xs
xsm
sm
md
lg

GPSC ผนึก ปตท.ผุดโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบที่สหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปตท.เซ็นสัญญาร่วมวิจัยกับ GPSC ในโครงการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid ทุ่ม 20 ล้านเหรียญสหรัฐใน 2 ปี ผุดโรงงานต้นแบบที่บอสตัน สหรัฐฯ พร้อมเปิดทางผู้ถือหุ้น 24M Technology และค่ายรถยนต์เข้าร่วมทุนด้วย ระบุหากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบประสบความสำเร็จก็เดินหน้าผลิตเชิงพาณิชย์ทันที



วันนี้ (22 ส.ค.) นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ (GPSC )ได้ร่วมลงนามกับนายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในสัญญาร่วมวิจัย “โครงการวิจัยและพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Pilot Plant) ด้วยเทคโนโลยีเซมิ-โซลิด (Semi-Solid)” โดยร่วมศึกษาและพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี และดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ และต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยี Semi-Solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบใหม่ของ 24M Technology ที่ GPSC เข้าไปร่วมลงทุน

นายชวลิต ทิพพาวนิช กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเทคโนโลยีเซมิ-โซลิค จะตั้งอยู่ที่บอสตัน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 24 M Technology เพื่อให้สะดวกในการดำเนินการเพราะมีนักวิจัยพร้อม ขณะเดียวกันทาง GPSC และ ปตท.วางกรอบเงินลงทุนในโรงงานต้นแบบดังกล่าว 20 ล้านเหรียญสหรัฐใน 2 ปี พร้อมทั้งเสนอให้ 24M Technology ชักชวนผู้ถือหุ้น อาทิ อิโตชู เคียวเซรา มาร่วมทุนโรงงานต้นแบบนี้ รวมทั้งหาพันธมิตรที่สนใจ อาทิ ค่ายรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเดิม GPSC เคยมีแนวคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบเทคโนโลยี 24M Technology ในไทย แต่มีข้อจำกัดว่าไทยมีความชื้นสูง ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ มีตลาดใหญ่ และอยู่ใกล้นักวิจัย เป็นต้น

โดยมั่นใจว่าการผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบนี้จะช่วยลดขั้นตอนการผลิตลงได้กว่า 50% อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเซลล์แบตเตอรี่ให้มีความปลอดภัยสูง อันจะช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ในระยะยาว ซึ่งราคาต้นทุนแบตเตอรี่ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากปัจจุบันราคาตลาดแบตเตอรี่อยู่ที่ 160 เหรียญสรหัฐ/กิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งแต่ละปีราคาแบตเตอรี่ปรับลดลง 10%

ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบในไตรมาส 3 ปีนี้ และก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2563 ด้วยมีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยโรงงานต้นแบบนี้จะผลิตแบตเตอรี่สูตร LFP เพื่อใช้งานภายในบ้านที่อยู่อาศัย ส่วนการแบตเตอรี่ภายใต้สูตร NMC สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพัฒนา

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ทางด้านพลังงานของ กลุ่ม ปตท.ที่มุ่งใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากขึ้น โดยมีแบตเตอรี่เป็นรากฐาน และเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ซึ่งภายใน 15 วันหลังการลงนาม ทั้งสองฝ่ายจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Steering Committee) รวม 7 คน โดยมีประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลความก้าวหน้าและติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

การดำเนินการในระยะแรก คณะกรรมการฯ จะทำการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการศึกษาในรายละเอียด ในการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid จัดทำแผนการก่อสร้าง แผนการควบคุมการผลิตและทดสอบ กำหนดตัวชี้วัด และเกณฑ์การพิจารณา เพื่อเป็นขั้นตอนพิสูจน์ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีทั้งทางด้านเทคนิค และเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งจัดทำงบประมาณในการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ต้นแบบ

ส่วนในระยะถัดไป หากทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมดำเนินการลงทุนก่อสร้าง Pilot Plant แล้ว จะมีการกำหนดแผนการผลิต และดำเนินการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงานต้นแบบตามตัวชี้วัด และเกณฑ์ที่กำหนดไว้ พร้อมมีการส่งมอบแบตเตอรี่ที่ผลิตได้ นำไปสู่การใช้จริง โดยผ่านการทดสอบจากกลุ่มลูกค้า เพื่อนำข้อเสนอแนะจากลูกค้ากลับมาพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น หากโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ประสบความสำเร็จก็จะขยายการผลิตสู่ระดับเชิงพาณิชย์ร่วมกัน ส่วนโรงงานจะจัดตั้งในไทยหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาทั้งด้านโลจิสติกส์ การส่งเสริมการลงทุน เบื้องต้นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ฯ จะใช้เงินลงทุนไม่ใหญ่มาก โดยกลุ่ม ปตท.คาดหวังอยากให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น