“คมนาคม” เร่ง ขสมก.แก้แผนฟื้นฟู รับโจทย์ใหญ่ “ศักดิ์สยาม” สั่งหั่นค่าโดยสารลงอีกเพื่อลดค่าครองชีพ ส่งการบ้านใน 1 เดือน เผยโครงสร้างใหม่คนไทยต้องจ่ายค่ารถเมล์เฉลี่ย 48 บาท/วัน ซึ่งสูงเกินไป เล็งใช้ราคาเหมา หรือตั๋ววัน ยันต้องไม่เป็นภาระรัฐ และผู้ประกอบการอยู่ได้
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งปรับปรุงรายละเอียดแผนฟื้นฟู ขสมก.ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้ปรับอัตราค่าโดยสารรถเมล์ลงจากโครงสร้างในแผนฟื้นฟูเดิม ทั้งนี้เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน โดย ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนและไม่ก่อหนี้ในอนาคต รวมถึงต้องไม่เป็นภาระรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ รมว.คมนาคมได้ตั้งคณะทำงานในการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. ซึ่งมีตนเป็นประธาน โดยหลังจาก ขสมก.ทำรายละเอียดแล้วจะเร่งประชุมคณะทำงานฯ ซึ่งจะเชิญกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาแนวทางและหาข้อสรุปภายใน 1 เดือน
สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก.นั้นจะยึดกับการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งกำหนดให้มีระยะทางสั้นลงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า ลดการทับซ้อน โดยกำหนดเส้นทางรถเมล์จำนวน 269 เส้นทาง (ขสมก. 137 เส้นทาง ปัจจุบันวิ่งจริง 95-96 เส้นทาง, รถร่วมเอกชน 132 เส้นทาง)
อัตราค่าโดยสารที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติ สำหรับรถใหม่ กำหนดอัตราค่าโดยสาร 4 กม.แรกที่ 15 บาท กม.ที่ 4-16 อัตรา 20 บาท และ กม.ที่ 16 ขึ้นไป เก็บอัตราที่ 25 บาท ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะเดินทางในอัตราที่ 20 บาท และจากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ ประเมินค่าเฉลี่ยการเดินทางอยู่ที่ 2.4 เที่ยว/วัน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ 48 บาท/วัน ถือว่าค่อนข้างสูง
ขณะที่การจัดเดินรถให้มีระยะทางสั้นลงอาจทำให้ประชาชนต้องขึ้นรถหลายต่อ ซึ่งต้องจ่ายค่าโดยสารสูงขึ้น ขณะที่มีผู้ใช้บริการรถเมล์ทั้งหมดประมาณ 2 ล้านเที่ยว-คน/วัน โดยใช้บริการ ขสมก.50% และรถร่วมเอกชนประมาณ 50%
ดังนั้น โจทย์ให้การลดค่าโดยสารลง แต่หากต่ำไป ขสมก.จะอยู่ไม่ได้และเกิดหนี้เหมือนเดิม ซึ่งจะต้องหารูปแบบอื่นๆ เช่น การกำหนดราคาเหมา หรือตั๋ววัน ตั๋วเที่ยว (เดือน) โดยต้องให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด หรือไม่อุดหนุนเลย ขณะเดียวกันต้องพยายามดึงรถร่วมเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบด้วย
“แผนฟื้นฟู ขสมก.จะมีการปรับโครงสร้าง ปรับการบริหารต้นทุน จัดการเดินรถใหม่ มีแผนเออร์รีพนักงาน และใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้น หากต้องลดค่าโดยสารลงอีก ขสมก.ต้องหาวิธีใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์เรื่องค่าโดยสาร”
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่จำนวนเส้นทาง ขสมก.จะลดลง และไม่จำเป็นต้องจัดหารถถึง 3,000 คัน เมื่อรถจำนวนน้อยลง ต้นทุนจะลดลงไปด้วย ซึ่ง ขสมก.ต้องทบทวนแผนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ จากเดิมที่ปรับปรุงแผนซื้อ NGV จำนวน 3,183 คัน เป็น 3,000 คันอาจจะต้องปรับลดลงอีก
ส่วนผู้ประกอบการเอกชน ขณะนี้ได้เริ่มทยอยปรับปรุงประสิทธิภาพตามเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตใหม่ ที่เยียวยารายเดิม เช่น ภายใน 2 ปีจะต้องจัดหารถใหม่ตามมาตรฐานที่กำหนดจำนวน 70% เป็นต้น