xs
xsm
sm
md
lg

ไทยโชว์ศักยภาพผู้นำ LNG-ไฟฟ้าอาเซียนในเวที AMEN ครั้งที่ 37

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สนธิรัตน์” พร้อมจัดงาน AMEM ครั้งที่ 37 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-6 กันยายนนี้ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมโชว์ศักยภาพไทยเป็นฮับด้านแอลเอ็นจีและการเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน ด้าน ปตท.เตรียมชงแผนลงทุน 2 เส้นท่อก๊าซฯ “ท่อเส้นโคราช-ขอนแก่น” และ “ท่อเส้นพระนครใต้-บางปะกง” รองรับการเป็นฮับแอลเอ็นจี



นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครังที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 โดยประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 จะเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชุม โดยปีนี้จะเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายของอาเซียนที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการเข้าถึงพลังงาน และสร้างพลังงานที่มีความยั่งยืนให้แก่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียน

โดยการประชุม AMEM ครั้งนี้เป็นเวทีที่ไทยจะได้แสดงบทบาทในการขับเคลื่อนความมั่นคง และความยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับประเทศในภูมิภาค โดยไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน และเป็นศูนย์กลางก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในภูมิภาคนี้ เนื่องจากไทยมีความพร้อมทั้งโครงสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจีเทอร์มินัล) และโครงข่ายท่อก๊าซฯ ที่ ปตท.ดำเนินการมานาน 30 ปี รวมทั้งไทยเป็นจุดที่ตั้งแลนด์ลิงก์ด้านก๊าซฯ จึงมีศักยภาพในการเป็นผู้นำแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ โดยสามารถนำแอลเอ็นจีไปจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ เนื่องจากหลายประเทศไม่ต้องการลงทุนแอลเอ็นจีเทอร์มินัล

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ ปตท.ทำแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฮับก๊าซแอลเอ็นจีในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันกำลังการผลิตก๊าซแอลเอ็นจีในโลกมีมาก ขณะที่ความต้องการใช้ก๊าซฯ ในอาเซียนนี้นับวันก็จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากก๊าซฯ เป็นพลังงานสะอาดนำไปใช้แทนน้ำมันเตาและถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ

ส่วนการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน อาศัยจุดแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่จะเชื่อมโยงการลงทุนจากทุกภูมิภาคได้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีความร่วมมือในการขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM-PIP) จากเดิม 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งไทยเป็นประเทศทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงเพียงพอ

ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) กล่าวว่า เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวอาเซียน รวมทั้งยังเสริมศักยภาพด้านพลังงานของไทย ทาง ปตท.ได้เสนอแผนสร้างท่อก๊าซจากนครราชสีมา ขอนแก่น น้ำพอง เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าเดิมในพื้นที่ และเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแผนสร้างท่อก๊าซเส้นพระนครใต้-บางปะกง ทดแทนเส้นท่อก๊าซฯ เดิมที่ใช้มานานและอยู่ใกล้ชุมชนจนไม่สามารถขยายได้ อย่างไรก็ดี โครงการท่อก๊าซฯ ทั้ง 2 เส้นนี้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก่อน

นอกจากนี้ ปตท.ได้ดำเนินการสร้างคลังรับ-จ่ายแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง กำลังการผลิต 11.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 และคลังรับจ่ายแอลเอ็นจีที่มาบตาพุด 7.5 ล้านตันต่อปี รวมเป็น 19 ล้านตันต่อปี เพียงพอในการจำหน่ายก๊าซแอลเอ็นจีทั้งในไทยและส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียน

ปัจจุบัน ปตท.จับมือกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท Map Ta Phut Air Products Company Limited (MAP) เพื่อจำหน่ายก๊าซให้อุตสาหกรรมที่อยู่นอกแนวท่อ จากที่ ปตท.จำหน่ายก๊าซผ่านแนวท่อให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม โดยการเป็นฮับแอลเอ็นจีทำให้ ปตท.สามารถขยายตลาดก๊าซฯ ในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น