xs
xsm
sm
md
lg

จากเมืองเพียโมเดล สู่การพัฒนาดินเค็มที่กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวิรัตน์ แสงแก้ว ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มประมาณ 150,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอยางตลาด อำเภอฆ้องชัยพัฒนา อำเภอกมลาไสย อำเภอร่องคา และอำเภอห้วยเม็ก นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีกประมาณ 45,000 ไร่ที่อยู่บนเนินรับน้ำ ซึ่งมีศักยภาพที่จะแพร่กระจายดินเค็มได้หากมีการจัดการไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ปัญหาดินเค็มส่งผลกระทบต่อเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงตามไปด้วย

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถานีพัฒนาที่ดินกาฬสินธุ์ได้ทำโครงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย โดยนำเอาแนวคิดและวิธีการจัดการดินเค็มของเมืองเพียโมเดลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มในพื้นที่ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร วางแผนและขับเคลื่อนร่วมกันส่งผลให้แก้ปัญหาได้ตรงตามความต้องการ เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มในการทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็มในพื้นที่อื่นได้เป็นอย่างดี

นางสาวอุไรวรรณ ถายา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวเสริมว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของจังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มนำต้นแบบเมืองเพียโมเดลมาใช้ตั้งแต่ปี 2557 ดำเนินการในพื้นที่ อ.ยางตลาด เนื่องจากมีพื้นที่ดินเค็มจำนวนมาก ในปีแรกพื้นที่ตัวอย่าง 1,500 ไร่ รูปแบบกิจกรรมคือ การให้ความรู้เกษตรกรโดยการอบรมและจัดเวทีเสวนาเพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาดินเค็มและแนวทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม การจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นเศรษฐกิจบนคันนา เช่น ยูคาลิปตัส เพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินเค็มทั้งบนผิวดินและใต้ผิวดิน รณรงค์การปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชปุ๋ยสดและไถกลบตอซัง ซึ่งได้ทำโครงการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พื้นที่ดำเนินการเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.หัวนาคำ ต.คลองขาม ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มเกษตรกรตัวอย่าง 30 รายที่เข้าร่วมโครงการฯ พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจมาก ทั้งในด้านสามารถลดความเสียหายของพื้นที่จากการแพร่กระจายดินเค็ม การแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม ทำให้พื้นที่การเกษตรใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการทำการเกษตรเพิ่มขึ้น 96.97% ของจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากการผลิตข้าวในพื้นที่ดินเค็มต่อไร่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งเสริมปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา นอกจากจะช่วยลดการแพร่กระจายดินเค็มได้แล้วยังมีรายได้จากการขายไม้ยูคาลิปตัสด้วย

“ผลสำเร็จจากการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในครอบครัวและชุมชนของเกษตรกรให้ดีขึ้น เพราะพื้นที่เดิมที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ สามารถกลับมาทำการเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากมีแรงงานคืนถิ่นกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิด หันมาทำอาชีพเกษตรกรรม สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว ใช้ชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืนต่อไป”


กำลังโหลดความคิดเห็น