xs
xsm
sm
md
lg

ทดลอง 3 เดือน! ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เสนอดึงรายได้ภาษีรถยนต์อุดหนุนส่วนต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมราง” เสนอรูปแบบลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าช่วงนอกเวลาเร่งด่วน ทดลอง 3 เดือน คาดเริ่ม 1 ต.ค.-31 ธ.ค.นี้ นัด 6 ก.ย. คุยคลัง, กทม., สรรพากร และสำนักงบฯ ดึงรายได้ภาษีรถประจำปีชดเชย เผยไอเดียใบเสร็จรถสาธารณะ “รถไฟฟ้า-รถเมล์” ทั้งปี 1.5 หมื่นบาท ลดหย่อนภาษี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า มาตรการลดค่าครองชีพ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นนโยบายเร่งด่วนของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยจะต้องไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทาน และงบประมาณประเทศ ขณะนี้มีแนวทางเบื้องต้นและจะนำหารือในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานทางรางที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมสรรพากร กรุงเทพมหานคร เพื่อหาข้อสรุปและนำเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ รมว.คมนาคมได้ให้แนวทางเพิ่มเติมในส่วนของโครงการที่มีสัญญาผูกพันกับเอกชน ว่าให้นำรายได้ในอนาคตมาพิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาและการใช้งบประมาณอุดหนุนรายได้ เนื่องจากการลดค่าโดยสารจะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเพิ่มทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตมากขึ้น

โดยรูปแบบของการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเป็นการให้ส่วนลดช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off-peak) และลดค่าโดยสารสำหรับตั๋วเดือน/ตั๋วเที่ยว โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน จากราคา 14-42 บาท จะเหลือ 14-20 หรือไม่เกิน 25 บาท ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากปกติ 15-45 บาท เหลือ 15 บาท-สูงสุดไม่เกิน 25 บาท ตามระยะทาง

ในส่วนของโครงการที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รับไปพิจารณาและเพื่อนำเสนอบอร์ดต่อไป


ส่วนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เบื้องต้นรับหลักการไปพิจารณาแล้ว ซึ่งภาคเอกชนดูในเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่คาดว่าจะหายไป ซึ่งเอกชนมีท่าทียินดีให้ความร่วมมือ และก่อนหน้านี้เอกชนได้ให้ความร่วมมือในการงดเก็บค่าโดยสารในช่วงมีพระราชพิธีสำคัญมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการนำค่าใช้จ่ายจากการใช้บริการรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชนระบบอื่นจำนวน 15,000 บาทต่อปี มาเป็นส่วนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล ในรูปแบบเดียวกับมาตรการช้อปช่วยชาติ ซึ่งจะเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งหากทำได้จะกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถสาธารณะเดินทางแทนรถยนต์ส่วนตัวได้มาก

อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมวันที่ 6 ก.ย.ได้ข้อตกลงร่วมกัน คาดว่าจะเสนอเพื่อขอเริ่มทดลองการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ระยะ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2562 และหากได้ผลทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มและลดปัญหาการจราจรบนถนนลง จะพิจารณาขยายเวลาให้ส่วนลดต่อไป

“รถไฟฟ้าแต่ละสายมีช่วงนอกเวลาเร่งด่วนยังไม่ตรงกัน จะต้องปรับเวลาให้เหมือนกันทั้งหมดเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารสับสน”

สำหรับรายได้ที่คาดว่าจะหายไปจากการลดราคา เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ปัจจุบันมีรายได้จากค่าโดยสารประมาณ 700 ล้านบาท/ปี หากปรับลดในช่วงนอกเวลาเร่งด่วนคาดว่ารายได้จะหายไปไม่ถึง 200 ล้านบาท/ปี ส่วนสายสีม่วงก็อยู่ในระดับเท่ากันๆ แต่หากมีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มจะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปได้

อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดในการขอนำรายได้จากภาษีป้ายวงกลม รถยนต์ประจำปี ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเก็บและส่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งปีล่าสุดเก็บได้กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท มาใช้ชดเชยส่วนต่าง เช่น 2,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมเพราะเป็นรายได้ที่เก็บจากคนใน กทม. ซึ่งไม่กระทบต่องบประมาณรัฐและเงินภาษีคนทั้งประเทศ

@แอร์พอร์ตลิงก์พร้อมลด ดึงคนใช้ช่วงตี 5-6 โมงลดแออัด

ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ กล่าวว่า ช่วง Off-peak ของแอร์พอร์ตลิงก์ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเวลา 05.30-07.00 น. ช่วงเวลา 10.00-17.00 น และช่วงเวลา 20.00-24.00 น. (ปิดให้บริการ) ไม่รวม วันเสาร์และอาทิตย์ โดยเก็บอัตราค่าโดยสารจากปกติ 15-45 บาท เหลือ 15 บาท-สูงสุด ไม่เกิน 25 บาท ตามระยะทาง หรือลดลงประมาณ 40%

การลดค่าโดยสาร เพื่อกระตุ้นการเดินทางนอกเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะช่วง 05.00-06.00 น. เพื่อกระจายผู้โดยสาร โดยปัจจุบันผู้โดยสารมีการเติบโตสูงกว่าปีก่อนกว่า 10% มีผู้โดยสารเฉลี่ย 7.5 หมื่นคน/วัน (วันจันทร์-พฤหัสบดี มีประมาณ 8 หมื่นคน วันศุกร์ มีประมาณ 9 หมื่นคน) เทียบกับปีก่อนมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 6.8-6.9 หมื่นคน/วัน ซึ่งเป็นผลมาจากขบวนที่วิ่งให้บริการได้เต็มที่สามารถปรับความถี่ได้ ขณะที่การจัดหารถเพิ่มนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาได้ในเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น