xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแชมป์อาเซียน 3.6 พันแห่ง เจแปนฟูดบานสะพรั่ง ร้านซูชิขึ้นแท่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - อาหารญี่ปุ่นยังคงฟูเฟื่องในไทย เจโทร กรุงเทพฯ สำรวจล่าสุด พบผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศกว่า 3.6 พันร้านค้า หลากหลายเซกเมนต์ ขึ้นแท่นแชมป์ร้านอาหารญี่ปุ่นมากสุดในอาเซียน เอกชนรายใหญ่ยังคึกคักลงทุนต่อเนื่อง

อาหารญี่ปุ่นกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยกลายเป็นของที่คู่กันไปแล้วในปัจจุบันนี้ชนิดที่แยกกันไม่ออก ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นผุดขึ้นมามากมายเป็นดอกเห็ด ทั้งที่เป็นแบรนด์ของคนไทยที่สร้างขึ้นมาเองกับแบรนด์ญี่ปุ่นที่เข้ามาลุยตลาดไทย


ว่ากันว่า ประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะที่ในตลาดระดับโลกนั้น จีน คือประเทศที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นเปิดบริการมากที่สุดในโลกกว่า 40,000 ร้านค้า ส่วนอเมริกาก็ไม่เบามีมากกว่า 20,000 ร้านค้า หรือเกาหลีใต้ก็อยู่ระดับ 10,000 กว่าร้านค้า หรือแม้แต่ฝรั่งเศสก็มีในระดับ 4,000 กว่าร้านค้า

ส่วนประเทศไทยนั้น จากการสำรวจจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2562 ขององค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ล่าสุดพบว่ามีปริมาณ 3,637 ร้านค้า (สิ้นสุด วันที่ 20 สิงหาคม 2562)

นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2543 และเพิ่มต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นมีความแพร่หลายมากขึ้นและแนวโน้มความใส่ใจในสุขภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย

อีกปัจจัยที่ทำให้อาหารญี่ปุ่นในไทยเติบโตดีมาก มาจากนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่นในการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศระยะสั้นให้กับคนไทยที่เริ่มเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างและมีความหลากหลายมากขึ้น

วัตถุดิบถือเป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้อาหารญี่ปุ่นเป็นที่นิยม เนื่องจากมีคุณภาพ ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งของญี่ปุ่นคือรัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การรับรองร้านอาหารที่มีการนำเข้าวัตถุดิบมีคุณภาพจากญี่ปุ่นไว้เป็นหลักประกัน

โดยในทั่วโลกนี้มีร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองคุณภาพวัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่นประมาณ 4,268 ร้านค้า แบ่งเป็น ร้านอาหารญี่ปุ่น 2,961 ร้านค้า และเป็นร้านค้าปลีก 1,317 ร้านค้า ส่วนในไทยพบว่ามีร้านอาหารที่ได้รับการรับรองนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นโดยรัฐบาลญี่ปุ่นถึง 293 ร้านค้า และเป็นร้านค้าปลีกอีก 174 ร้านค้า

*** ไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 3 637 ร้านค้า
ทั้งนี้ ในปี 2562 (สิ้นสุด 20 สิงหาคม 2562) มีร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยมากถึง 3,637 ร้านค้า เพิ่มจากปีที่แล้วถึง 21% แบ่งเป็นจำนวนร้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ จากเดิม 1,718 ร้านค้า เป็น 1,993 ร้านค้า ส่วนในต่างจังหวัดจากเดิม 1,286 ร้านค้า เพิ่มเป็น 1,644 ร้านค้า หากเทียบจากปี 2550 ที่มีเพียง 745 ร้านค้า แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 555 ร้านค้า และในต่างจังหวัด 190 ร้านค้า เท่านั้นเอง

ปีนี้ถือว่าภาพรวมร้านอาหารญี่ปุ่นมีเปิดเพิ่มดีกว่าปี 2560-2561 ที่ตลาดลดลง เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ไม่ค่อยดี และยังเป็นปีที่มีการขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัดด้วย คือ สุโขทัย และบึงกาฬ จากเดิมปีที่แล้วมี 4 จังหวัดที่ไม่มีการพบร้านอาหารญี่ปุ่น คือ สุโขทัย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และยโสธร แต่ปีนี้สุโขทัยกับบึงกาฬมีเรียบร้อยแล้ว โดยจังหวัดที่ยังไม่พบร้านอาหารญี่ปุ่นคือ หนองบัวลำภู กับยโสธร ส่วนในอีก 75 จังหวัดนั้นมีร้านอาหารญี่ปุ่นดำเนินกิจการแล้ว

