คนมักเรียกติดปากว่า แควระบมสียัด ทั้งที่เป็นคนละแควกัน
ด้านเหนือของแควระบมมีเขื่อนระบมปิดกั้น ความจุอ่างเก็บน้ำ 55.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นกัน
ด้านเหนือของแควสียัดก็มีเขื่อนสียัดปิดกั้นไว้ ความจุ 420 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งสองแควไหลมาบรรจบกันที่ท่าลาด อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีฝายท่าลาดเป็นตัวทดน้ำและส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรนับแสนไร่
พื้นที่การเกษตรตามคลองส่งน้ำของฝายท่าลาดเคยเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงถึงขั้นแย่งชิงน้ำกัน จนต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเข้าไปแก้ไข จากที่ไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ปัจจุบันฝายท่าลาดเป็นสถานที่ดูงานของคนไทยและต่างชาติ ว่าด้วยความสำเร็จของกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ลุกขึ้นแก้ปัญหาตัวเองร่วมกับส่วนราชการ
เหนือฝายท่าลาดขึ้นไปแควระบม บริเวณสองฝั่งที่แควระบมไหลผ่าน มีราษฎรเข้าไปทำกินในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน 2 ตำบล ของ ต.ท่ากระดาน กับ ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กว่า 30,000-40,000 ไร่ แต่ประสบปัญหาทั้งน้ำหลากท่วมและน้ำแล้ง
“พื้นที่ลุ่มน้ำตรงนี้ปัญหาน้ำท่วมจะหนักกว่าปัญหาแล้ง” นายชญาน์ทัต สิทธิวิชชากร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานฉะเชิงเทรากล่าว “ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาฝนตกหนัก ท่วมไปแล้ว 2 ครั้ง” ย่อมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้เป็นอย่างดี
ที่จริงน้ำจากแควระบมไหลผ่านพื้นที่ลงมาเร็ว แต่ยุบไม่เร็ว เพราะพื้นที่ฝายท่าลาดที่อยู่ด้านล่างออกตัวได้ช้า ถ้าจะให้เร็วต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเสียใหม่ จากฝายท่าลาดเป็นประตูระบายน้ำ (ปตร.) ท่าลาด ซึ่งมีขีดความสามารถมากกว่า
โครงการชลประทานฉะเชิงเทราอยู่ระหว่างการเสนอโครงการก่อสร้าง ปตร.ท่าลาด อยู่ คาดว่าใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ปตร.ท่าลาด ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น ทั้งลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ช่วงน้ำหลาก กลับกัน ยังจะช่วยให้น้ำจากแควระบมที่ผ่าน 7 หมู่บ้านลงมาได้เร็วขึ้น ลดการท่วมพื้นที่แควระบมด้วย
แควสียัดนั้น ก่อสร้าง ปตร.ไว้สำหรับบริหารจัดการน้ำในลำน้ำแล้ว ซึ่งจะช่วยหน่วงน้ำไม่ให้ลงฝายท่าลาดเร็วนัก แต่แควระบมยังไม่มีเลยแม้ตัวเดียว
“หากมี ปตร.ในลำน้ำแควระบม ก็จะเป็นอีกแรงที่ช่วยหน่วงน้ำไว้ก่อน พอปล่อยลงท่าลาดซึ่งในอนาคตมี ปตร.แทนฝายก็จะช่วยให้น้ำไหลลงปลายทางเร็วขึ้น ลดการท่วมทุกส่วน ตั้งแต่ลุ่มน้ำแควระบม ท่าลาด และปลายทางอีกด้วย”
ปลายทางของคลองท่าลาดคือแม่น้ำบางปะกง
โครงการชลประทานฉะเชิงเทราใช้กระบวนการมีส่วนร่วมฝายท่าลาด ในรูปแบบเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) ที่ได้พัฒนามาจากกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน จนประสบความสำเร็จแล้ว โดยให้หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปจัดเวทีการมีส่วนร่วมในรูปแบบวิทยากรกระบวนการ เพื่อค้นหาทางออกในปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการในพื้นที่ 7 หมู่บ้านลุ่มน้ำแควระบม ด้วยเครื่องมือการมีส่วนร่วมของชุมชนเช่นกัน
“ทัศนคติเดิมๆ ของชาวบ้านคือต้องการรู้ว่ากรมชลประทานจะเอาโครงการอะไรมาลง แต่ในฐานะของคนที่ทำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เราต้องการให้เขาสะท้อนปัญหาเอง คิดหาแนวทางแก้ไขด้วยตัวเองก่อน ซึ่งกระบวนการนี้เราลงมือทำไปแล้วเมื่อปี 2561”
ที่ว่าทำไปแล้วคือการจัดเวทีชุมชน เปิดให้ทุกคนได้ลุกขึ้นพูด สะท้อนปัญหา ความเดือดร้อน ความต้องการ การจัดทำประวัติชุมชนความเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน การเดินสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำแผนที่ชุมชนหรือแผนที่ทำมือที่ทุกคนช่วยกันวาด มีทั้งเส้นทางน้ำ บ้านเรือน สถานที่สำคัญ ดูแล้วเข้าใจร่วมกัน มากกว่าแผนที่ทางการที่น้อยคนนักจะดูรู้เรื่อง
“เราดำเนินการสู่ปีที่สองแล้ว ตอนนี้อยู่ช่วงโค้งสุดท้ายว่าชุมชนต้องการอะไร อย่างไร โดยจัดลำดับโครงการก่อนหลัง ประตูระบายน้ำในลำน้ำแควระบมก็เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการ” นายชญาน์ทัตกล่าว
ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมแล้ว ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพของตัวเองว่าเป็นคนที่อยู่กับปัญหาย่อมรู้ปัญหาได้ดีกว่าใคร วิธีการแก้ไขปัญหาที่น่าจะดีสำหรับทุกคน แทนการปล่อยให้ส่วนราชการกำหนดแต่ฝ่ายเดียว
“ที่นี่เคยมีการก่อสร้างฝายมาแล้ว แต่เป็นการคิดของส่วนราชการฝั่งเดียวและไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะไม่ตรงต่อความต้องการของชุมชน แต่ครั้งนี้จะเป็นการคิดวางแผนโดยชุมชนมีส่วนร่วมกับส่วนราชการตั้งแต่ต้นทางเลย ฉะนั้นโอกาสจะสำเร็จมีค่อนข้างสูงและจะเกิดประโยชน์ต่อเนื่องถึงชั้นลูกหลานในระยะยาว” หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำบำรุงรักษา 3 โครงการชลประทานฉะเชิงเทรากล่าว
เป็นการจุดประกายความตื่นตัวแก้ไขปัญหาด้วยชุมชน มากกว่ารอคอยเพียงความช่วยเหลือโดยตัวเองไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด