xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยยันซื้อเครื่องบิน 38 ลำตามแผนเดิม-อั้นขึ้นค่าตั๋ว ทนแบกต้นทุนน้ำมันขาขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลรายละเอียดโครงการจัดหาเครื่องบิน จำนวน 38 ลำ วงเงิน 156,169 ล้านบาท เพื่อความชัดเจนและรอบคอบก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ซึ่งเป็นการนำเรื่องกลับมาทบทวนตามขั้นตอน หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง ครม.ชุดใหม่ ซึ่ง นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการบินไทย ได้มีคำถามเกี่ยวกับแผนการจัดหาเครื่องบิน

ก่อนหน้านี้ได้เสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่บอร์ดยังมีข้อสังเกตและต้องการให้ทำข้อมูลให้ครบถ้วนอีก โดยจะสรุปเรื่องเสนอบอร์ดอีกครั้งในการประชุมวันที่ 24 ก.ย.นี้ พร้อมทั้งจะเสนอแผนการเช่าเครื่องบินจำนวน 3 ลำ เพื่อใช้ในช่วงที่รอการจัดหาเครื่องบินใหม่ด้วย

ทั้งนี้ การบินไทยยังคงยืนยันโครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำตามแผนเดิม ทั้งขนาดและประเภทเครื่องบิน และแบ่งจัดหาเป็น 2 ช่วงในกรอบวงเงินเดิม ซึ่งหากบอร์ดไม่มีความเห็นเพิ่มเติมจะสรุปโครงการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม.ได้ภายในเดือน ต.ค. เพราะแผนนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้ว แต่หากมีความเห็นที่ต่างไปจากแผนเดิม เช่น เปลี่ยนประเภทของเครื่องบินซึ่งอาจจะกระทบต่อกรอบวงเงิน จะต้องนำเรื่องกลับมาปรับและนำเสนอบอร์ด สศช.ใหม่ ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่ม 1-2 เดือน

“คำถามของ รมช.ถาวร เช่น เหตุผลที่ใช้เครื่องบินลำตัวแคบ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการบริหารจัดการ โดยสอบถามมา 2 รอบ เนื่องจากทุกวันนี้ตลาดของการบินไทยถูกเบียดแรงมาก ต้องทำให้ผู้อนุมัติมั่นใจในแผน ซึ่งการบินไทยไม่อยากให้ผิดพลาดเหมือนในอดีต ขณะที่ต้องระมัดระวังในเรื่องฐานะการเงินด้วย ซึ่ง รมช.ถาวรบอกว่าต้องถามให้ละเอียดเพราะมีหน้าที่ในการตอบกับสภาฯ และประชาชน”

สำหรับโครงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำ (ปี 2562-2569) แบ่งการจัดหาเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวพิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-374 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ / เครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ วงเงินลงทุน 71,874 ล้านบาท พร้อมทั้งเครื่องยนต์สำรอง 8 เครื่องยนต์ วงเงินลงทุน 6,740 ล้านบาท วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 78,614 ล้านบาท ช่วงที่ 2 ปี 2563-2569 จัดหาเครื่องบินแบบ Option Order จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแบบ A380-800 และ B777-200ER

ส่วนความคืบหน้าการขายเครื่องบิน 8 ลำ วงเงินประมาณ 4 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับทางผู้ซื้อ ซึ่งคาดจะสรุปภายในสัปดาห์นี้ แต่หากล่วงเลยเวลา บริษัทจะกำหนดระยะเวลาเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไม่ยืดเยื้อ

@จับตาใกล้ชิด “น้ำมันพุ่ง-ค่าบาทแข็ง” คุมไม่อยู่ กระทบต้นทุน

นายสุเมธกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯ ในช่วงไตรมาส 3/62 คาดว่าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ มีการส่งเสริมการตลาด หรือแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจมาก ซึ่งมีผลตอบรับค่อนข้างดี ส่วนช่วงไตรมาส 4/62 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) จะพยายามสร้างรายได้ให้มากที่สุด

แต่ยังกังวลแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายบริษัทที่จะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Hedging) ไว้ระดับหนึ่ง แต่หากน้ำมันขยับขึ้นไปมากกว่านี้อาจจะต้องมีการพิจารณา

อย่างไรก็ตาม แนวทางในการบริหารราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น เก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Surcharge) เพิ่มนั้นจะต้องพิจารณาสายการบินอื่นๆ ก่อนตัดสินใจด้วย เพราะทุกสายการบินได้รับผลกระทบเรื่องราคาน้ำมันเหมือนๆ กัน หากคนอื่นไม่ขึ้น เราก็คงไม่ขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น