xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.ตกลง “ซีพี” เข็นเซ็นสัญญา “ไฮสปีด” เปิดเวลาอีก 1 ปีเคลียร์ พท.ก่อสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ว่า คณะทำงานฯ ได้รายงานผลการเจรจาต่อรองกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ผู้ชนะการประมูลถึงรายละเอียดข้อความในร่างสัญญา รวมถึงส่วนแนบท้ายสัญญาที่มีรายละเอียด 2 ประเด็นที่พิจารณา คือ เรื่องการส่งมอบพื้นที่ และ KPI โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว และได้ให้ทางกลุ่ม CPH ตอบยืนยันรอบสุดท้ายมายัง ร.ฟ.ท.ภายใน 7 วัน (นับจากวันได้รับหนังสือจาก ร.ฟ.ท.) ให้ตอบยืนยัน พร้อมกำหนดวันที่พร้อมจะลงนามสัญญาแนบมาด้วย


ส่วน ร.ฟ.ท.จะเร่งประมวลเรื่องรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อทราบในเรื่อง EIA และผลการเจรจาที่สมบูรณ์ รวมถึงวันที่จะลงนามสัญญา ภายในดือน ก.ย.ตามนโยบายของรัฐบาล แต่หากซีพีมีปัญหาอย่างไรให้ชี้แจงเหตุผลเข้ามา

ทั้งนี้ ในสัญญาแนบท้ายจะต้องตรวจสอบรายละเอียดข้อความต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ลดความเสี่ยงทั้งสองฝ่าย เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ และมีประเด็นที่อาจจะมองไม่เห็น เช่น การรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินของหน่วยงานต่างๆ ถึง 6 หน่วยงาน ทั้งที่อยู่ใต้ดิน และบนพื้นดิน เช่น ท่อน้ำมัน, ท่อก๊าซ, ท่อประปา ที่อยู่ใต้ดิน การรื้อย้ายเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคนั้นๆ ซึ่งเป็นสัญญาเช่าพื้นที่รถไฟปกติ แต่ก็ต้องมีแผนให้ชัดเจนว่าจะย้ายออกไปอยู่ตรงไหน และต้องเริ่มย้ายเมื่อใด ซึ่งร.ฟ.ท.และซีพีต้องทำงานร่วมกัน

ส่วนพื้นที่สัญญาเช่ากว่า 300 สัญญา, การย้ายผู้บุกรุก, การเวนคืนพื้นที่ แม้ ร.ฟ.ท.มีแผนงานแล้วแต่อาจต้องใช้เวลา เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องต่อต้านเกิดขึ้นได้ สำหรับกรณีการก่อสร้างในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก บริเวณโครงสร้างอุโมงค์ร่วมที่จิตรลดาที่เป็นคลองแห้ง, โครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และการทุบเสาตอม่อโฮปเวลล์ มีรายละเอียดในเอกสารแนบท้าย โดยค่าใช้จ่ายในการทุบตอม่อโฮปเวลล์นั้นถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐจะอุดหนุน ซึ่งมีกรอบที่ 119,425 ล้านบาท แต่ซีพีประมูลขอรับอุดหนุนจากรัฐบาลเหลือ 117,227 ล้านบาท

คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นด้วยในหลักการว่าจะกำหนดวันลงนามสัญญา และลงนามร่วมกันก่อน ส่วนวันก่อสร้างจะเริ่มต้นเมื่อ ร.ฟ.ท.ได้ส่งหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ก่อน ซึ่งขั้นแรกกำหนดระยะเวลาในการวางแผนเรื่องส่งมอบพื้นที่ร่วมกันภายใน 1 ปีนับจากลงนามสัญญา แต่หากยังไม่เรียบร้อย ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจากัน และอาจจะขยายการออก NTP ออกไปได้อีก ซึ่งหลักการจะเหมือนกับการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง

ส่วนระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยจะเริ่มนับหลังจาก ร.ฟ.ท.ออกหนังสือ NTP ให้ซีพี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์นั้นจะแยกอีกส่วน โดยตามเงื่อนไข ซีพีจะต้องรับมอบโครงการ หลังลงนามสัญญาภายใน 2 ปี พร้อมกับชำระเงินค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จำนวน 10,671,090,000 บาท ตามเงื่อนไข


“เรื่องหลักการไม่เปลี่ยน แต่ที่ช้า ทำให้เสียเวลาเพราะต้องรอบคอบ และต้องยืนยันในแต่ละข้อความต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เรื่องความรับผิดชอบต่างๆ ต้องชัดเจน ค่าใช้จ่ายต่างๆ มีอยู่ตรงไหน เช่น ค่ารื้อย้ายตอม่อโฮปเวลล์ ก็อยู่ในเงินอุดหนุนที่รัฐบาลต้องจ่าย เป็นต้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น