ประกาศวางมือทางการบริหารลงอย่างชัดเจนแล้วสำหรับ นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ หรือสวนสยาม มีผลเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
หลังจากที่นั่งบริหารกุมบังเหียน สวนสยาม ทะเลกรุงเทพ มาตั้งแต่ปลุกปั้นสวนสยามมากับมือเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา กับการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จากฝีมือการสร้างของคนที่จบการศึกษาเพียงประถมศึกษาที่ 4 เท่านั้น
“ในวัยที่มีอายุ 81 ปีแล้วนั้น ผมเองก็จะถอยออกมา ไปเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาให้กับทายาททั้งหมดในทุกเรื่องในช่วง 1-2 ปีนี้ และหลังจากนั้นผมก็วางแผนที่จะพักผ่อนด้วยการนั่งสมาธิในสถานที่ปฏิบัติธรมต่างๆ” นี่คือคำกล่าวของ นายไชยวัฒน์ ผู้สร้างตำนานทะเลกรุงเทพที่เลื่องชื่อในอดีต
การวางมือนี้มาพร้อมกับการเปิดตัวทายาทรุ่นที่ 2 อย่างเป็นทางการ ที่จะเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว จากก่อนหน้านี้ก็ร่วมบริหารอยู่ด้วยแล้ว ประกอบด้วย นายสิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ และนางจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ทั้ง 3 คนนี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนา และนำ สวนสยาม ไปสู่โลกใหม่ ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อไลฟ์สไตล์ของคนจนบดบังความสนุกสนานในรูปแบบที่สัมผัสได้อย่างสวนสนุก หรือสวนน้ำที่เคยเป็นมาในอดีตไปแทบจะหมดแล้ว
“ทายาทรุ่นที่ 2 นี้จะเข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับสวนสยาม เพื่อรองรับยุคแห่งเทคโนโลยี รวมทั้งทำให้สวนสยามหลุดจากการบริหารแบบเดิมเพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้นด้วย” ไชยวัฒน์ กล่าว
การเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นชัด คือ การเปลี่ยนชื่อจากเดิม “สวนสยาม” ใหม่ในรอบ 39 ปีเป็น “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” (Siam Amazing Park )ที่ตอกย้ำว่า ไม่ใช่มีแค่สวนน้ำอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นดินแดนแห่งความมหัศจรรย์มากขึ้น
การเกิดของ Siam Amazing Park เป็นความตั้งใจของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะต่อยอดความสำเร็จเดิมของสวนสยาม ซึ่งอยู่คู่คนไทยมากว่า 39 ปี พร้อมยกระดับการให้บริการภายใต้คอนเซ็ปท์ “Everyday is Amazing” นำเสนอประสบการณ์การผจญภัยแสนสนุกในดินแดนทั้ง 6 กับมาสคอต “Si-Am and Friends” เพื่อพาผู้ใช้บริการหลีกหนีจากความตึงเครียดและวันธรรมดาแบบเดิมๆ มาเพิ่มเติมสีสัน ความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ โดย 5 ดินแดนแรกของสวนน้ำสวนสนุก ประกอบด้วย
1. Water World (วอเตอร์เวิลด์) สวนน้ำยอดนิยมเจ้าของสถิติทะเลเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากกินเนสส์ เวิลด์ เรกคอร์ดส์ และเครื่องเล่นทางน้ำมากมาย
2. Extreme World (เอ็กซ์ตรีมเวิลด์) สุดยอดดินแดนแห่งความมันที่รวบรวมเครื่องเล่นท้าความเสียวระดับโลกมาไว้ในที่เดียว ทั้ง Vortex (วอร์เท็กซ์) รถไฟเหาะตีลังกาเกลียวสว่านแบบห้อยขาที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 2 ของโลก, Giant Drop ยักษ์ตกตึก เครื่องเล่นทิ้งดิ่งที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, Log Flume ล่องซุงมหาสนุกขนาดยักษ์สัญชาติเยอรมัน และอื่นๆ อีกมากมาย
3. Adventure World (แอดเวนเจอร์เวิลด์) ดินแดนแห่งการผจญภัยไปกับเครื่องเล่นหลากหลาย เช่น Jurassic Adventure (ผจญภัยแดนไดโนเสาร์), Twin Dragon (เรือมังกรสองหัว) และเครื่องเล่นอีกหลายชนิด
4. Family World (แฟมิลี่เวิลด์) ดินแดนของเครื่องเล่นที่เหมาะกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ได้มีเวลาแห่งความสนุกสนานร่วมกัน ทั้ง Africa Adventure (ท่องป่าแอฟริกา), Si-Am Tower (ไซ-แอมทาวเวอร์) หอคอยชมวิวที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ม้าหมุนสองชั้นสุดคลาสสิก รวมถึง Big Double Shock (บิ๊กดับเบิ้ลช็อค) บ้านผีสิงแบบฉบับของสยามอะเมซิ่งพาร์ค
5. Small World (สมอลเวิลด์) ดินแดนเครื่องเล่นไซส์มินิสำหรับนักผจญภัยตัวน้อย
ล่าสุดยังใช้งบประมาณลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างดินแดนที่ 6 ใหม่ คือ Bangkok World (บางกอก เวิลด์) ที่จะรวบรวมความอะเมซิ่งของกรุงเทพมหานครมาไว้ในโครงการ “บางกอกเวิลด์” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 70 ไร่ บริเวณหน้าทางเข้าสยามอะเมซิ่งพาร์ค ดินแดนที่ยกเอาเสน่ห์และความงดงามของเมืองพระนครในวันวานมารวมไว้ในที่เดียว ตอบโจทย์นักเดินทางที่มีเวลาจำกัดให้เที่ยวได้ครบ ทั้งได้ชื่นชมและตื่นเต้นไปกับความโอ่อ่าอลังการของงานสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของเมืองหลวงในยุครุ่งเรือง งดงาม ที่จำลองมารวมไว้ให้ชมแบบจุใจ ไม่ว่าจะเป็นศาลาเฉลิมไทย ศาลาเฉลิมกรุง ห้างแบดแมนแอนด์โก ห้างบี.กริมแอนด์โก เยาวราช ไชน่าทาวน์ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังรวมที่สุดของเมืองบางกอกทั้งเรื่องชิม ชอป เที่ยวมาไว้ที่เดียว รวมของดีของเด่นหายากจากวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันนำสินค้าเด่นของแต่ละท้องถิ่นมารวมไว้ นับเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่หลีกหนีจากการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ทั้งยังมอบบรรยากาศในการพักผ่อนที่ไม่เหมือนใคร โครงการ “บางกอกเวิลด์” ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วและจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการในปี 2564
โดยรวมแล้ว บางกอกเวิลด์อาจจะทะลุไปถึง 5,000 ล้านบาท ที่จะรวมถึงการตกแต่งด้วย
ทั้งนี้ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” จะทดลองเปิดตัวในวันที่ 19 กันยายน 2562 นี้เพื่อต้อนรับเทศกาลปิดภาคเรียนที่จะมาถึง และพร้อมจะพร้อมเปิดตัว “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2563
นายไชยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีรายได้รวมประมาณ 500 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้มาใช้บริการประมาณ 1.2-1.5 ล้านคน แบ่งเป็น คนไทย 85% นักท่องเที่ยวต่างชาติ 15% ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง อินเดีย รัสเซีย และประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2564 หลังจากที่ได้เปิดบริการในส่วนของบางกอกเวิลด์อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว จะเป็นส่วนที่ผลักดันให้มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 40% และรายได้เพิ่มมากขั้นแน่นอน