“พาณิชย์” เดินหน้า 3 นโยบายหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยมอบหมายทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เซลส์แมนขายสินค้าไทย กระตุ้นการส่งออก-การประกันรายได้เกษตรกรในพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด มั่นใจหนุนรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 4.5%-เร่งรัดภาคเอกชนก้าวทันยุคสมัย โดยเร่งรัดจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา GI เพิ่มมูลค่าสินค้า
วันนี้ (23 ก.ย.) นายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานสัมมนา The Next Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก จัดโดย ibusiness.co และธนาคารกรุงไทย ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ว่า ขณะนี้สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายแห่งได้ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จากเดิมเมื่อต้นปีอยู่ที่ 3.8% ลดลงมาล่าสุดเหลือ 2.8% ซึ่งเกิดจากปัจจัยลบภายนอกทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง และความไม่ชัดเจนกรณีอังกฤษจะออกจากอียูอย่างไร ทำให้การส่งออกไทยชะลอตัวลง ส่งผลกระทบมาถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวตามไปด้วย
ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวการณ์เช่นนี้จำเป็นที่ฟันเฟืองทุกตัวจะต้องหมุนไปพร้อมกันและทิศทางเดียวกัน จะหวังพึ่งพาตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การประกันรายได้เกษตรกร ฯลฯ
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 3 กลุ่มนโยบายที่จะเร่งรัดดำเนินการ คือ1. การสร้างรายได้จากฐานรากขึ้นไประดับบน (bottom-up) โดยกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรในพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ข้าว ครม.ได้อนุมัติและจะเริ่มจ่ายเงินล็อตแรก 15 ต.ค.นี้ให้เกษตรกร 3.9 ล้านครอบครัว, ปาล์มน้ำมันจ่ายเงินล็อตแรก 1 ต.ค.นี้ มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 3 แสนครัวเรือน และยางพารา จ่ายเงินล็อตแรกในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ แก่เกษตรกร 1.1 ล้านครัวเรือน รวมประกันรายได้เกษตรกรในพืชเกษตรเศรษฐกิจ 3 ชนิด มีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 5.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 19 ล้านคน ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรฐานรากเพิ่มขึ้น 3.5-3.8% ในปีนี้เชื่อว่าถ้ามีการประกันรายได้ฯ ครบพืชทั้ง 5 ชนิด เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 4-4.5%
นอกจากนี้ พาณิชย์ยังมีแผนพลิกฟื้นร้านค้าโชวห่วยที่มีอยู่ 4 แสนรายทั่วประเทศให้อยู่รอดภายใต้การแข่งขันกับการค้าออนไลน์ ร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนียนสโตร์) เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเรื่องการจัดรูปลักษณ์ร้านค้าใหม่ ตั้งแต่การจัดวางสินค้าและปรับปรุงสต๊อกสินค้าด้วย พร้อมทั้งนำสินค้าโอทอปไปวางจำหน่ายในร้านโชวห่วย และจัดหาเงินทุนให้ด้วยผ่านเอสเอ็มอีแบงก์
2. วางนโนบายจากบนลงล่าง (top-down) โดยจะเร่งรัดการส่งออกโดยให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศในการนำสินค้าไทยไปจำหน่าย ซึ่ง รมว.พาณิชย์ได้นำคณะข้าราชการและเอกชนไปจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สามารถขายมันสำปะหลังได้ 2.68 ล้านตัน ส่งมอบภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท และเตรียมเดินทางไปอินเดียในสัปดาห์นี้เพื่อเจรจาจำหน่ายยางพาราและน้ำมันปาล์มด้วย
