การตลาด – พิษ ศก.-เทรดวอร์ กระทบชิ่งใส่ ตลาดสินค้าความงามของไทย มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทสะดุด ต้องออกแรงเหนื่อย คาดปีนี้ตลาดรวมชะลอ หรือโตอย่างเก่งไม่เกิน 2% ผู้ประกอบการเร่งปรับเกมรบในไทยและปรับทิศบุกต่างประเทศ
ตลาดสินค้าและบริการด้านความงามของไทย ถือได้ว่า เป็นตลาดที่ไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้กระทั่งในตลาดระดับภูมิภาคเอเชียก็ว่าได้
มูลค่าตลาดรวมความงามของไทยที่สูงประมาณ 3 แสนล้านบาท ต่อปีนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และมีการเติบโตที่ดีเป็นประจำ โดยการแบ่งออกเป็น ตลาดในประเทศ มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท และตลาดส่งออก มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท
ไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ปัจจุบันไทยนี้เป็นผู้นำตลาดความงามกลุ่มประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก หรือการค้าขายทั่วโปโดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนไทยและเพื่อนบ้าน มีการส่งออกรวมไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท
ทว่า สถานการณ์ในขณะนี้กลับพบว่า ตลาดรวมสินค้าความงามของไทย กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาหลายประการ ไม่ต่างกับตลาดรวมในอุตสาหกรรมอื่นๆเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาหลักๆคือ สภาพเศรษฐกิจของไทยในขณะที่ยังไม่ค่อยจะกระเตื้องขึ้นเท่าที่ควรซึ่งก็เป็นมาหลายปีแล้ว กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวล หรือใช้จ่ายไม่มากเท่าในอดีต การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้ประกอบการทั้งแบรนด์ไทยเองและจากแบรนด์ต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง
รวมไปถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งจากค่าแรง และค่าวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยร้อนในยามนี้ ที่ส่งผลให้ผู้ผลิตของไทยที่ตลาดใหญ่คือ ผู้ผลิตระดับเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ที่สำคัญจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกมีราคาสูงขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าตลาดเป้าหมายต่างประเทศย่อมต้องชะลอการสั่งซื้อในระดับหนึ่ง เพราะหันไปหาตลาดแบรนด์อื่นจากประเทศอื่นที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน
นางเกศมณี เลิศกิจจา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า จากภาพรวมของตลาดสินค้าความงามของไทย คาดว่า ปีนี้ตลาดรวมยังคงทรงตัว เติบโตได้อย่างมากก็ประมาณ 5% เท่ากับปีที่แล้ว
เพราะว่า ผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะในระดับเอสเอ็มอีต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนดำเนินการผลิตที่สูงขึ้น จึงอยากวิงวอนให้ทางภาครัฐบาลมองเห็นถึงความสำคัญของตลาดนี้ และต้องเข้ามาช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย
ขณะที่ตลาดของการส่งออกก็อยู่ในภาวะที่อาจจะชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย เพราะเป็นผลกระทบที่มาจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่าง จีน-สหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ภาวะการค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบด้วย ที่สำคัญอีกคือ ค่าเงินบาทของไทยที่ช่วงนี้แข็งค่าขึ้นอย่างมาก 0 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดส่งออกสินค้าความงามของไทยอาจจะสะดุดและได้รับผลกระทบ จากปัจจัยหลักขณะนี้คือ เทรดวอร์ระหว่าง จีนกับสหรัฐอมริกา รวมถึง ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งตลาดส่งออกของไทย ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาก็ไม่ได้หวือหวาเท่าที่ควรมากนัก