ตลาดต่างจังหวัดก็เติบโตดี เพราะมีดีมานด์ ซึ่งร้านที่เป็นเจ้าของรายเดี่ยวมีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหารประเภท ซูชิ โดยในปี 2560 มีร้านซูชิในต่างจังหวัดเพียง 53 ร้านค้า เพิ่มเป็น 185 ร้านค้า ในปี 2561 หรือเพิ่มถึง 84%

เหตุผลคือ ร้านค้าปลีกและโรงแรมของบริษัทญี่ปุ่นมีการเปิดบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นยกระดับไฮเอนด์และร้านเมนูเฉพาะอย่างมีจำนวนเพิ่มขึ้น


ส่วนที่ต่างจังหวัดนั้น เพิ่มมากกลุ่มที่เป็นเชนเช่นกัน และภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นและร้านซูชิที่เป็นสาขาเดียวบริหารกิจการเพิ่มอย่างมาก

ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ระบุด้วยว่า ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นอีกจำนวนมากสนใจจะเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการจะขยายตลาดเข้าสู่ประเทศไทย อย่างเจโทรเป็นผู้หาผู้สนใจและจะลงทุนในกิจการเข้ามาติดต่อขอข้อมูลจำนวนมาก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการสำรวจถึงมูลค่าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยว่ามีเท่าไร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้คนในวงการอาหารประเมินว่าตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่าประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท

*** อาหารญี่ปุ่นทุกเซกเมนต์ผุดเป็นดอกเห็ด
จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป เป็นเซกเมนต์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด โดยเพิ่มจากปีที่แล้ว 19% เป็น 893 ร้านค้า แต่ร้านประเภทซูชิเพิ่มถึง 50% จากเดิม 454 ร้านค้าเป็น 683 ร้านค้า แต่ประเภทที่ลดลงมากที่สุดคือ อุด้ง จาก 51 ร้านค้าเหลือ 43 ร้านค้า ลดลงถึง 15%

สำหรับประเด็นจำนวนสาขาของแบรนด์นั้น พบว่าปี 2562 จำนวนร้านค้าที่มีเพียงสาขาเดียว มี 1,203 ร้านค้า เพิ่มจากปีที่แล้ว 31% โดยแบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 633 ร้านค้า และในต่างจังหวัด 570 ร้านค้า ซึ่งเชนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจำนวนสาขาระหว่าง 2 ถึง 50 สาขา มีเพิ่มมากขึ้น สำหรับร้านที่มี 51 สาขาขึ้นไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่การกระจายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยนั้น พบว่าจังหวัดที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับ 2 คือ กรุงเทพฯ จำนวน 1,993 ร้านค้าจากปีที่ 1,718 ร้านค้า เพิ่มถึง 275 ร้านค้า โดยมีคนญี่ปุ่นอาศัยถึง 52,000 กว่าคน, รองลงมาคือ ชลบุรี มี 241 ร้านค้า จากเดิมปีที่แล้วมี 195 ร้านค้า มีคนญี่ปุ่นประมาณ 7,000 กว่าคน, อันดับที่ 3 คือ นนทบุรี มีจำนวน 170 ร้านค้า จากเดิมมี 149 ร้านค้า มีคนญี่ปุ่นประมาณ 700 กว่าคน, ที่ 4 คือ เชียงใหม่ มี 152 ร้านค้า เพิ่มจากเดิมที่มี 108 ร้านค้า มีคนญี่ปุ่นประมาณ 2,400 กว่าคน และ 5. สมุทรปราการ มี 116 ร้านค้า จากเดิมมี 100 ร้านค้า มีคนญี่ปุ่น 1,100 กว่าคน

นอกจากคนไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของร้านอาหารญี่ปุ่นแล้ว ปัจจัยรองลงมาที่เกี่ยวข้องก็คือ การรองรับประชากรญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยมีมากถึง 72,000 คน ก็น่าจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่ทำให้อาหารญี่ปุ่นโตดีด้วย ซึ่งในกรุงเทพฯ มีจำนวนชาวญี่ปุ่นมากถึง 52,000 คน รองมาคือ ชลบุรี มีคนญี่ปุ่น 7,184 คน เป็นต้น

การเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยที่ทำกันนั้น มีทั้งจากกลุ่มทุนไทยเองที่มีการลงทุนสร้างแบรนด์ขึ้นมา รวมทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเข้ามาเปิดบริการ เช่นเดียวกันกับมีแนวโน้มที่ร้านอาหารญี่ปุ่นจะขยายสาขาเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย

นางสาวฟูคุตะ คาโอรุ ผู้อำนวยการแผนกเกษตรและอาหาร เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทางเจโทรสนับสนุนและส่งเสริมให้ธุรกิจร้านอาหารจากญี่ปุ่นเข้ามาเปิดกิจการในไทยเพื่อเป็นการขยายตลาด โดยล่าสุดในวันที่ 9 ตุลาคมนี้เจโทรเตรียมที่จะจัดงานเจรจาทางธุรกิจให้กับนักลงทุนไทยกับเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารจากญี่ปุ่นได้พบปะและเจรจาทางธุรกิจกัน ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะให้ทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสมาพบกัน

สำหรับการสำรวจครั้งนี้ของเจโทร กรุงเทพฯ มีระยะเวลาการสำรวจตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-20 สิงหาคม 2562 วิธีการสำรวจคือ ทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของผู้ประกอบการ 2. ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องในสื่อต่างๆ และการสอบถามทางโทรศัพท์ โดยมีขอบเขตการสำรวจดังนี้ 1. ร้านอาหารที่ให้บริการอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารที่มีการดัดแปลงให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น 2. ร้านอาหารที่มีเมนูอาหารญี่ปุ่นเกินครึ่งของเมนูทั้งหมด และ 3. ร้านอาหารที่มีการจัดที่นั่งสำหรับลูกค้าเป็นการถาวร

*** “โออิชิ” ยันตลาดรวมยังโตแต่ไม่หวือหวา

นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพรวมของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยว่า ตลาดรวมร้านอาหารญี่ปุ่นก็ยังมีการเติบโตได้ดีทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตในตลาดประเทศไทยคงจะไม่ได้โตมากเหมือน 7-8 ปีก่อนหน้านี้ จากเดิมที่เคยเติบโตปีละ 15% ถึง 30% แต่จากนี้ไปคาดว่าจะเติบโตปีละไม่ถึง 10% แต่จะเป็นการเจริญเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

เขาย้ำด้วยว่า ปัจจัยหลักที่ยังทำให้อาหารญี่ปุ่นเติบโตดี ก็คือ อาหารญี่ปุ่นยังมีรสชาติที่ถูกปากคนไทย และยังเป็นอาหารที่ยังได้รับความนิยมอย่างดี เนื่องจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี และดีต่อสุขภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป็นตลาดที่เติบโตดี แต่การแข่งขันในตลาดรวมเองก็ยังมีอยู่สูงเช่นกัน ซึ่งตลาดในประเทศไทย ธุรกิจอาหารโดยรวมไม่เว้นแม้แต่อาหารญี่ปุ่นก็ยังคงต้องแข่งขันกันในเรื่องของราคา เนื่องจากมีผู้เล่นมากราย แต่ก็เริ่มทยอยปิดตัวมากขึ้นเช่นกัน แต่ที่ยังเหลืออยู่ก็คือแบรนด์ที่มีความแข็งแรง และมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และต้องมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพเป็นหลักด้วย

นายไพศาลกล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการอาหารญี่ปุ่นและโดยรวมควรต้องมีการปรับตัว และต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก มีการปรับธุรกิจ โดยยึดผู้บริโภคเฉพาะทางมากขึ้น (Personalize) ไม่เน้นตลาดวงกว้างทั่วไป (MASS) เหมือนเมื่อก่อน