นอกจากนี้ พาณิชย์จะเร่งรัดการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ อาทิ การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ระหว่างอาเซียน กับ 6 ประเทศคู่เจรจา คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้แล้วเสร็จในปีนี้ ทำให้เป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดในโลก มีประชากรรวม 3.5 พันล้านคน มี GDP รวมกันมูลค่าถึง 1,500 ล้านล้านบาท รวมทั้งเจรจาเขตการค้าเสรีอื่นๆ ที่ค้างท่อด้วย
และ 3. ภาคธุรกิจไทยจะต้องก้าวไปข้างหน้าให้ทันยุคเศรษฐกิจทันสมัย เช่น ไบโออีโคโนมี กรีนอีโคโนมี และครีเอทีฟอีโคโนมี เป็นต้น โดยพาณิชย์จะเข้าไปมีส่วนช่วย อาทิ การเร่งรัดจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าไทย โดยมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดไปดำเนินการสินค้าไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อจะได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา GI เป็นต้นเพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
คำต่อคำ : ดร.สรรเสริญ สมะลาภา กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ งานสัมมนา NEXT Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ท่านผู้บริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ท่านผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ลูกค้าธนาคารกรุงไทย ตลอดจนสื่อมวลชนทุกท่าน
ก่อนอื่นต้องขออนุญาตขอโทษแทนท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ด้วยที่ไม่ได้มาแสดงปาฐกถาได้วันนี้ ปกติงานที่ท่านจะมีโอกาสพบผู้ประกอบการอย่างทุกท่าน ท่านจะให้ความสำคัญมาก จะไม่เคยพลาด แต่บังเอิญวันนี้ท่านมีภารกิจที่ จ.พังงา ช่วงนี้ ในขณะที่ผมปาฐกถาอยู่ ก็มีการประชุมในเรื่องของนโยบายประกันรายได้ ร่วมกับพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันที่พังงา และหลังจากนี้ท่านก็จะมีภารกิจดูแลในเรื่องของร้านธงฟ้าต่อที่ จ.พังงา ก็ต้องกราบขออภัยแทนท่านด้วยที่ไม่ได้มาในวันนี้
ผมคิดว่าที่เรามาสัมมนากันในวันนี้ ทั้งผม และท่าน เรามาฟังปาฐกถาในเรื่องของนโยบายของรัฐบาล เรามาร่วมสัมมนาระดมความคิดเห็น เพราะว่าท่านทั้งหลายรวมทั้งผมด้วย มีความเป็นห่วงในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือว่าอยากจะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงทิศทางในการบริหารของ 2 กระทรวงไปแล้ว อีกสักครู่ผมคิดว่าท่านสุริยะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะมากล่าวกับท่านด้วย
เราเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะตั้งมือรับอย่างไร ปัญหาเศรษฐกิจตอนนี้ผมคิดว่าทุกท่านก็ทราบดีอยู่ มาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก หลายสำนักงานพยากรณ์เศรษฐกิจก็ลดอัตราการขยายตัวที่คาดการณ์สำหรับปี 2562 ลงมาอย่างเป็นลำดับ
จำได้ว่าเมื่อประมาณต้นปีบอกว่าจะขยายตัว 3.8% พอมาสัก 2-3 เดือนหลังจากนั้นเหลือ 3.3 เหลือ 3.0 ตอนนี้ทางสำนักพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจบอกว่าเหลือ 2.8 แล้ว ปัญหามาจากภายนอกเป็นหลัก เรามีทั้งในเรื่องของการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทะเลาะกันยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่
