทำงานในสภาดิจิทัลฯ ย่อมเป็นการปรึกษาหารือกัน เป็นการเช็กแอนด์บาลานซ์กันจากการที่มีหลายสายในกรรมการนั่นเอง

นายนนทวัตต์ สาระมาน นายกสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ หรือ CIPAT หนึ่งในกรรมการสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า เมื่อมีสภาดิจิทัลฯ แล้วมีมุมมองที่อยากให้ขับเคลื่อนใน 2 ด้าน คือ

1. การแข่งขัน ประเทศไทยยังไม่เคยมีแบรนด์ดิจิทัลของตัวเองที่เกิดขึ้นด้วยความภาคภูมิใจของคนไทยในชาติบนเวทีโลกเลย เช่น ที่จีนมีหัวเว่ย หรือเกาหลีมีแบรนด์ซัมซุง ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ ถ้าขับเคลื่อนในเรื่องการสร้างแบรนด์ สร้างคนในชาติให้มีกำลังในการผลิตในด้านเทคโนโลยีที่สามารถส่งขายไปต่างประเทศได้ ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะกลับมาสู่ประเทศไทยได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ให้ความสนใจในด้านการสร้างแบรนด์ด้านเทคโนโลยี เพราะเราอาจยังไม่เคยทำงานซัปพลายเชนที่ร่วมกันแข่งขันด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดังนั้น ถ้ามีสภาดิจิทัลฯ และมีการจัดทัพที่แบ่งกันดูแลด้านเทคโนโลยี มีภาคส่วนที่มีความชำนาญในแต่ละด้าน เพื่อผลิตสร้างแบรนด์เทคโนโลยีขึ้นมา ซึ่ง CIPAT ดูแลด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์) มีความคาดหวังลึกๆ ว่าเมืองไทยควรมีแบรนด์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพราะเรามองว่าข้อมูลคือความมั่นคงของชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้นในส่วนที่เกิดขึ้นของข้อมูลในด้านดิจิทัล ด้านอินเทอร์เน็ต หรือการใช้งานของเราควรที่จะอยู่ในประเทศไทย ตรงนี้อาจเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ที่เกิดความภาคภูมิใจของคนในชาติ

2. เรื่องเศรษฐกิจ แน่นอนว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกวันนี้หนีไม่พ้นดิจิทัล ซึ่งจะสร้างให้เศรษฐกิจดีขึ้น ประกอบด้วย คน เทคโนโลยี และเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน ดังนั้นทั้งสามส่วนต้องสมดุลกัน

"ฉะนั้น สภาดิจิทัลฯ ต้องเป็นตัวบริหารจัดการในสองส่วนนี้ให้ไปพร้อมๆ กัน เรามีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกระจายตัวไปยังชุมชนเพื่อให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง โดยใช้ดิจิทัลเป็นหลัก เมื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเขาก็จะไม่มาที่ส่วนกลาง ชีวิตความเป็นอยู่ก็กลับไปสู่สังคม เป็นความคาดหวังที่ผมมีให้สภาดิจิทัลฯ ที่จะสร้างความสมดุลทั้ง คน เทคโนโลยี และเศรษฐกิจได้ร่วมกัน" นายนนทวัตต์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น