xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้ว 27 ขบวน! บีทีเอสคาดรับรถใหม่ปี 63 ครบ 46 ขบวน เพิ่มความถี่ช่วงเร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บีทีเอส” ทยอยรับมอบขบวนรถใหม่แล้ว 27 ขบวน จากทั้งหมดที่สั่งซื้อ 46 ขบวน คาดรับมอบครบในปี 2563 จะมีรถทั้งสิ้น 98 ขบวน เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งปัจจุบันสายสุขุมวิทที่ 2.40 นาทีต่อขบวน และสายสีลม 3.45 นาทีต่อขบวน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2542 บีทีเอสได้เพิ่มจำนวนขบวนรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อปี 2559 รถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่บีทีเอสได้สั่งซื้อล็อตใหญ่รวม 46 ขบวน โดยได้ทยอยรับมอบเข้ามาแล้ว 27 ขบวน ทำให้ปัจจุบัน (สิงหาคม 2562) มีขบวนรถในระบบรวมแล้วทั้งสิ้น 79 ขบวน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 52 ขบวนในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ขบวนรถไฟฟ้าใหม่จะรับมอบครบถ้วนภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บีทีเอสมีรถไฟฟ้าออกให้บริการมากถึง 98 ขบวน เป็นความสะดวกสบายที่บีทีเอสตั้งใจมอบแก่ผู้โดยสารและประชาชนทุกคน

“ในปี 2542 ที่เปิดให้บริการครั้งแรก บีทีเอสมีขบวนรถให้บริการ 35 ขบวน และได้สั่งซื้อขบวนรถเพิ่มอย่างต่อเนื่อง 3 ครั้ง รวม 4 ล็อต โดยสั่งซื้อเพิ่มครั้งแรกในปี 2548 จำนวน 12 ขบวน ครั้งที่สอง ในปี 2554 จำนวน 5 ขบวน และครั้งที่สาม ในปี 2559 จำนวน 46 ขบวน นอกจากเพิ่มจำนวนขบวนรถ บีทีเอสยังเพิ่มตู้โดยสารขบวนรถจาก 3 ตู้โดยสารต่อขบวน เมื่อเริ่มให้บริการในปี 2542 เพิ่มมาเป็น 4 ตู้โดยสารต่อขบวน และเมื่อมีขบวนรถครบถ้วน 98 ขบวน จะมีตู้โดยสาร 392 ตู้ เพิ่มจาก 35 ขบวน 105 ตู้โดยสาร เมื่อเริ่มให้บริการ”

นายสุรพงษ์กล่าวว่า จำนวนรถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้การเดินรถมีความถี่สูงสุดได้ในชั่วโมงเร่งด่วน แม้จะมีการขยายเส้นทาง และจำนวนสถานีที่ให้บริการเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบีทีเอสให้บริการรวม 44 สถานี ทั้งในสายสีลมและสายสุขุมวิท มีความถี่การเดินรถสูงสุดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น ในสายสุขุมวิท (สถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีสำโรง) ที่ 2.40 นาทีต่อขบวน และในสายสีลม 3.45 นาทีต่อขบวน

“สายสีลมมีข้อจำกัด ช่วงคอขวดสถานีสะพานตากสินเป็นทางเดี่ยว ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งได้ทีละขบวน วิ่งสวนกันไม่ได้ จึงต้องจอดคอยเพื่อสลับกันวิ่ง สายสีลมจึงไม่อาจทำความถี่สูงสุดได้มากเท่าสายสุขุมวิท ขณะนี้บีทีเอสอยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้พื้นที่เพื่อปรับปรุงขยายสถานีให้รถไฟฟ้าวิ่งสวนกันได้จากกรมทางหลวงชนบท หน่วยงานเจ้าของพื้นที่ รวมทั้งได้จัดทำและเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขอดำเนินการปรับปรุงขยายสถานีดังกล่าวต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หากดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ความถี่ในสายสีลมเพิ่มมากขึ้น เป็นความสะดวกสบายแก่ประชาชนที่มากขึ้น”



กำลังโหลดความคิดเห็น