เรามีในเรื่องของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง เรามีในเรื่องของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ก็ชะลอตัวลงด้วย และที่สำคัญยังไม่มีความชัดเจนว่าอังกฤษจะออกอย่างไรจากสหภาพยุโรป เงื่อนไขเป็นอย่างไร ยังไม่มีการตกลงที่ชัดเจน ทั้งหมดทำให้การส่งออกของเราชะลอตัวลง และเมื่อการส่งออกชะลอตัวลง หลายท่านที่เป็นผู้ประกอบการก็รู้อยู่ การลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัวลงตามการส่งออกที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน
เหตุนี้ผมคิดว่า การที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวการณ์เช่นนี้ ฟันเฟืองทุกตัวที่เป็นกลไก ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต้องหมุนไปพร้อมๆ กัน จะหวังพึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ท่านอาจจะหวังพึ่งว่ากระทรวงการคลังอัดฉีดเงินเข้าไปอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะหวังพึ่งเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ จะไปทำประกันรายได้สินค้าเกษตรอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะหวังพึ่งเฉพาะภาคท่องเที่ยว ที่เราคิดว่าเป็นพระเอกมาตลอดอย่างเดียวก็ไม่ได้ ทุกอย่างจะต้องหมุนไปในทางเดียวกัน และหมุนพร้อมๆ กัน
รายได้ของพี่น้องประชาชนจะต้องมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ได้มากขึ้นแล้ว เงินนั้นจะนำไปซื้อสินค้าและบริการที่ทุกท่านทั้งหลายผลิตขึ้นมา ท่านก็จะมีกำไรมากขึ้น รายได้ของผู้ประกอบการก็ต้องมากขึ้น เพราะเมื่อรายได้ผู้ประกอบการมากขึ้นแล้ว ท่านก็จะมีเงินเพียงพอที่จะไปจ่ายเงินเดือนไปเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานของท่าน การส่งออกจะต้องขยายตัวมากขึ้น เพราะเมื่อส่งออกขยายตัวแล้ว บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจส่งออกนั้น ก็จะนำเงินนั้นมาซื้อวัตถุดิบภายในประเทศ เป็นห่วงโซ่ต่อๆ กันไป ฉะนั้น ฟันเฟืองในเศรษฐกิจจะต้องหมุนไปพร้อมกัน
สำหรับงานของกระทรวงพาณิชย์เอง เราดูงานทางด้านเศรษฐกิจในหลายมิติด้วยกัน แล้วทุกมิติก็เป็นฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของเราอยู่หลายเรื่อง กระทรวงพาณิชย์ดูอะไรบ้าง ดูราคาสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ดูราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ดูแลทั้งเรื่องการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ทำแม้กระทั่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จนไปถึงงานกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องของการพัฒนาก็คือในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจยุคใหม่ให้เจริญก้าวหน้า
ด้วยเหตุนี้ ท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เมื่อครั้งเข้าไปมอบนโยบายในกระทรวงพาณิชย์ก็ได้กำหนดนโยบายให้ฟันเฟืองต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลอยู่หมุนไปพร้อมกัน แบ่งเป็นกลุ่มนโยบาย 3 กลุ่มหลักๆนโยบายกลุ่มแรก เป็นการสร้างรายได้ในฐานราก เพื่อที่รายได้นั้นจะขึ้นไปข้างบน มาถึงห้างร้านธุรกิจที่ท่านประกอบการอยู่ ขึ้นไปก่อนนั้น ขึ้นไปถึงระบบธนาคารขึ้นไป แต่เริ่มจากข้างล่างก่อน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Bottoms Up จากล่างขึ้นบน
