นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เพื่อให้การจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (Joint Management Committee for Irrigation-JMC) ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมชลประทานจึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดตั้ง (JMC) โดยมีกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนรับผิดชอบดำเนินการ
ทั้งนี้ ได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีรูปแบบของงานชลประทานและลักษณะพื้นที่แตกต่างกันเป็นพื้นที่ดำเนินงาน โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขนาดเล็กที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการบริหารจัดการน้ำแล้ว ได้แก่ โครงการชลประทานเชียงใหม่
โครงการที่มีระบบชลประทานแบบอ่างพวง อยู่ระหว่างก่อสร้างระบบชลประทานและอยู่ระยะก่อนส่งน้ำบำรุงรักษา ได้แก่ โครงการชลประทานชัยภูมิ ร่วมกับสำนักงานก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ 13 (พื้นที่ อ.หนองบัวระเหว)
โครงการที่มีระบบชลประทานที่มีประตูระบายน้ำในลำน้ำต่อเนื่องกัน ได้แก่ โครงการชลประทานนครราชสีมา (พื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง)
โครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอยู่ระหว่างก่อสร้างระบบชลประทาน ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่มีการดำเนินการด้านองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก จ.สุพรรณบุรี
“โดยเป็นการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมที่ขยายผลจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว จ.สุพรรณบุรี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งกรมชลประทานได้รับรางวัลคุณภาพบริการประชาชน จากองค์กรสหประชาชาติ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการจัดตั้ง JMC ในพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมชลประทานในการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้จัดตั้ง JMC แล้ว 264 คณะ และกำลังดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 571 คณะ เป็น 835 คณะ ตามแผนภายในปี 2565