xs
xsm
sm
md
lg

คนดูเหวี่ยง! ทีวีดิจิทัลลาจอ เสียดายช่อง 3SD PSI-ทรูวิชั่นส์จอดำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - ผ่านไปแล้วครึ่งทางของ 4 ช่องทีวีดิจิทัลกับการยุติการออกอากาศลง หลังประเดิม 3 ช่องแรกไปเมื่อ 16 ส.คที่ผ่านมา และล่าสุดวันที่ 1 ก.ย.นี้ส่องปฏิกิริยาผู้ชม พบคนดูหัวร้อน เหวี่ยงใส่เจ้าของแพลตฟอร์มโดนไปเต็มๆ เหตุทีวีดาวเทียม-ทรูวิชั่นส์เลือกจอดำรอ กสทช.กำหนดช่องใหม่ เคเบิลทีวีเลือกแก้เกมเร็ว ส่งหนัง 3 ช่องเสียบแทน ชี้ 7 ช่องหาย คนดูเสียดายช่อง 3SD ที่สุด ฟากเอเยนซีฟันธงทีวีดิจิทัลหาย 1 ใน 3 ไม่กระทบงบโฆษณาบนสื่อทีวี 50,000 ล้านบาท

นับถึงวันนี้ผ่านไปแล้ว 4 ช่องทีวีดิจิทัลที่ได้ยุติการออกอากาศลง ล่าสุดกับลำดับที่ 4 คือ ช่องวอยซ์ทีวี หมายเลข 21 ที่ได้ยุติการออกอากาศลงวันที่ 1 ก.ย. ตั้งแต่เวลา 00.01 น. หรือในวันอาทิตย์เมื่อวานที่ผ่านมา ตามรอย 3 ช่องแรกที่ยุติการออกอากาศลงไปพร้อมกันเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ก่อนหน้า ตั้งแต่เวลา 00.01 น. คือ ช่องสปริงนิวส์ หมายเลข 19, ช่องไบรท์ทีวี หมายเลข 20 และช่องนาว หมายเลข 26 ในฐานะผู้ชม หากไม่สังเกตให้ดีจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่หากหยิบรีโมตขึ้นมากดดูทั้ง 4 ช่องจะพบความเปลี่ยนแปลง 2 แบบ คือ จอดำ และมีช่องรายการอื่นแทน จากการรับชมหลัก 5 แพลตฟอร์ม คือ 1. เสาอากาศทีวีดิจิทัล 2. ทีวีดาวเทียม 3. เคเบิลทีวี และ 4. ทรูวิชั่นส์ และ 5. OTT/IPTV

โดยการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ 1 คือ จอดำ มี 3 แพลตฟอร์มที่จะเป็นแบบนี้ คือ 1. การรับชมผ่านเสาอากาศ และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล 2. ทีวีดาวเทียมที่ดูผ่านจานดาวเทียมแบบซื้อขาด และ 3. ทรูวิชั่นส์ ซึ่งทางทีวีดาวเทียมและทรูวิชั่นส์เลือกที่จะทำตามกฎการเรียงช่องของทาง กสทช. ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือนำช่องรายการอื่นๆ มาให้รับชมแทนได้ ไม่ว่าจะรับชมทรูวิชั่นส์แบบเสียค่าสมาชิกหรือแบบขายขาด ซึ่งต้องรอนโยบายจากทาง กสทช.ก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเรียงช่องใหม่ จึงจะเปลี่ยนแปลงลำดับช่องทีวีดิจิทัลได้

นายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม ระบบซีแบนด์ "พีเอสไอ" เปิดเผยกับ 'Ibisiness' ว่า ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากับ 3 ช่องทีวีดิจิทัลที่ยุติการออกอากาศลง ทางพีเอสไอเจอผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากมีลูกค้าโทร.เข้ามาร้องเรียนสอบถามและต่อว่าจำนวนมาก ส่วนใหญ่มองว่าเป็นความบกพร่องของพีเอสไอและไม่เข้าใจว่าทำไม 3 ช่องดังกล่าวถึงจอดำ และจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ชม ทั้งนี้ ทางพีเอสไอได้แจ้งกลับไปแล้วว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะต้องทำตามข้อปฏิบัติของ กสทช.จึงต้องปล่อยให้จอดำ ต้องรอนโยบายจากทาง กสทช.อย่างเดียว

