xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง “Checking point” 245 จุด คุมประพฤติรถสาธารณะ ล้อมคอกอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศักดิ์สยาม” สั่งผุด Checking point สแกนคนขับ และรถโดยสารสาธารณะ 245 จุดทั่ว ปท.ตลอด 24 ชม. คาดใช้งบ 180 ล้าน/ปีแลกความปลอดภัย พร้อมสั่ง ขบ.เรียกคนขับ 1.2 ล้านคน และรถสาธารณะทั่วประเทศกว่า 1.5 แสนคันทดสอบสมรรถนะใหม่ใน 3 เดือน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงมาตรการเร่งด่วนในการกำกับดูแล ตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะ และผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ว่า ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อระบบการขนส่งสาธารณะโดยรวม อันจะก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว

โดยได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งดำเนินการ ดังนี้

1. ดำเนินการทดสอบสมรรถภาพผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ และตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามหลักการวิจัย 10% ภายใน 30 วัน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วน แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยให้ดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐาน

2. ดำเนินการกำหนดจุดจอดพักรถโดยสารสาธารณะ ทุกระยะทาง 90 กิโลเมตรเพื่อดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานผู้ขับขี่ และตรวจสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย โดยให้ประสานขอความร่วมมือใช้พื้นที่จากสถานบริการน้ำมันในจุดที่เหมาะสม และจัดเจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ จากข้อมูลปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะที่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบ 150,747 คัน และผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะ 1,203,790 คน เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพ ซึ่งช่วง 1 เดือนแรกจะสุ่มตรวจ 10% ก่อน จากนั้นคาดว่าจะตรวจสอบครบทั้งหมดภายใน 3 เดือน

ส่วนมาตรการตั้งจุดตรวจความพร้อมของรถโดยสารและผู้ขับขี่ (เช็กกิ้งพอยต์) ขบ.จะเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเริ่มดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์นี้บนทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งมีการเดินรถที่มีระยะทางเกิน 90 กม.จำนวน 111 สายทาง รวมระยะทาง 22,048 กิโลเมตร จะมีจุดตรวจสอบทั้งสิ้น 245 จุด โดยขอความร่วมมือจากสถานบริการน้ำมันในจุดที่เหมาะสม

สำหรับแต่ละจุดตรวจสอบจะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 3 กะ ปฏิบัติหน้าที่กะละ 8 ชม. ซึ่งคาดว่าจะใช้ผู้ตรวจการขนส่งประมาณ 735 คนในแต่ละวัน ไม่รวมผู้ช่วยอีก 4-5 คนต่อจุด โดยค่าใช้จ่ายด้านเครื่องมือตรวจสอบ ค่าสมัครคู่มือ และค่าเบี้ยเลี้ยงบุคลากรนั้น จะใช้เงินจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งมีกรอบวงเงินราว 2,200 ล้านบาท โดยประเมินค่าใช้จ่ายไว้ที่ประมาณ 180 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถือว่าคุ้ม ขณะที่ผู้โดยสารอาจจะต้องใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มอีกเล็กน้อย เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

สำหรับกรณีตรวจพบการกระทำความผิด จะมีตั้งแต่ ตักเตือน ปรับ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ซึ่งมาตรการนี้จะใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบ เรื่องการเปลี่ยนรถตู้เป็นรถไมโครบัสเพื่อพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น