xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลประทานคัดเลือกโครงการชลประทานสมุทรสงคราม และกลุ่มผู้ใช้น้ำรวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม เสนอเพื่อเข้ารับรางวัลเลิศรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมชลประทานคัดเลือกโครงการชลประทานสมุทรสงคราม และกลุ่มผู้ใช้น้ำรวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม เสนอเพื่อเข้ารับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2562 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม

นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานโดยกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการชลประทานสมุทรสงครามเป็นหน่วยงานเข้าสมัครรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2562 สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change)

ทั้งนี้ โครงการชลประทานสมุทรสงครามเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและสนับสนุนการพัฒนากลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานรวมใจพัฒนาเมืองสามน้ำแพรกหนามแดง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะเข้าไปสนับสนุน ผลักดันแนวคิดการแก้ไขปัญหาของชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรม ที่ชุมชนได้ดำเนินการแก้ไขด้วยงานวิจัยของชุมชน เพื่อแก้ปัญหาระบบนิเวศ 3 น้ำ ประกอบด้วย น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม โดยมีคลองเชื่อมถึงกัน 36 ลำคลอง ในพื้นที่ 21,138 ไร่ 6 หมู่บ้าน

โดยมีการนำบานประตูแบบบานหับเผย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในอดีตและใช้อยู่ในนากุ้งและเรือนไทยมาก่อน โดยทดลองใช้ก่อน 2 แห่ง และเมื่อได้ผลจึงขยายเพิ่มเป็น 21 แห่งในเวลาต่อมา ซึ่งกรมชลประทานได้อาศัยการผสมผสานระหว่างแนวคิดของบานประตูหับเผยเข้ากับแนวคิดวิศวกรรมชลประทาน ช่วยให้สามารถใช้การได้ดี ลดปัญหาน้ำเค็มกับน้ำจืดและน้ำกร่อย ทำให้สามารถลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่ประกอบอาชีพในพื้นที่ 3 น้ำดังกล่าว

“บานหับเผยเป็นนวัตกรรมที่กรมชลประทานพัฒนาร่วมกับชุมชนแพรกหนามแดงที่ได้คิดค้นเป็นต้นแบบ โดยเป็นบานประตูน้ำที่กั้นน้ำเค็มไม่ให้หนุนเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดที่ทำนาทำสวน ขณะเดียวกันเมื่อน้ำหลากก็สามารถระบายออกได้ โดยไม่กระทบพื้นที่น้ำกร่อยที่เลี้ยงกุ้ง หรือกระทั่งพื้นที่น้ำเค็มที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลเช่นกัน”

กรมชลประทานเคยได้รับรางวัลเลิศรัฐประเภทเดียวกันนี้ในโครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชนและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น