"ตั้งแต่กลางเดือน ส.คที่ผ่านมามีลูกค้าโทร.เข้ามาต่อว่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มแฟนรายการของทั้ง 3 ช่องที่เคยดูเป็นประจำ แต่อยู่ดีๆ ก็ไม่สามารถดูได้ จึงไม่เข้าใจเกิดอะไรขึ้น ทางพีเอสไอก็ได้แจ้งถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว บางคนก็เข้าใจบางคนก็ไม่เข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้ อีกทั้งมองว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมีน้อย ผู้ชมส่วนใหญ่จึงไม่รับรู้"

ทั้งนี้ ทางพีเอสไอทำได้เพียงแจ้งรายละเอียดถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ว่าไม่ได้เกิดจากระบบพีเอสไอขัดข้อง แต่เกิดจากทั้ง 3 ช่องขอยุติการออกอากาศเอง และทางพีเอสไอไม่สามารถนำช่องอื่นมาออกอากาศแทนได้ ซึ่งความเป็นจริงเรื่องนี้ต้องรอดูสัญญาณจากทาง กสทช.อีกครั้งว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยทางพีเอสไอพร้อมดำเนินการทันที แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ต้องปล่อยให้จอดำอย่างเดียวเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ชมกว่า 16 ล้านครัวเรือนที่ติดตั้งและเข้าถึงจานพีเอสไอได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ส่วนการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ 2 คือ มีคอนเทนต์ช่องใหม่ให้รับชมแทน พบว่ามีเพียงแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีเพียงแพลตฟอร์มเดียว ที่เลือกนำ 4 ช่องหนังมาทดแทนช่องทีวีดิจิทัลที่ยุติทันที โดยพบว่าเคเบิลทีวีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มเจริญเคเบิลทีวี และพื้นที่ต่างจังหวัดที่รับสัญญาณเคเบิลทีวีจากกลุ่มนี้ได้จัด 4 ช่องหนังออกอากาศแทนช่องทีวีดิจิทัลที่หายไป ประกอบด้วย 1. ช่องหนังจีน : QIY แทนช่องสปริงนิวส์หมายเลข 19 2. ช่องหนังฮอลลีวูด : A Film HD แทนช่องไบรท์ทีวี หมายเลข 20 3. ช่องหนังดัง : SKY แทนช่องนาว หมายเลข 26 และล่าสุด (1 ก.ย.) ยังไม่มีการนำช่องใดแทนช่องวอยซ์ทีวี หมายเลข 21 ยังปล่อยให้เป็นช่องไร้สัญญาณอยู่

นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล ประธานที่ปรึกษา กลุ่มบริษัท เจริญเคเบิลทีวี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันคอนเทนต์มีราคาถูกลง 50% และทางกลุ่มเจริญเคเบิลทีวีได้ซื้อลิขสิทธิ์ช่องรายการไว้มากมาย โดยเฉพาะช่องหนัง ซีรีส์ ที่มีชื่อเสียงจากค่ายหนังดัง มีให้รับชมไม่ต่ำกว่า 10 ช่อง ซึ่งแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีของทางกลุ่มเจริญเคเบิลทีวีสามารถรับชมได้กว่า 170 ช่องในระบบ HD ทั้งหมด โดยสมาชิกเสียค่าบริการเพียงเดือนละ 100-200 บาทเท่านั้น จากปัจจุบันกลุ่มเจริญเคเบิลทีวีมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน ทั้งในรูปแบบตามบ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ โรงแรม และโรงพยาบาล เป็นต้น