ตัวแรกที่สำคัญที่สุด ก็คือนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร ทุกท่านติดตามข่าวก็คงจะทราบ เรามีประกันรายได้ในเรื่องของสินค้าข้าว เรามีปาล์มน้ำมัน เรามียางพารา เรามีมันสำปะหลัง เรามีประกันรายได้ข้าวโพด
หลักการง่ายๆ ในเรื่องของการประกันรายได้ ก็จะมีราคาเป้าหมายที่คำนวณออกมา รวมทั้งต้นทุน รวมทั้งค่าขนส่ง รวมทั้งกำไรที่เกษตรกรควรจะได้ แล้วนำมาหักลบกับราคาตลาดที่เป็นอยู่ ส่วนต่างเท่าไหร่ก็จ่ายชดเชยให้กับเกษตรกรเท่านั้น เหมือนกันหมดทั้ง 5 ตัวในเรื่องของการประกันรายได้
ข้าวหักผ่าน ครม.แล้ว เงินล็อตแรกจะออกวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ในเรื่องของนโยบายประกันรายได้ข้าว 3.9 ล้านครัวเรือน ท่านสงสัยว่า 3.9 ล้านครัวเรือนคิดเป็นจำนวนคนเท่าไหร่ ก็คงประมาณสัก 3-3.5 ก็จะออกมาเป็นจำนวนคนที่ได้รับประโยชน์ตรงนี้
ปาล์มน้ำมัน ผ่าน ครม.แล้วเหมือนกัน เงินล็อตแรกจะออกอีกไม่นาน วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ 3 แสนครัวเรือน ยางพารา จริงๆ สินค้ายางนี้กระทรวงเกษตรเป็นเจ้าภาพหลัก บริหารงานโดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน แต่ว่าผมก็ขอถือโอกาสนำมาพูดไว้ที่เดียวกันเพราะว่าเป็นนโยบายในเรื่องของประกันรายได้เหมือนกัน
เงินจะออกคาดว่าวันที่ 15 ธันวาคม เกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้ 1.1 ล้านครัวเรือนด้วยกัน ในเรื่องของมันสำปะหลัง ในเรื่องของข้าวโพด ที่เรากำลังจะเคาะต่อไปจากนี้ว่าเกณฑ์ในการประกันรายได้เป็นอย่างไรบ้าง ประกันที่ราคาเท่าไหร่ จำนวนครัวเรือนเท่าไหร่ แต่เฉพาะ 3 ตัวแรกที่ได้บอกไปก็คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มีเกษตรกรรวมกันที่ได้รับผลประโยชน์จากข้าว ปาล์มน้ำมัน และยางพารา 3 ตัวนี้ถึง 5.3 ล้านครัวเรือน คูณออกมาเป็นระดับ 19 ล้านคนด้วยกัน
ประชากรในประเทศประมาณ 70 ล้านคน อันนี้ 19 ล้านคน เรามุ่งจะยกระดับรายได้ของเกษตรกรฐานรากให้ขึ้นมา ผมเพิ่งอ่านเจอเมื่อไม่นานมานี้ สำนักวิจัยของกสิกรไทย เขาไปทำการวิจัยออกมาว่าเอาเฉพาะ 3 ตัวซึ่งคาดว่าเงินจะออกเร็วๆ นี้ ในเรื่องของข้าว ในเรื่องของปาล์มน้ำมัน ในเรื่องของยางพารา รายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เขาก็บอกมาว่า ถ้า 3 นโยบายที่ออกไป อัตราการขยายตัวของรายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 3.5-3.8% ในปี 62 ถึงสิ้นปีนี้ ปีหน้าว่ากันอีกรอบ แต่เฉพาะ 3 ตัว ยังไม่ได้รวมมันสำปะหลัง และข้าวโพด ที่กำลังจะเคาะออกมาจากนี้ ผมคิดว่าถ้ามีของพืชหลักเข้ามารายได้เกษตรกรที่เขาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.8% มันทะลุ 3.8 เป็น 4 เป็น 4.5% แน่ๆ
อันนี้เป็นมาตรการหลักที่ผมคิดว่าท่านผู้ประกอบการทุกท่าน โดยเฉพาะลูกค้าธนาคารกรุงไทยที่อยู่ที่นี่ ถ้าท่านประกอบธุรกิจทำสินค้า ทำรายการ ฟังแล้วก็อาจจะยิ้มออก เพราะว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเรากำลังจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแปรกลับมาเป็นเงินที่สะพัดมาซื้อสินค้า และบริการของท่าน
นอกจากในเรื่องของการประกันรายได้แล้ว โดยเรามุ่งเน้นพืชเกษตร 5 ตัวหลัก ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ดูแลพืชตัวอื่น เช่น ลำไย พืชเกษตรอื่นๆ ก็ดูแลเช่นเดียวกัน แต่เราดูแลด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ตอนนี้ท่านกินลำไยก็จะทราบครับ ราคาลำไยตอนนี้ขึ้นแล้ว เรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านจุรินทร์ลงไปลำพูนไปดูด้วยตัวเอง ปัญหาของลำไยคือ จะมีล้งจากจีนมาซื้อ แล้วก็เก็บลำไยจากเราไปขายต่อที่ประเทศจีน