กล่าวคือ ในปี 2558 มูลค่าตลาดส่งออกสินค้าตวามงามของไทยมีประมาณ 82,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 84,000 ล้านบาทในปี 2559 แล้วลดลงมาเหลือ 83,000 ล้านบาทในปี 2560 ขณะที่ช่วง8เดือนแรกปี2561มีมูลค่าประมาณ 62,000 ล้านบาท
ตลาดส่งออกหลักๆของไทยคือ อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ และอื่นๆ
“สถานการณ์ตลาดความงามในประเทศ แต่ละปีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายๆรายต้องปิดตัวลงไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจต่อได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มต้นในช่วงแรกดีแต่ก็จะทำตลาดได้เพียงระยะแรกเท่านั้น ผลิตมาเพื่อทดลองตลาดหลักร้อยถึงพันชิ้น จากนั้นก็ขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะใช้ในการเดินหน้าธุรกิจต่อ หรือไม่มีกำลังจะจดทะเบียนให้ถูกต้อง รวมถึงช่องทางขายไม่มี อีกทั้งช่องทางออนไลน์ไม่เอื้อกับเครื่องสำอางแบรนด์ใหม่ๆ ลูกค้าไม่กล้าซื้อ เพราะเป็นสินค้าที่ต้องทดลองใช้จริงก่อน” นางเกศมณี กล่าวถึงปัญหาของผู้ผลิตระดับเอสเอ็มอีของไทย
ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนด้านความงามรายใหญ่ อย่าง แบรนด์ “บิวตี้ บุฟเฟ่ต์” ก็มีมุมมองไม่ต่างกัน
ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวให้ความเห็นว่า ตลาดรวมความงามขณะนี้ค่อนข้างที่จะทรงตัว ไม่หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา เพราะภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ซึ่งคาดว่าจะเติบโตเพียงแค่ 2% ด้วยซ้ำไป โดยในช่วงครึ่งปีแรก2562นี้ ยังไม่ค่อยดีนัก แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดรวมจะสามารถกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้ จากการเร่งทำตลาดของผู้ประกอบการโดยรวม
การโตเท่าปีที่แล้ว ก็ย่อมหมายความว่า ตลาดรวมไม่ค่อยดีนั่นเอง
สวนทางกับช่วงที่ผ่านมาที่ ตลาดสินค้าความงามมักจะมีการเติบโตโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% อยู่แล้วทุกปี
“ปี2562 นี้ คาดจะเป็นปีแรกที่ผลประกอบการของบริษัทฯตกลงมากที่สุดในรอบ 22 ปีก็ว่าได้ คือคาดว่าจะทำได้ประมาณ 2,200 ล้านบาท เท่านั้น จากในอดีตช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ รายได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง” ดร.พีระพงษ์ กล่าว
นับตั้งแต่ปี 2560 ที่บริษัท บิวตี้ฯมีรายได้สูงถึง 3,700 ล้านบาท กลับตกลงมาเหลือ 3,500 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะว่าเศรษฐกิจช่วงนี้ขาลงค่อนข้างมาก
ประกอบกับผลกระทบของบริษัทฯเกิดจากตลาดจีนอีกด้วย
“จีนถือเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทฯ จากการที่คนจีนที่มาเที่ยวในไทย แล้วจำนวนมากมาซื้อสินค้าของเราที่บิวตี้ แล้วหิ้วนำกลับไปขายต่อที่เมืองจีนซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ซึ่งก่อนหน้านี้มีไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย ที่เรามีข้อมูล เป็นตลาดหิ้วกัน เพราะสินค้าของเราเป็นที่ยอมรับจากคนจีนอย่างมาก แต่เมื่อทางภาครัฐบาลของจีนไม่นานนี้ได้ออกกฏหมายมาคุมเข้มกับคนจีนที่นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในประเทศด้วยวิธีนี้ ทำให้ตลาดตรงนี้ของเราชะลอไปโดยปริยาย และส่งผลกระทบกับภาพรวมของบริษัทฯเหมือนกัน” ดร.พีระพงษ์ กล่าว