ส่วนการรับชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT และ IPTV จะไม่เห็นทั้งจอดำหรือช่องอื่นมาออกอาอากาศแทน (ขึ้นอยู่กับโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการ) ซึ่งระบบจะคัดช่องที่ยุติออกอากาศทิ้งไป โชว์เฉพาะช่องที่ออกอากาศเท่านั้น ผู้ชมที่รับชมในช่องทางดังกล่าวจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงว่ามี 4 ช่องดิจิทัลที่หายไป

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีอีก 3 ช่องทีวีดิจิทัลที่จะทยอยยุติการออกอากาศตาม ผู้ชมส่วนใหญ่จะเห็นช่องจอดำรวมเป็น 7 ช่อง แต่สำหรับเคเบิลทีวีดูจะไม่น่าหนักใจเท่าไหร่เพราะมีคอนเทนต์พร้อมออกอากาศทดแทนไว้เรียบร้อยแล้ว นาทีนี้จึงดูเหมือนว่าเคเบิลทีวีจะเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ชมเลือกรับชมได้คุ้มค่าที่สุด เพราะมีช่องหนังหรือช่องคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ ให้รับชมแทนช่องทีวีดิจิทัลที่หายไป

**ทีวีดิจิทัลหาย 1 ใน 3 คนดูอยู่ครบไม่สะเทือนโฆษณาทีวี 5 หมื่นล้าน**
ทั้งนี้ เหลืออีกเพียง 1 เดือนเท่านั้นที่ 7 ช่องทีวีดิจิทัลจะยุติการออกอากาศครบ ส่งผลให้ภาพรวมทีวีดิจิทัลเหลือเพียง 15 ช่อง หรือหายไปเพียง 1ใน 3 ขณะที่ฐานผู้ชมหายไปไม่ถึง 1 ใน 10 และในแง่งบโฆษณาหายไปเพียง 3% ของงบโฆษณาบนสื่อทีวี 50,000 ล้านบาทเท่านั้น

โดยก่อนหน้านี้ นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด ได้กล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวไว้ว่า การคืนทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่องไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมงบโฆษณาบนสื่อทีวีที่เหลือว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเม็ดเงินโฆษณาจากทั้ง 7 ช่องยังถือว่าน้อยมาก รวมกันมีมูลค่ารวม 120 ล้านบาท/เดือน หรือหายไปเพียง 1,440 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบโฆษณาที่เกิดจากทีวีโฮมชอปปิ้งเป็นหลัก ส่วนในแง่ผู้ชม 7 ช่องรวมกันมีฐานคนดูเพียง 8% จากฐานคนดูทั้งหมด จึงไม่ได้ส่งผลบวกต่อช่องที่เหลือนัก เพราะหากมองในภาพใหญ่ แม้จำนวนช่องจะหายไป 1 ใน 3 แต่ฐานคนดูหายไปไม่ถึง 1 ใน 10 และโฆษณาหายไปไม่ถึง 1 ใน 10 ซึ่งเชื่อว่าจะไหลไปอยู่ช่องอื่นๆ แทน

"เชื่อว่ากลุ่มผู้ชมจากทั้ง 7 ช่อง บางส่วนจะย้ายไปดูช่องอื่น หรือไม่ดูทีวีเลย หรืออาจจะเลือกกลับไปดูคอนเทนต์จากช่องทุนเดิมของช่องที่หายไปแทน อย่าง กลุ่มเนชั่น Mcot และ BEC และมองว่าช่องที่จะได้คนดูเพิ่มขึ้น คือ กลุ่มช่องข่าว อย่าง ไทยรัฐทีวี เป็นต้น รวมถึงกลุ่มคอมวย ที่เป็นฐานเรตติ้งหลักของช่องนาว 26 หลังจากนี้ช่องใดได้ไปคนดูกลุ่มเดิมก็จะไปดูช่องนั้นแทน ส่วนเรื่องของงบโฆษณา มองว่าอาจจะไหลไปที่ 15 ช่องที่เหลือน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นโฆษณาแบบทีวีโฮมชอปปิ้งที่ทุกช่องก็ทำอยู่แล้ว และทิศทางการขายโฆษณาผ่านทีวีโฮมชอปปิ้งยังโตต่อเนื่องแม้ว่าจะมีเหตุการณ์คืนช่องหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากลูกค้ามีทางเลือกในการเลือกใช้สื่อมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะออนไลน์ และการทำมาร์เกตติ้งไม่ผ่านสื่อ เช่น การจัดกิจกรรมและส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม" นายภวัตกล่าว