แต่ปัญหาหลักของลำไย คือ การประกาศราคาของล้งจีนที่มารับซื้อต่อเกษตรกรเขาไปประกาศเอาช่วงเย็นมันเป็นปัญหาของเกษตรกร เพราะพอประกาศช่วงเย็น หมายถึงว่าเกษตรกรต้องตัดลำไยออกจากต้นไปก่อน และพอไปถึงหน้าล้ง ราคาเท่าไหร่ก็ต้องบังคับขายกันเป็นเท่านั้น ไม่ขายวันนี้พรุ่งนี้ก็ต้องเน่าเสียแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องขาย ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย เป็นสาเหตุให้พี่น้องชาวสวนลำไยมีรายได้ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ท่านไปดูด้วยตัวเองครับ พบปัญหานี้แล้วก็บอกประกาศให้ล้ง แทนที่จะติดราคาตอนเย็นปรับเปลี่ยนมาใหม่เป็นติดราคาตอนเช้า สอบถามไปที่ล้งจีนที่โน่นว่าที่ตลาดของเขาปิดราคาตอนกี่โมง เขาก็บอกว่าของเขาติดราคาตอน 08.00 น. ประเทศไทยของเราช้ากว่าจีนชั่วโมงหนึ่งใช่ไหม ของเราก็ควรจะติดได้ 09.00 น. เปลี่ยนวิธีอย่างนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เส้นผมบังภูเขา แต่ว่าเกษตรกรทุกท่านที่โน่นยิ้มหน้าบานกันเป็นแถว เพราะเขามีโอกาสดูราคาก่อน ติด 9 โมงเช้าเขาไปดูราคา เขาก็บอกว่าราคาถูกไป วันนี้เขายังไม่ขาย เขายังไม่ต้องตัดลำไยออกจากต้น พอพรุ่งนี้ดูราคาใหม่ ราคายังไม่ขึ้นก็ยังไม่ตัด
ปรากฏว่ามันกลายเป็นว่าเป็นการบริหาร Supply ของลำไย เพราะราคาต่ำกว่าไม่ตัด Supply น้อย เขาก็ต้องเสนอราคาให้มันสูงกว่าถึงจะได้ลำไย มะรืนนี้ปรากฏลำไยราคาขึ้นแล้ว พอใจตัดไปขาย วิธีการอย่างนี้เราได้ใช้กับพืชเกษตรอีกหลายๆ อย่าง แต่ลำไยก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง และเป็นกรณีแรกๆ เลยที่ท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ไปดู และบริหารจนสำเร็จ จนขณะนี้ราคาลำไยขึ้นมาแล้ว
ยังมีอีกหลายต่อหลายเรื่อง มะพร้าว ข้าวโพด จะมีวิธีการบริหารแตกต่างกันออกไป เพื่อดูแลพี่น้องชาวเกษตรกร แล้วก็มีหลายอย่างราคาขึ้นมา มะพร้าว ข่าวล่าสุดว่า ณ เวลานี้ราคาสูงสุดในรอบ 5 ปี
ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีกำลังซื้อเข้ามาธุรกิจห้างร้านต่างๆ จะมีผลประกอบการมีกำไรที่ดีขึ้น
อีกนโยบายหนึ่งที่เป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งท่านสนธิรัตน์ก็กล่าวนำไปสักครู่ เป็นนโยบายทางเรื่องของพี่น้องฐานรากเช่นเดียวกันในเรื่องของการค้าโชวห่วย ในเรื่องของการค้าออนไลน์ ทุกวันนี้ร้านโชวห่วยของเราครับเจอศึกหนักทั้ง Modern Trade ทั้งออนไลน์ ทั้งคอนวีเนียนสโตร์ แต่ว่าร้านโชวห่วยที่มีอยู่ในประเทศไทยเวลานี้มีถึงขนาด 4 แสนราย ท่านเชื่อหรือไม่
กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะต้องไปพลิกฟื้นโชวห่วยเหล่านั้นให้อยู่รอด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป เพราะอะไร 4 แสนรายที่อยู่ทั่วประเทศ จะเป็นนายหน้า จะเป็นชั้นวางของให้กับธุรกิจอย่างพวกท่านเอาไปขาย กระทรวงพาณิชย์จะทำอะไรกับโชวห่วยเหล่านั้น เราจะเข้าไปช่วยหลายรูปแบบด้วยกัน เริ่มตั้งแต่รูปลักษณ์เลยครับ โชวห่วยที่ท่านเห็นตามสถานที่ต่างๆ อาจจะเก่าแก่ 10-20-30 ปี ไม่ยอมปรับรูปลักษณ์ เพราะว่าเขาชินของเขาแบบนั้น แต่ว่าเราจะปรับรูปลักษณ์ก่อน