“ในปีนี้ (2562) โออิชิยังคงมีการขยายสาขาต่อเนื่อง ในหลากหลายแบรนด์รวมกัน ไม่ต่ำกว่า 20 สาขา ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 400-500 ล้านบาท


*** ทุนไทย ยังลงทุนต่อเนื่อง
ขณะที่กลุ่มทุนไทยอีกรายคือ ซีอาร์จี หรือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองตส์ กรุ๊ป จำกัด ในเครือเซ็นทรัล ก็เป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่และมีร้านอาหารแบรนด์ดังจากญี่ปุ่นอยู่ในความดูแลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โยชิโนยะ เทนยะ ทงคัตสึ โอโตยะ เปปเปอร์ลันช์ เป็นต้น ก็ยังคงมีการขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ก่อนหน้านี้ นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี/CRG กล่าวไว้ว่า ปี 2562 นี้บริษัทฯ ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้แยกออกเป็น งบการตลาด 600 ล้านบาท การขยายสาขาใหม่ 730 ล้านบาท ซึ่งวางแผนว่าปี 62 นี้จะเปิดสาขาใหม่ทุกแบรนด์รวมกันกว่า 120 สาขา การรีโนเวตสาขาเดิม 250 ล้านบาท ลงทุนด้านไอที 330 ล้านบาท ที่เหลือเป็นอื่นๆ จากปีที่แล้วลงทุนรวมประมาณ 700 ล้านบาท เปิดใหม่ประมาณ 100 สาขาเพื่อขยายธุรกิจและสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มในการรุกตลาดธุรกิจร้านอาหารในไทย ที่มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 410,000 ล้านบาท เติบโต 3-5% ต่อปี

สำหรับผลประกอบการปีที่แล้ว มีรายได้รวม 12,000 ล้านบาท โต 10% ส่วนปี 2562 นี้ตั้งเป้ารายได้ 13,400 ล้านบาท โต 12% มากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดรวมที่โต 5% และตั้งเป้าหมายซีอาร์จีมีสัดส่วน 9% ในตลาดรวมที่เป็นเชนเครือข่ายที่มีมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท

ปัจจุบันซีอาร์จีมีร้านอาหารรวม 11 แบรนด์ มิสเตอร์โดนัท มีสาขามากที่สุด, เคเอฟซี, อานตี้แอนส์, ชาบูตง, โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่, เดอเทอเรส, โอโตยะ, เปปเปอร์ลันช์, โยชิโนยะ, เทนยะ, คัตสึยะ โดยที่ 4 แบรนด์หลังสุดซึ่งเป็นอาหารแนวญี่ปุ่นทั้งสิ้นนี้มีการเติบโตถึง 29% มียอดขายรวมทะลุ 1,000 ล้านบาทแล้ว และแบรนด์ที่ 12 คือ เดอะเทอเรซ และหากนับรวม ร้านอร่อยดี กับ สุกี้เฮ้าส์ ก็จะเป็น 14 แบรนด์ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีเพิ่มเป็น 16 แบรนด์

แม้แต่ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ก็ยังกระโดดลงสู่สนามอาหารญี่ปุ่นด้วย ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ นายอิทธพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ จำกัด ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ร้านข้าวแกงกะหรี่ฮิโนยะ เคอรี่จากญี่ปุ่นเข้ามาเปิดบริการในไทย โดยมองว่าผู้เล่นในตลาดเซกเมนต์นี้ยังมีไม่มากนัก โดยเปิดสาขาแรกไปแล้วที่ เดอะมาร์เกต แบงค็อก พื้นที่ 81 ตารางเมตร ลงทุนประมาณ 4-5 ล้านบาท และสาขาที่ 2 อยู่ที่คอสโมพลาซ่า เมืองทองธานี และวางแผนไว้ว่าภายใน 2 ปีนี้จะขยายสาขา 10 สาขา มีรายได้จากอาหารญี่ปุ่นรวมกว่า 100 ล้านบาท


มนต์เสน่ห์ของอาหารญี่ปุ่นในไทยยังคงเป็นที่ต้องการทั้งจากผู้บริโภค และการลงทุนจากกลุ่มทุนต่างๆ ที่มองว่าตลาดนี้ยังคงหอมหวนยิ่งนัก




กำลังโหลดความคิดเห็น