นายกวิน สัณฑกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารแบรนด์ วุฒิศักดิ์ กล่าวให้ความเห็นว่า ตลาดรวมความงามของไทยยังมีศักยภาพและเติบโตได้อีกมากในอนาคต แม้ว่าในช่วงนี้จะเกิดภาวะชะค่อนข้างนิ่ง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี และปัญหาอื่นๆไม่ว่าจะเป็น กำลังซื้อ หรือ การแข่งขัน ตลอดจนอารมณ์จับจ่ายของผู้บริโภค
สถานการณ์ที่ไม่ดี การปรับตัวจึงเกิดขึ้น
ด้านของบิวตี้ คอมมูนิเคชั่น ต้องปรับยุทธศาสตร์ จากเดิมที่ธุรกิจรีเทลคือ ร้านบิวตี้บุฟเฟ่ต์ เป็นร้านมัลติแบรนด์ ที่ขายสินค้าหลายแบรนด์อยู่แล้ว แต่ก็เป็นแบรนด์ของบริษัทฯทั้งหมด ต้องหยุดอยู่เท่านี้ เพื่อหันมาเปิดกว้างยนำสินค้านอกเครือแบรนด์อื่น เข้ามาจำหน่ายในร้านร่วมกันด้วยเป็นครั้งแรก เพื่อความหลากหลายและกระตุ้นยอดขายรับมือตลาดในภาวะเช่นนี้ หวังรายได้รวมที่ 2,200 ล้านบาทในปีนี้
เบื้องต้นเริ่มด้วยพันธมิตรจำนวน 14 แบรนด์ก่อน ที่นำสินค้าความงามเข้ามาขายในร้านบิวตี้บุฟเฟ่ต์ จำนวน 4 สาขาก่อนในช่วงนี้ เริ่มทีสาขาเอมบีเคเซนเตอรื และจะเพิ่มอีก 3 สาขา คือ เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลชลบุรี และโรบินสันตรัง จากจำนวนทั้งหมดของรานบิวตี้บุฟเฟ่ต์ที่มีประมาณ 259 สาขาทั่วประเทส อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถนำเข้าไปวางจำหน่ายได้ประมาณ 120 สาขา ที่มีความเหมาะสมที่ทำได้ โดยตั้งเป้าหมายสินค้าพันธมิตรจะเพิ่มเป็น 20 แบรนด์ในปีหน้า และสัดส่วนสินค้าพันธมิตรจะเป็น 30% และสินค้าของบริษัทฯยังเป็นหลักที่ 70%
ส่วนตลาดต่างประเทศ ก็ต้องแก้เกมด้วยการขยายตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบิวตี้คอมมูนิตี้นั้นด้วยสัดส่วนรายได้ที่มากกว่า 70% ของตลาดต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 13 ประเทศแล้วที่มีสดส่วนประมาณ 40% จากรายได้รวมกว่า 2,200 ล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ และจะขยายเพิ่มอีก 2 ประเทศด้วย จึงต้องเร่งแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแทนที่จะเป็นตลาดในรูปแบบเดิมๆ เพื่อเสริมศักยภาพจากเดิมที่มีชอ่งทางการขายผ่านออนไลน์ด้วยในกว่า 10 แพลตฟอร์มใหญ่ๆของจีน
ส่วนทางด้าน วุฒิศักดิ์ ซึ่งเพิ่งเริ่มขยายธุรกิจจากรีเทลความงามสู่สินค้าในช่วงนี้พอดี ก็วางหมากเกมที่น่าสนใจ นายกวิน กล่าวว่า ธุรกิจสินค้าความงามจะใช้ชื่อว่า วุฒิศักดิ์ คอสเมติกส์ มี 2 ส่วนคือ 1.แบรนด์วุฒิศักดิ์ เริ่มด้วยเมจิกคอลเลคชั่น มีเจลอาบน้ำและบอดี้โลชั่น และ 2.โอนแบรนด์หรือวุฒิศักดิ์ ซีเล็ค คือบริษัทเลือกสรรสินค้าที่ดีมีศักยภาพและพัฒนาเป็นของเราเอง มีเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เริ่มด้วยแบรนด์สเนลเอท ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสกัดจากเมือกหอยทาก
การเคลื่อนทัพหลักๆที่น่าสนใจคือ การเปิดรีเทลชอปแบบชั่วคราวบนสถานีบีทีเอสเริ่มที่บีทีเอสราชดำริ เป็นแบบป๊อปอับ นาน1 ปี รวมพื้นที่ 157 ตารางเมตร มีบริการใหม่ๆเช่น สปาเล็บ การต่อขนตา ทรีทเมนต์ใบหน้า บิวตี้คาเฟ่ เป็นต้น ภายในต้นปีหน้าจะเปิดป๊อปอัพอีกอย่างต่ำ 4 แห่ง
การดึงศิลปินดังจากเกาหลีอย่าง “ชา อึนอู” แห่งวงแอสโทร มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ วุฒิศักดิ์ เป็นครั้งแรก ตลอดจนการเปิดตัวไลน์ออฟฟิศเชียลของวุฒิศักดิ์คอสเมติสก์ ทั้งหมดก็เพื่อการสร้างแบรนด์และการสร้างให้ตลาดรับรู้เพื่อนำไปสู่ยอดขาย ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าหมายยอดรายได้รวมไว้ที่ 500 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากคลินิก 200 ล้านบาท และรายได้จากสินค้าคอสเมติกส์ 300 ล้านบาท