อย่างแรกตั้งแต่วางผังในร้าน ผังในสินค้าในร้านตรงไหนวางอะไร เราจะมีชั้นวางของจัดเป็นสัดส่วน เราจะมีโปรแกรมไปปรับปรุงร้านในเรื่องของสต๊อกสินค้า ในเรื่องของบัญชีให้โชวห่วยทำโปรแกรมง่ายๆ แต่ได้ประโยชน์ เราจะหาสินค้าที่ขายดีไปนำเสนอ โดยเฉพาะสินค้าชุมชนที่มาจากชุมชนอื่น หรือสินค้า OTOP เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ต่างจังหวัดด้วย
และสุดท้าย เราจะแสวงหาเงินทุนด้วยเป็นตัวกลางในการติดต่อลงทุนซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองมีโครงการนี้อยู่แล้วทำร่วมกับธนาคาร SMEs เป้าหมายก็จะเคาะกันไป ประชุมกระทรวงพาณิชย์เที่ยวหน้าจะดูว่าภายในปีนี้เราจะฟื้นโชวห่วยให้เป็น smart โชวห่วยได้สักกี่ราย กำลังดูตัวเลขกันอยู่
อันนี้เป็นเรื่องที่ตรงกับสิ่งที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้แถลงนโยบายต่อผู้บริหารระดับสูงในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ ท่านให้โจทย์ว่าทำอย่างไรโชวห่วยจะอยู่ได้ แล้วก็ทำอย่างไรเศรษฐกิจระดับฐานราก หรือเศรษฐกิจระดับไมโคร มันเชื่อมโยงกับระดับแม็กโครได้ อย่างที่ท่านสนธิรัตน์เพิ่งพูดไป ว่าภาพแม็กโครออกมาดูดีพอได้ แต่ว่าพอไปถึงระดับฐานรากแล้วทำไมเงินไม่กระจายลงไป เป็น 2 กลไกหลัก ในเรื่องที่จะทำให้เงินในฐานรากเพิ่มขึ้น และเงินจะขึ้นไปข้างบน
อีกนโยบายหนึ่งซึ่งเป็นนโยบายที่ 2 นอกจากกระทรวงพาณิชย์จะทำในเรื่อง Bottoms Up แล้ว ต้องทำในเรื่องของ Top Down ด้วย ก็คือว่ารายได้ของผู้ประกอบการอย่างท่านๆ มีมากขึ้น ท่านก็จะมีเงินพอเอาไปซื้อวัตถุดิบ เอาไปจ้างคนงาน เอาไปทำโน่นทำนี่ แล้วเงินก็จะกระจายลงข้างล่าง สวนทางกัน แต่เราทำพร้อมกัน
ประการแรก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ในเรื่อง Top Down จะต้องเร่งรัดการส่งออก มียุทธศาสตร์ 3 เรื่องขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่า ทูตพาณิชย์ของเราเกือบ 60 ประเทศที่ประจำอยู่ตอนนี้ เราต้องเปลี่ยน ทูตพาณิชย์ต้องเป็นทูตพาณิชย์มืออาชีพ ต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศ ท่านรัฐมนตรีจุรินทร์เรียกประชุมไปรอบหนึ่งแล้ว เรียกทูตพาณิชย์ที่อยู่ประจำอยู่เกือบ 60 ประเทศกลับมาทั้งหมด ประชุมไปรอบหนึ่งรอบใหญ่
และก็ให้โจทย์สำคัญให้ไปคิด 1. ทูตพาณิชย์มืออาชีพเป็นเซลส์แมนนั้น ในประเทศที่ท่านประจำอยู่จะขายอะไร นอกจากจะขายอะไรแล้ว จะขายให้ใคร แล้วนอกจากจะขายให้ใครแล้ว การจะขายจะต้องใช้วิธีอะไร
3 ข้อใหญ่ที่บอกว่าจะขายแล้วจะต้องใช้วิธีอะไร ถ้าต้องการให้ท่านรัฐมนตรีต้องไปเจรจาด้วยกับผู้ค้ารายใหญ่ ท่านก็ไป หรือว่าจะใช้วิธีแมตชิ่งภาคเอกชนด้วยกันทั้งสองฝั่งระหว่างประเทศก็ทำ จะขายด้วยวิธีอะไร
และที่สำคัญ จะต้องทำการศึกษาสินค้าของเราที่ไปขายในประเทศนั้นๆ ที่ท่านประจำอยู่ ว่าสินค้าของประเทศไทยเรามีข้อดี และแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร จะได้ขายได้
ทำทั้งหมด 4 ข้อ หลังจากนี้จะมีตัวชี้วัด ประเมินผลออกมาเลย ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศได้คะแนนเท่าไหร่ ตอนนี้ทูตพาณิชย์จะต้องเป็นทัพหน้า เอาสินค้าไทยของเราไปขาย ผมคิดว่าไม่ไกลเกินเอื้อม แล้วท่านจุรินทร์ได้ทำตัวอย่างเอาไว้แล้ว
เมื่อวันเสาร์ที่เพิ่งผ่านมาผมก็เดินทางร่วมกับท่าน ท่านก็นำคณะทั้งข้าราชการ คณะภาคเอกชนไปหนานหนิง ประเทศจีน ไปแมตชิ่งทำธุรกิจ ปรากฏว่าผลสำเร็จ สามารถขายมันสำปะหลังได้ 2,680,000 ตัน มูลค่ารวม 18,000 ล้านบาท สัญญาจะส่งมอบภายใน 1 ปี ทำสำเร็จไปแล้ว อันนั้นท่านลงไปเจรจาเอง