ในมุมมองเอเยนซี พบว่าออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อโซเชียลไม่ต่ำกว่า 5-6 ชม.ต่อวัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขการรับชมทีวีหลายเท่า บวกกับมีแพลตฟอร์มการรับชมคอนเทนต์บนโลกออนไลน์มาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค จึงมองว่าแม้เวลานี้จะเหลือทีวีดิจิทัลอยู่ 15 ช่อง ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะอยู่ ซึ่งควรมีเพียง 10 ช่อง กับมูลค่าการใช้งบโฆษณาบนสื่อทีวีราว 50,000-60,000 ล้านบาท ดังนั้น 15 ช่องจึงยังลำบากอยู่ ซึ่งในอนาคตอีก 3-5 ปีมองว่าควรจะมีทีวีดิจิทัลเพียง 4-5 ช่องเท่านั้น จึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะต้องแข่งขันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่จะตามมา

*คนดูครวญ! เสียดายช่อง 3SD มากที่สุด*
จากการติดตามดูปฏิกิริยาผู้ชม พบว่าผู้ชมเสียดายและไม่อยากให้ช่อง 3SD ลาจอไปมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับที่นายภวัติได้แสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้าว่า ช่อง 3SD เป็นช่องที่มีเรตติ้งดีที่สุดในจำนวน 7 ช่องที่จะหายไป เนื่องจากเป็นช่องที่นำเสนอคอนเทนต์ละครของช่อง 3 ในรูปแบบรีรัน ซึ่งพอมีกลุ่มผู้ชมจนทำให้มีเรตติ้งและมีรายได้ แต่เนื่องจากนโยบายของ BEC ที่เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัลรวม 3 ช่อง เลือกที่จะยุติการออกอากาศทีวีดิจิทัลลง 2 ช่อง ซึ่งช่อง 3SD คือ 1 ใน 2 ช่องนั้น แม้จะพอมีรายได้เลี้ยงตัวแต่จำเป็นต้องยุติการออกอากาศลงไป เพื่อต้องการโฟกัสที่ช่อง 3HD ที่เหลือเพียงช่องเดียว

อย่างไรก็ตาม ยังเหลืออีก 3 ช่องที่จะทยอยยุติการออกอากศลง คือ 1. ช่องเอ็มคอท แฟมิลี่ หมายเลข 14 จะหยุดออกอากาศวันที่ 16 ก.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 00.01 น. 2. ช่อง 3SD หมายเลข 28 จะหยุดออกอากาศวันที่ 1 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 00.01 น. และ 3. ช่อง 3 แฟมิลี่ หมายเลข 13 จะหยุดออกอากาศวันที่ 1 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 00.01 น.

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันแพลตฟอร์มการรับชมช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการรองรับปัญหาการยุติออกอากาศของ 7 ช่องทีวีดิจิทัล เพราะต้องทำตามกฎของ กสทช. มีเพียงเคเบิลทีวีเท่านั้นที่เลือกนำช่องหนังมาออกอากาศทดแทนไปก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดกับการรับชม ไม่ควรมีช่องใดจอดำ เพราะสมาชิกจ่ายค่าบริการในการรับชม แต่ทั้งนี้ก็พร้อมยืดหยุ่นและตอบสนองนโยบายจากทาง กสทช.หลังหาทางออกกับ 7 ช่องทีวีดิจิทัลที่ยุติการออกอากาศไปได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น