xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนร่วมงานกับภาครัฐ ไม่ง่าย เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องห้ามเผลอ!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมัยก่อนที่ “โลกโซเชียล” ยังไม่บูมเหมือนปัจจุบัน หากภาคเอกชนจะร่วมทำการอะไรกับภาครัฐ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาทนกันไป แต่ในยุคที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบกันได้ง่าย เอกชนที่จะมาทำงานกับภาครัฐ คงไม่ยอมให้ใช้กลยุทธ์ทางเทคนิคมาเอาเปรียบ หรือเรียกเก็บค่าผ่านทางกันง่าย ๆ เพราะในยุคนี้ ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาตรวจสอบ โดยเฉพาะการประมูลที่มักมีเรื่องราวประหลาดมาให้ประหลาดใจ เช่น กระบวนการปัดตกผู้ประมูลก่อนการเปิดซอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ถูกปัดตกทางเทคนิค มักยื่นผลประโยชน์ต่อรัฐสูงกว่า เช่นกรณี

1) การประมูลแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่ง กลุ่ม NCP พลาดท่า ไม่ผ่านทางด้านคุณสมบัติ เนื่องจากลงนามไม่ครบถ้วนตามสัญญา ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับการลงนามในสัญญากิจการร่วมค้านี้ ว่ากันจริง ๆ แล้ว ไม่มีผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ถึงแม้เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ปรากฏว่าผู้อำนวยการ กทท.ได้มีหนังสือแจ้งกลับมาว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติ แหล่งข่าวแจ้งว่าเอกชนที่เหลือรายเดียวกันนั้นเสนอผลประโยชน์ให้รัฐน้อยกว่ากิจการร่วมค้า NCP ประมาณหมื่นล้านบาท ทำให้กลุ่ม NCP ชี้ กทท. เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายเดียว ซึ่งล่าสุด ปธ.ผู้ตรวจฯ เผย เตรียมชง ผอ.การท่าเรือ-บอร์ดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทบทวนคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะ 3 หลังสอบแล้ว ตัดทิ้งกิจการร่วมค้าเอ็นพีซี ไม่ถูกต้องจริง

2) การประมูลอู่ตะเภา กับการปัดตกกลุ่มซีพีก่อนการเปิดซองราคา พร้อมไม่รับพิจารณา 2 กล่อง ขนกล่องช้าไป 9 นาที ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดี กรณี 'กลุ่มซีพี' ฟ้องค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล้านบาท เห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งไม่รับซองเทคนิค-ราคา' เกินเวลา ชี้เป็นขั้นตอนทางธุรการ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเที่ยง แถมรัฐได้ประโยชน์มีการแข่งขันเสนอราคามากขึ้น อย่างไรก็ตามศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้อง กลุ่มซีพี ค้านมติประมูลอู่ตะเภาฯ 2 แสนล้านบาท ชี้ยื่นข้อเสนอ 2 กล่อง ข้อเสนอด้านเทคฯ-ด้านราคา เกินระยะเวลาตามที่ กก.คัดเลือกกำหนดไว้ ทำให้กลุ่มซีพีอาจต้องไปลุ้นในขั้นอุทธรณ์ต่อไป

3) เรื่องสุดท้าย คือ ข่าวดังจากสื่อฉบับหนึ่งเรื่อง จับพิรุธ ทอท. ‘เจ้าที่’ หรือ ‘เจ้าถิ่น’ สกัดเอาท์เล็ตหรูเซ็นทรัล ยกเลิกการส่งคืนที่พัสดุ ปิดทางเข้าออกเซ็นทรัล วิลเลจ ซึ่งวันที่ 30 ส.ค. 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต และยุติการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ใด ๆ ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด และการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ หากรัฐมองประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ควรมองว่าความผิดพลาดนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลหรือไม่ เทียบกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้ หรือหากเอกชนที่จะมาทำงานกับภาครัฐต้องระวังตัวทุกระเบียดนิ้ว ว่าจะมีข้อผิดพลาดใดเกิดขึ้น พร้อมถูกปัดตกได้ตลอดเวลา วันข้างหน้า เอกชนทำงานกันเอง น่าจะง่ายและสะดวกกว่า ไม่เสียทั้งเวลา และเงินลงทุน


กำลังโหลดความคิดเห็น