ลักษณะอย่างนี้ต้องเกิดขึ้นอีกกับสินค้าอีกหลายๆ ประเภทกับอีกหลายประเทศ ถึงบอกว่าถ้าจะขายต้องทำอะไร ถ้ารัฐมนตรีต้องไปก็จะไป วันนี้กลับมาวันเสาร์ วันนี้ท่านไปที่ จ.พังงา พรุ่งนี้บินอีกแล้วครับ ไปอินเดีย ไปดูในเรื่องของยางพารา น้ำมันปาล์ม ทำหน้าที่เป็นเซลส์ 2 ประเทศอีกแล้ว ก็ยังไม่ทราบว่าจะออกหัวออกก้อย อยู่ที่การเจรจา แต่ว่าถ้ามีข่าวดีในเรื่องนี้ก็จะรีบนำกลับมาบอกทุกท่าน ว่าขายอะไรได้บ้าง นอกจากในเรื่องของยางพารา นอกจากในเรื่องของปาล์มน้ำมันแล้วยังมีสินค้าตัวอื่นๆ ด้วยที่จะไปตกลงกันกับประเทศอินเดีย
เป็นนโยบายซึ่ง Top Down ลงมาในเรื่องของการส่งออก และส่งออกยังมีอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ หลายท่านอาจจะมองข้าม ส่งออกชายแดน หรือส่งออกผ่านแดน ผ่านแดนก็คือว่าไม่ใช่ประเทศที่อยู่ติดเรา แต่ผ่านประเทศที่ติดเราแล้วผ่านไปอีกประเทศหนึ่ง ไปทำการบ้านมา มูลค่าส่งออกผ่านแดนสูงถึง 9 เปอร์เซ็นต์ของการค้าระหว่างประเทศของไทยที่ทำทั้งหมด ของง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว เพราะฉะนั้นเราจะต้องเร่งเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ไปประชุมแล้วทั้งภาคใต้ทั้งอีสาน
อุปสรรคกฎระเบียบที่ไม่ทันสมัย ที่ทำให้ติดขัด หรือการจราจรขนส่ง ซึ่งทำให้การส่งออกไม่คล่องตัว พวกเราจะรับมาและนำไปปรับปรุง ประสานหน่วยงานไหนได้ก็จะประสาน ถ้าไม่ใช่ของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนที่เป็นของกระทรวงพาณิชย์เองจะแก้กฎระเบียบอะไรให้คล่องตัวได้ก็จะทำ ไปมาแล้วครับภาคใต้ อีสาน ยังรอคิวอยู่อีกหลายภาคในเรื่องของการส่งออกชายแดน และการค้าผ่านแดน
การส่งออกสำคัญ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก เป็นการทำในระดับนโยบายมากขึ้น เร่งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อันนี้ก็สำคัญ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ เขตการค้าเสรี ASEP คืออาเซียน 10 ประเทศ ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ตอนนี้ แล้วบวกอีก 6 ประเทศใหญ่ๆ ทั้งนั้น ประเทศที่มาบวกด้วย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จากอาเซียนที่มีอยู่ 10 ประเทศ บวกอีก 6 กลายเป็น 16 ประเทศ ที่ผมเรียนว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในตอนนี้ที่จะต้องเร่งการเจรจา ก็เพราะว่า 16 ประเทศเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นเขตการค้าเสรีซึ่งอาจจะเรียกว่าใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรรวมกัน 3.5 พันล้านคน GDP 16 ประเทศรวมกันฟังแล้วอาจจะตกใจ 1,500 ล้านล้านบาท
คิดถึงว่าอาจจะนึกภาพไม่ออกว่าใหญ่แค่ไหน ASEP จีดีพีประทศไทยของเรา 16 ล้านล้าน แต่เมื่อรวมกันทั้งหมด 16 ประเทศแล้วทั้งหมดรวมกัน 1,500 ล้านล้าน เราแค่เป็นเสี้ยวเดียวของ ASEP ทั้งหมด ปีนี้ต้องเร่งการเจรจา ถ้าเจรจาเสร็จเราจะได้ตลาดการค้าเสรีที่อาจเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลก
ปีนี้ประเทศไทยเราเป็นประธานอาเซียน ท่านจุรินทร์เพิ่งได้รับตำแหน่งปุ๊บท่านก็เลยต้องสวมบทเป็นประธานการประชุมกันไปแล้ว 2 รอบ จะมีอีกหลายต่อหลายรอบตามมา แต่เราตั้งเป้าว่าเราจะต้องเจรจาให้จบภายในปีนี้
หลังจากนั้นตลาดสินค้า และบริการ ท่านลองคิดว่าถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเราสามารถส่งออกสินค้าและบริการได้มากแค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องเร่ง แล้วก็การเจรจาตอนนี้ผมคิดว่ายังมีตามเงื่อนไขที่อาจจะไม่ลงตัวกันบ้าง แต่ว่าพอถึงปลายปีหวังอย่างยิ่งครับว่าจะตกลงกันอย่างลงตัว และสามารถทำให้ ASEP เดินหน้าได้
เขตการค้าเสรีอื่นๆ ก็มีนะครับที่ค้างท่ออยู่และยังไม่ได้เจรจา และจะต้องเร่งหลังจาก ASEP ในเรื่องของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังมีไทย EU ไทย-สหภาพยุโรป อันนี้จะต้องเร่งทำ และถ้าอังกฤษแยกตัวจาก EU ก็เป็นไทย-UK อันนี้ก็ต้องเร่งทำ ยังมีไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา ไทย-ปากีสถาน เร่งทำทั้งหมดนะ
เพราะฉะนั้นก็เป็นนโยบาย ซึ่งในระดับนโยบายแล้วเมื่อการเจรจาเขตการค้าเสรีเสร็จแล้ว ก็จะมาเพิ่มยอดการส่งออกของสินค้าของเรา เป็น 2 เรื่องหลักของนโยบาย Top Down
อีกเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบอยู่ ณ เวลานี้ นโยบายกลุ่มที่ 3 ภาคธุรกิจของเราจะต้องก้าวไปข้างหน้า เราจะต้องก้าวให้ทันกับยุคเศรษฐกิจทันสมัย มีอะไรบ้างเยอะแยะไปหมด หลายท่านคงจะทราบดีนะครับ Bio Economy Green Economy Sharing Economy creative Economy ภาคธุรกิจของเราจะต้องก้าวให้ทันในส่วนนั้น และกระทรวงพาณิชย์จะเป็นกลไกสำคัญ ทำให้ท่านก้าวให้ทัน
ประการแรก จะมีการเร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อันนี้สำคัญมาก คุ้นมั้ย ศัพท์ว่า GI : Geographical Indication เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเอาสินค้านั้นมาตีตรา แล้วบอกว่าสินค้านี้ผลิตจากที่นี่เพราะต้องใช้กระบวนการผลิตของที่นี่และใช้วัตถุดิบของที่นี่เท่านั้น และสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างมหาศาล เช่น ไข่เค็มไชยา ขายก็แพงกว่าไข่เค็มปกติ หรือมะขามหวานเพชรบูรณ์ มีสินค้าแบบนี้รอการจดทะเบียนการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอีกเยอะมาก
และกระทรวงพาณิชย์ได้ให้การบ้านพาณิชย์จังหวัดไปแล้ว แต่ละจังหวัดต้องหามา จังหวัดไหนมีอะไรพิเศษจะมาตีตราว่าเป็นสินค้า GI และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ท่านต้องหามา และเมื่อท่านหามาได้แล้วกระทรวงพาณิชย์จะจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปรับจดทะเบียนถึงจังหวัด
เป็นนโยบายอีกหนึ่งเรื่องที่จะต้องทำให้เศรษฐกิจของเราก้าวหน้า และยังมีในเรื่องของอย่างที่เรียนให้ทราบเมื่อสักครู่ เราจะต้องเป็นศูนย์กลางในการผลักดันเศรษฐกิจยุคใหม่ Bio Economy Green Economy Sharing Economy creative Economy หรือแม้กระทั่งการค้าออนไลน์ซึ่งโครงการเริ่มเดินหน้าแล้ว ธุรกิจแบบก้าวทันสมัย ทำให้ธุรกิจเขาเติบโตทันสมัยยิ่งขึ้น และเป็นรากฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ
ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมายทางด้านนโยบาย ในเรื่องของการขับเคลื่อนในเรื่องของการ Bottoms Up Top Down และในเรื่องของเศรษฐกิจทันสมัย ก็ถูกกำหนดโดยท่านรัฐมนตรีจุรินทร์ที่จะทำให้ทุกฟันเฟืองที่อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะได้หมุนเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน
ผมมั่นใจว่าด้วยความมุ่งมั่น ความตั้งใจของทีมงานทุกท่านในรัฐบาลชุดนี้ ท่านสุริยะ ท่านสุรินทร์ ท่านสนธิรัตน์ ท่านอุตตมะ ซึ่งได้กล่าวไปสักครู่นี้ ภายใต้การนำของท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมมั่นใจครับว่าเราจะฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยตอนนี้ไปได้ แล้วเราจะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าต่อไป ขอบคุณครับ